5 ป่าชายเลนเมืองไทย ที่น่าไปเที่ยวชม

ป่าแบบนี้ไม่ใช่ป่าที่ลึกลับน่าพิศวงเหมือนกับชื่อแต่อย่างใด เพราะอยู่ใกล้ตัวเรานิดเดียว ป่าที่ว่าก็คือ “ป่าชายเลน” ที่เกิดขึ้นมาจากอิทธิพลของน้ำขึ้นน้ำลงระหว่างรอยต่อของน้ำจืดกับมหาสมุทร ซึ่งจากเหตุการณ์สึนามิ ป่าชายเลนแม้จะถูกเจ้าคลื่นยักษ์พัดถล่ม แต่ว่าป่าชายเลนกลับเสียหายน้อยมากเพราะ ธรรมชาติได้สร้างให้ป่าชายเลนเป็นดังเกราะกันคลื่นชั้นดี
       
       สำหรับในเมืองไทยแม้ว่าป่าชายเลนจะมีปริมาณลดลงเรื่อยๆ แต่ว่าเมืองไทยก็ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวสัมผัสป่าชายเลนที่น่าสนใจอยู่หลายแห่ง
       
   
       ป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบน จ.จันทบุรี


       สะพานแขวนนำชมธรรมชาติที่ป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบน


       อ่าวคุ้งกระเบน มีลักษณะพิเศษคือถูกปิดล้อมด้วยสันทราย มีทางเข้าออกของน้ำทะเลเพียงทางเดียวและมีคลองน้ำจืดหลายสายไหลลงอ่าว อาณาบริเวณรอบๆ เป็นที่ตั้งของ “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน” อันเป็นโครงการในพระราชดำริเพื่อพัฒนาพื้นที่อย่างครบวงจรด้วยวิทยาการสมัยใหม่
       
       ภายในมีบ่อสาธิตการเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบปิด ซึ่งหลายคนสนใจไปเที่ยวชม และจากสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยป่าโกงกาง ที่นี่จึงเหมาะสำหรับผู้ที่สนใจธรรมชาติชายฝั่งและระบบนิเวศของป่าชายเลน ป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบนอยู่ตรงข้ามชายหาดแหลมเสด็จ มีพื้นที่ 1,100 ไร่ ส่วนหนึ่งมีสถานะเป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าคุ้งกระเบนและป่าอ่าวแขมหนู แต่เดิมเป็นป่าชายเลนเสื่อมโทรม ต่อมาได้รับการฟื้นฟูให้อยู่ในสภาพเดิม มีไม้ขนาดใหญ่หลงเหลืออยู่ นอกจากนี้ยังมีทางเดินสำหรับให้เดินศึกษาด้วยตนเอง โดยสามารถเดินบนสะพานไม้ความยาว 850 ม. ที่ทอดไปในผืนป่า มีศาลาข้อมูลความรู้ต่าง ๆ แปดศาลา คือ

ศาลา 1 กำเนิดอ่าวคุ้งกระเบน อธิบายปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาที่เกิดจากการกัดเซาะเทือกเขาเล็ก ๆ ที่โอบตัวปิดล้อมพรุบริเวณริมฝั่งทะเลเมื่อ 345 ล้านปีก่อน กระทั่งกลายเป็นอ่าวเมื่อ 1,500 ปีที่ผ่านมา
       
       ศาลา 2 ไม้เบิก อธิบายถึงพันธุ์ไม้แสมดำและแสมขาวที่เป็นไม้เบิกนำการก่อกำเนิดป่าชายเลน ก่อนที่จะพัฒนาขึ้นมาเป็นป่าชายเลนที่สมบูรณ์
       
       ศาลา 3 ดงฝาด เป็นจุดที่สวยงามไปด้วยดงต้นฝาด ต้นฝาดแดงจะให้ดอกแดง ส่วนต้นฝาดขาวจะให้ดอกขาว เมื่อผลิดอกเล็ก ๆ จะละลานตาไปทั่ว ต้นฝาดเป็นไม้ที่มีประโยชน์มาก เช่น เนื้อไม้ใช้ย้อมจีวรพระ หรือทำถ่านหุงต้ม ทุบแช่แมงกะพรุน เป็นต้น
       
