ถอดรหัสนิยามและนโยบายธุรกิจเพื่อสังคมในไทย

ผู้เขียน :อาจารย์ชัญญา ปัญญากำพล

ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายยุทธศาสตร์และประกันคุณภาพการศึกษา วิทยาลัยโลกคดีศึกษา

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สนับสนุนโดย :ฝ่ายพัฒนาเพื่อสังคม   ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

       ยังมีคนอีกจำนวนมาก ที่ยังต้องการรู้ความหมายหรือนิยามที่ชัดเจนของ “ธุรกิจเพื่อสังคม” หรือ “กิจการเพื่อสังคม” ถึงแม้แนวคิดนี้ ได้มีการดำเนินการมานานแล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมาไม่ได้ใช้คำเหล่านี้ ทำให้เมื่อพูดถึง “ธุรกิจเพื่อสังคม” หรือ “กิจการเพื่อสังคม” จึงทำให้หลายคนไม่เข้าใจ บางคนถึงกับเข้าใจว่าเป็นคำกล่าวอ้างของธุรกิจที่มีการทำ CSR และเรียกตัวเองว่า “ธุรกิจเพื่อสังคม” เสียด้วยซ้ำ

       ในปี 2559 นี้ ถือได้ว่ารัฐบาลได้มีนโยบายสนับสนุน “ธุรกิจเพื่อสังคม” ชัดเจนขึ้นระดับหนึ่ง โดยมีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกา เพื่อให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยในพระราชกฤษฎีกานี้ ได้ใช้คำว่า “วิสาหกิจเพื่อสังคม”  เพื่อให้เห็นมุมมองที่มีต่อ “วิสาหกิจเพื่อสังคม” ขอยกตัวอย่างนิยามต่อคำว่า “วิสาหกิจเพื่อสังคม” ในประเทศสหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ประกอบดังนี้

       ในสหรัฐอเมริกามีการนิยามวิสาหกิจเพื่อสังคมโดยหน่วยงานที่เรียกว่า Social Enterprise Alliance ซึ่งเป็นองค์กรเครือข่ายที่ทำหน้าที่สนับสนุนการเจริญเติบโตของระบบนิเวศ (ecosystem) ของวิสาหกิจเพื่อสังคมในประเทศสหรัฐอเมริกาไว้ว่า

       “วิสาหกิจเพื่อสังคม คือองค์กรหรือการริเริ่มที่มีวัตถุประสงค์ในการทำงานเพื่อสังคมแบบองค์กรไม่แสวงหากำไรหรือหน่วยงานของรัฐ แต่ใช้กลไกตลาดเป็นแนวทางการดำเนินงานเช่นเดียวกับธุรกิจ”

       ในสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นประเทศที่วิสาหกิจเพื่อสังคมมีความเข้มแข็งที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง เมื่อดูจากสัดส่วนของมูลค่าทางการตลาดที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจของวิสาหกิจเพื่อสังคมเปรียบเทียบกับ “ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ” หรือที่เรียกย่อๆว่า “GDP1” ของสหราชอาณาจักร ซึ่งมีมากกว่าร้อยละ 52 โดยองค์กร ที่เรียกว่า Social Enterprise UK ซึ่งก็เป็นองค์กรเครือข่ายที่ตั้งขึ้นเพื่อช่วยวิสาหกิจเพื่อสังคมในสหราชอาณาจักร ได้นิยามวิสาหกิจเพื่อสังคมไว้ว่า

       “วิสาหกิจเพื่อสังคมประกอบธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาสังคม การพัฒนาชุมชน คน หรือสิ่งแวดล้อม วิสาหกิจเพื่อสังคม เหล่านั้นได้เงินจากการขายสินค้าและการให้บริการในตลาดเปิด เมื่อได้กำไร วิสาหกิจเพื่อสังคมจะนำกำไรกลับมาลงทุนหรือส่งต่อให้กับชุมชน เพราะฉะนั้นเมื่อวิสาหกิจเพื่อสังคมได้กำไร สังคมย่อมได้กำไรด้วย”

1 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product - GDP) หมายถึง มูลค่าของสินค้าหรือบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตได้ในประเทศ ซึ่งถูกใช้เป็นเกณฑ์หนึ่งในการวัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ
2 อ้างอิงจาก https://www.britishcouncil.org/sites/default/files/british_council_-_seuk_think_global_report_graph4.pdf