       ศาลา 4 ป่าปลูก เป็นจุดฟื้นฟูสภาพป่า เดิมมีดงหญ้าทะเลหนาแน่น เคยมีพะยูน หรือหมูดุด อยู่อย่างชุกชุม แต่ปัจจุบันสูญพันธุ์ไปจากอ่าวคุ้งกระเบนแล้ว นอกจากนี้ยังอธิบายถึงประโยชน์ของปูก้ามดาบในระบบนิเวศป่าชายเลน ก่อนถึงศาลาที่ 5 จะต้องเดินข้ามสะพานแขวนตรงจุดที่เป็นร่องน้ำไหล เพิ่มรสชาติในการเดินเท้าได้ดีทีเดียว
       
       ศาลา 5 ปู่แสม เป็นอีกจุดที่น่าประทับใจ โดยมีสะพานไม้ล้อมรอบต้นแสมขาวโบราณขนาดใหญ่ร่วมสิบคนโอบ ชาวบ้านศรัทธาแสมขาวโบราณต้นนี้โดยเรียกว่าปู่ขาว ปู่แสมมีลำต้นเพียงครึ่งซีก เพราะเคยถูกไฟไหม้ที่ลำต้นในยุคที่ป่าชายเลนที่นี่ยังไม่ได้รับการฟื้นฟู
       
       ศาลา 6 โกงกาง อยู่สุดปลายสะพานก่อนทางเดินจะวกกลับ พื้นที่บริเวณนี้หนาแน่นด้วยโกงกางใบเล็ก อายุไม่น้อยกว่า 30 ปี โกงกางเป็นไม้เด่นในป่าชายเลน โดยพบมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ป่า บริเวณศาลาแห่งนี้จะมีข้อมูลรายละเอียดประโยชน์ของโกงกาง เช่น เปลือกไม้ใช้ต้มเป็นยาแก้ท้องร่วง บิด หรือพอกแผล ห้ามเลือด หรือหากนำไม้โกงกางมาเผา ก็จะได้ถ่านคุณภาพดี ให้ความร้อนสูงมากกว่าถ่านที่เผาจากไม้ชนิดอื่น
       
       ศาลา 7 ประมง จุดสาธิตบ่อกุ้งกุลาดำระบบปิด ที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ
       
       สุดท้ายคือ ศาลา 8 เชิงทรง หรือป่ารอยต่อระหว่างป่าชายเลน ป่าชายหาด และป่าบก ช่วงรอยต่อระหว่างป่าชนิดต่าง ๆ ดังกล่าวจะมีพรรณไม้ทั้งป่าชายเลน ป่าชายหาด และป่าบก ปะปนกันไป เนื่องจากบางเดือนที่น้ำท่วมถึงบริเวณป่าบกหรือท่วมเข้ามาถึงชายฝั่ง ก็ได้นำต้นพันธุ์ของไม้ชายเลนเข้าไปเจริญเติบโตผสมกับป่าบก พันธุ์ไม้บริเวณนี้จึงมีทั้งตะบูนขาว ตะบูนดำ ไม้ตะบัน ของป่าชายเลน และดอกดองดึงสีเหลืองแดง ต้นเท้ายายม่อมของป่าบก
       
       อ่าวคุ้งกระเบนตั้งอยู่ที่ ต. คลองขุด อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 06.30-18.00 น. การเข้าชมเป็นหมู่คณะควรติดต่อล่วงหน้าที่ศูนย์ศึกษาพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นอกจากนี้ทางศูนย์ยังมีบริการบ้านพักสำหรับบริการหน่วยงานรัฐที่ไปจัดอบรมสัมมนาด้วยโดยต้องติดต่อล่วงหน้า โทร. 0 3936 9216-8 โทรสาร 0 3936 9219

ป่าชายเลนบ้านเปร็ดใน จ.ตราด
       
       บ้านเปร็ดใน เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณฝั่งทะเลอ่าวไทยในจังหวัดตราด มีทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะที่จะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำ
       
       ในอดีต ที่นี่เคยมีสัตว์น้ำมากมายหลายชนิด แต่ปัจจุบันกำลังถูกทำลายและลดลงอย่างรวดเร็ว บางชนิดสูญหายไปแล้วในพื้นที่บริเวณนี้ เช่น ปลาฉลาม ปลาแขยงกก ปลาไหลเค็ม ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากการทำนากุ้งช่วงปี 2525 โดยทำกันในที่ดินของตนเอง ก่อนที่ช่วงหลังนายทุนเข้ามาในรูปแบบสัมปทาน เพื่อที่จะตัดไม้ให้สภาพป่าเสื่อมโทรม แล้วเอาพื้นที่ดังกล่าวนั้นมาทำนากุ้ง มีการปล่อยน้ำเสียจากบ่อไปกับน้ำสู่ลำคลองจนถึงทะเล นอกจากนี้ยังมีสาเหตุมาจากการใช้เครื่องมือดักจับสัตว์ผิดวิธี จับสัตว์ในฤดูวางไข่

ปัจจุบัน บ้านเปร็ดในมีการรวมกลุ่มคนในชุมชนให้มามีส่วนสนับสนุนและหาวิธีแก้ไขตลอดจนวิธีป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับทรัพยากรชายฝั่งในอนาคต โดยตั้งกฎเกณฑ์ร่วมกัน เช่นการปลูกป่าและห้ามใช้ไม้จากพื้นที่ป่าชายเลน โดยในปี 2541 มีการตั้งกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนขึ้นมา ให้ทุกครัวเรือนมีส่วนร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มอนุรักษ์ทั้งหมด แล้วแบ่งกันดูแลพื้นที่ โดย 20 ครัวเรือนนั้นจะดูแลพื้นที่ 1 โซน (พื้นที่ป่าชายเลนแบ่งเป็น 5 โซน) หากใครที่มีใจรักในธรรมชาติและสัมผัสวีถีชีวิตที่ต้องพึ่งพาป่าชายเลน สถานที่แห่งนี้เป็นคำตอบที่เหมาะสมอย่างยิ่ง
       
       ที่บ้านเปร็ดในยังมีการทำโฮมสเตย์บริการนักท่องเที่ยวที่ต้องการจะมาเพื่อศึกษาระบบนิเวศน์ของป่าชายเลน วิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งตั้งอยู่ที่ตั้งอยู่ที่บ้านเปร็ดใน ต. ห้วงน้ำขาว อ. เมือง จ.ตราด โทร. 039-524741, 01-5203314

ศูนย์วิจัยป่าชายเลน เขตสงวนชีวมณฑลระนอง
       
       ป่าชายเลนแห่งนี้เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่มีความสมบูรณ์มาก ว่ากันว่าเป็นพื้นที่ป่าชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก มีพื้นที่ 122,500 ไร่ กระจายตัวบริเวณปากแม่น้ำกระบุรีซึ่งเป็นแนวชายแดนระหว่างไทยและพม่า

ด้วยเหตุนี้องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาติหรือ UNESCO จึงประกาศให้ ศูนย์วิจัยป่าชายเลน จ.ระนอง เป็น “พื้นที่เขตสงวนชีวมณฑล” เมื่อปี 2540 และได้รับรางวัลได้รับรางวัลอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (Thailand Tourism Award) ครั้งที่ 5 ประจำปี 2547 สาขาแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศดีเด่น จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) อีกด้วย
       
       ที่นี่มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติให้เลือก 2 เส้นทางด้วยกัน เส้นทางแรกศึกษาธรรมชาติโดยการเดินเท้า เหมาะสำหรับคนมีเวลาน้อย เพราะใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง เป็นสะพานคอนกรีตทอดตัวยาว 850 เมตร มีแผ่นป้ายบรรยายเกี่ยวกับระบบนิเวศป่าชายเลนทั้งชนิดของพืชและสัตว์เป็นระยะ ระหว่างทางสามารถเห็นสภาพป่าดิบเขาหลายชนิดเช่น ไม้ยาง ตะเคียน ก่อบ้าน ส้านใหญ่ แซะ โกงกาง เป็นต้น อีกทั้งบริเวณนี้ยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์อย่าง ลิง ปูแสม ปูทะเล ปลาตีน แม่หอบ นาก ตะกวด และนกชนิดต่าง ๆ อีกด้วย
       
       เส้นทางที่สองเป็นการนั่งเรือชมป่าชายเลน .ใช้เวลา 3 ชั่วโมง เพราะมีจุดน่าสนใจหลายแห่ง ตั้งแต่สภาพป่าชายเลนบริเวณคลองโหง ซึ่งมีความสมบูรณ์มาก มีต้นโกงกางขนาดใหญ่เส้นรอบวง 2 เมตร สูง 25 เมตร อายุ 200ปี มีกลุ่มไม้โกงกางขนาดใหญ่จำนวนมากแถบนี้สะท้อนให้เห็นถึงระดับความสมบูรณ์ของผืนป่าได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีวิถีชีวิตหมู่บ้านชาวเล บริเวณหลังเกาะเหลา ที่มีวัฒนธรรมและภาษาพูดเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองให้ศึกษาอีกด้วย
       
       ศูนย์วิจัยป่าชายเลน จ. ระนอง ตั้งอยู่ที่ 185 หมู่ 4 ต.หงาว อ.เมือง จ.ระนอง โทร.0-7784-8391-2