       สังเกตได้ว่า จุดร่วมของนิยามคำว่า “วิสาหกิจเพื่อสังคม” จากทั้งสองประเทศ (หรือในอีกหลายๆประเทศ) คือ วิสาหกิจเพื่อสังคมจะประกอบไปด้วยคุณสมบัติสำคัญสองประการ คือ (1) การมุ่งเน้นที่จะแก้ปัญหาสังคม และ (2) การใช้การจัดการบริหารเชิงธุรกิจเป็นเครื่องมือเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในข้อ 1 ซึ่งในแง่นี้ก็จะสอดคล้องกับความเข้าใจของประเทศไทยที่ได้นิยามคำว่า “วิสาหกิจเพื่อสังคม” ไว้ว่า

       “นิติบุคคลซึ่งดำเนินกิจการเกี่ยวกับการผลิตสินค้า การให้บริการหรือการอื่นๆ ของภาคเอกชนโดยมีเป้าหมายอย่างชัดเจนตั้งแต่แรกเริ่มในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน สังคมหรือสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก มิใช่การสร้างกำไรสูงสุดต่อผู้ถือหุ้นและเจ้าของเป็นสำคัญ…”

       คำนิยามดังกล่าวข้างต้นนี้คัดลอกมาจากร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ….(ร่าง พ.ร.บ.ฯ) ซึ่งได้ผ่านการเห็นชอบในเบื้องต้นจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อปรับปรุงตามข้อเสนอแนะของ สปช.ต่อไป  โดยนอกเหนือจากคุณสมบัติสองข้อดังกล่าวแล้ว นิยามตามกฎหมายไทยยังมีในแง่ของการดำเนินกิจการที่ไม่ก่อให้เกิดผลเสีย การกำกับดูแลกิจการที่ดี และการนำผลกำไรกลับไปลงทุนเพื่อสังคมอีกด้วย

       เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2559 ได้มีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ฉบับที่ 621 พ.ศ. 2559 (พ.ร.ฎ.ฯ) ซึ่งเป็นการออกกฎหมายให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่นิติบุคคลที่เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ฎ.ฯ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าประเทศไทยเองก็มีการดำเนินการเชิงนโยบายและกฎหมายที่เป็นรูปธรรมเพื่อส่งเสริมระบบนิเวศของวิสาหกิจเพื่อสังคม ซึ่งก็สอดคล้องกับทิศทางของประชาชนทั่วไปที่ให้ความสนใจกับวิสาหกิจเพื่อสังคมมากขึ้น ดังตัวอย่างวิสาหกิจเพื่อสังคมในประเทศไทยด้านล่าง ได้แก่ “กล่องดินสอ” และ “SideKick”

       การประกอบกิจการเพื่อสังคมนั้น ไม่จำเป็นจะต้องมีการจดทะเบียนเป็น “วิสาหกิจเพื่อสังคม” ตามกฎหมายเสมอไป ผู้ประกอบธุรกิจสามารถทำธุรกิจที่มุ่งเน้นในการแก้ปัญหาสังคมได้โดยไม่ต้องอิงโครงสร้างทางกฎหมาย ในทางกลับกันมูลนิธิหรือองค์กรไม่แสวงหากำไรก็สามารถนำการบริหารที่มีประสิทธิภาพแบบการบริหารเชิงธุรกิจมาใช้โดยไม่จำเป็นต้องอิงโครงสร้างทางกฎหมายว่าตัวองค์กรจะเป็น “วิสาหกิจเพื่อสังคม” ตามกฎหมายหรือไม่ ความสำคัญของวิสาหกิจเพื่อสังคมคือ การมุ่งเน้นแก้ปัญหาสังคมอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยไม่เกี่ยงว่ารูปแบบจดทะเบียนขององค์กรจะเป็นแบบใด

       ในบางประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร หรือ สหรัฐอเมริกา ได้มีการสงวนใช้ชื่อเฉพาะ เช่น Community Interest Company (UK) หรือ Low Profit Limited Liability Company (US) สำหรับองค์กรที่จดทะเบียนและทำตามข้อบังคับต่าง ๆ สำหรับประเทศไทยนั้น ยังไม่มีการสงวนการใช้ชื่อออกมาเป็นกฎหมายในขณะนี้ แต่หากวิสาหกิจเพื่อสังคมต้องการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตาม พ.ร.ฎ.ฯ นี้ จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอน ระเบียบ ข้อบังคับให้ถูกต้อง ซึ่งในตอนหน้าจะนำข้อมูลสิทธิประโยชน์ทางภาษีมาขยายความต่อไป

ผู้เข้าชม  3561