ป่าชายเลน วนอุทยานปราณบุรี ประจวบฯ
       
       วนอุทยานปราณบุรี เดิมเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยกำหนดพื้นที่ให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ คลองเก่า คลองคอย มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1,984 ไร่ ประกอบด้วยป่าชายเลนมีแม่น้ำปราณบุรีไหลผ่านตอนกลางของพื้นที่ ปัจจุบันกรมป่าไม้ได้ประกาศบางส่วนให้เป็นวนอุทยานมีพื้นที่ 700 ไร่
 

 วนอุทยานปราณบุรีมีหาดทรายสะอาดร่มรื่นด้วยแนวสนทอดยาวกว่า 1 กิโลเมตร ทางด้านตะวันออกของวนอุทยานฯ สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของทะเล เกาะสิงห์โต เขาตะเกียบ และเขาเต่า จุดที่น่าสนใจได้แก่
       
       เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนและกิจกรรมล่องเรือ เป็นสะพานไม้ยกระดับ สามารถชมและศึกษาระบบนิเวศป่าชายเลนอย่างใกล้ชิด ทางเดินติดตั้งป้ายสื่อความหมายตลอดเส้นทาง 1,000 เมตร มีท่าเรือขนาดเล็กเชื่อมกับสะพานทางเดิน ซึ่งที่นั่นเป็นจุดที่พักเรือ โดยสามารถล่องเรือสัมผัสกับความงามตามธรรมชาติและศึกษาระบบนิเวศป่าชายเลนทางน้ำรวมทั้งชมวิถีชีวิตชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมคลองได้
       
       วนอุทยานมีบริการบ้านพัก ร้านสวัสดิการ สามารถกางเต็นท์พักแรมได้ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ วนอุทยานปราณบุรี หมู่ 1 ต.ปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ โทร. 0-1682-6674, 0- 1763- 9652,

0 -9787 -4812 (ตั้งแต่เวลา 08.00–16.00 น.)  

ป่าชายเลน บางขุนเทียน ป่าชายเลนในกรุงฯ
       
       ถามถึงป่าชายเลนที่ใกล้ที่สุดสำหรับคนกรุง คงปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องเป็นป่าชายเลนบางขุนเทียน เพราะมีเวลา เพียงแค่ครึ่งวันก็สามารถเที่ยวชมได้แล้ว ที่นี่มีกิจกรรมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการชมลิงแสมตามธรรมชาติ ซึ่งนักท่องเที่ยวจะเพลิดเพลินกับการให้ผลไม้แก่ลิงแสม ตามจุดต่างๆในพื้นที่บางขุนเทียน ได้แก่ ซอยเทียนทะเล 7 บริเวณริมคลองเฉลิมชัยพัฒนา ระยะทาง 2.7 กิโลเมตร ซอยเทียนทะเล 20 หรือซอยกำนันมาลัย ระยะทาง 1.5 กิโลเมตร และล่องเรือจากท่าน้ำวัดแสมดำไปตามคลองสนามไชย เลยชุมชนบางกระดี่ ระยะทาง 1 กิโลเมตร จะมีฝูงลิงแสมอาศัยอยู่ริมสองฝั่งคลอง

       นักท่องเที่ยวยังสามารถล่องเรือชมวิถีชีวิตชาวเล 2 ฝั่งคลอง ชมชายทะเลบางขุนเทียน ป่าชายเลน หลักเขตกรุงเทพมหานคร ชมนกกินปลานานาชนิดและสัตว์ป่าชายเลนอื่น ๆ เช่น นากกินปลา เสือปลา ฯลฯหากโชคดี บางครั้งจะเห็นฝูงปลาโลมากลางทะเลบางขุนเทียนด้วย
       
       ป่าชายเลนบางขุนเทียน สามารถไปเที่ยวได้โดยลงเรือได้ที่ศูนย์ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล กม. 8 เที่ยวแรกเวลา 15.00 น. เที่ยวสุดท้ายเวลา 17.00 น. ส่วนวันหยุดเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เที่ยวแรกเวลา 11.00 น.เที่ยวสุดท้าย 17.00 น. รวมทั้งยังแวะชิมอาหารทะเลจากร้านอาหารหลากหลายริม 2 ฝั่งบางขุนเทียนชายทะเลได้ตลอดทั้งวัน สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สำนักงานเขตบางขุนเทียน โทร.0-2415-1522 , 0-2416-1260

รูปภาพ และที่มา : manager

ผู้เข้าชม  24718