The United Nation ได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals, SDGs ไว้ 17 ข้อ ซึ่งในข้อ 4 Equality Education คือประเด็นปัญหาของโลก ที่มีเป้าหมายร่วมกัน ที่จะสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างคลอบคลุมและเท่าเทียม รวมทั้งสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต สะท้อนให้เห็นว่า การศึกษาที่ดี ทั่วถึง และเข้าถึงได้ เป็นประเด็นสำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
การทำงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ เรื่องการศึกษา
การศึกษา ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในทุกมิติของการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นภาคส่วนใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตลาดทุน ที่การศึกษาถือเป็นเครื่องมือหลัก ในการแก้ไขปัญหาในด้านการออมและการลงทุน ทั้งนี้ การอ่านออกเขียนได้ทางการเงิน เป็นพื้นฐานสำคัญ ทีอาจสร้างความสำเร็จ หรือความล้มเหลว ในการประกอบกิจการ หรือแม้แต่การเงินส่วนบุคคล ที่ต้องใช้ ข้อมูล ความรู้ความเข้าใจ และทักษะในการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ นับตั้งแต่ ปี 2540 ที่ตลาดทุนต้องเผชิญกับวิกฤต ยิ่งเป็นสถานการณ์ที่ตอกย้ำถึงความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาระยะยาวเชิงระบบ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ขับเคลื่อนการให้ความรู้ทางการเงินมาอย่างต่อเนื่อง คู่ขนานไปกับการพัฒนาบริการด้านการระดมทุน และลงทุนซึ่งถือเป็นภารกิจหลัก เพื่อเสริมศักยภาพให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ระดมทุน และผู้ลงทุนในตลาดทุน สามารถรับมือความเปลียนแปลง ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายการบริหารเงินออม มีภูมิคุ้มกัน ข้ามพ้นวิกฤติการณ์ต่าง ๆ ได้ ทั้งนี้ ตลอดกว่า 20 ปีที่ผ่านมา การศึกษา (Education) ถือเป็นเครื่องมือหลักในการร่วมพัฒนาสังคมด้านการอ่านออกเขียนได้ทางการเงิน ที่เชื่อมโยงโดยตรงกับธุรกิจหลักขององค์กร และเป็นกลไกสำคัญในการป้องปราม ป้องกันปัญหา และบรรเทาความเสียหายจากวิกฤติที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคได้เป็นอย่างดี
การศึกษา และการเรียนรู้
นอกเหนือจากความรู้ทางการเงิน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังนำเอาศักยภาพของตลาดทุน และผู้เกี่ยวข้องในตลาดทุน บูรณาการเป็นเครือข่ายในการร่วมพัฒนา ศักยภาพด้านทักษะการประกอบธุรกิจ ให้กับประชาชนทั่วไป ทั้งนี้ ตลาดทุนไทย ถือได้ว่าเป็นจุดรวมของภาคธุรกิจ ที่มีบทบาทในการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งบุคลากรผู้มีประสบการณ์และทักษะ ที่สามารถนำมาถ่ายทอด เผยแพร่ และส่งต่อ ให้เกิดโอกาสใหม่ ๆ ในการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ สร้างนวัตกรรมทางธุรกิจ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้จัดให้มีสื่อ และกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ในการเป็นผู้ประกอบการในระดับการเรียนรู้ตั้งแต่ การเริ่มต้น การเติบโต และต่อยอด อันอาจนำไปสู่การระดมทุนและขยายกิจการได้ โดยเป็นฐานความรู้ที่ครบวงจรอย่างแท้จริง อย่างไรก็ดี ในการดำเนินการดังกล่าว ยังหมายรวมถึงความพยายามนำเอาความรู้ และกระบวนการเรียนรู้เหล่านี้ ผนวกไว้กับระบบการเรียนการสอนในนิเวศการศึกษาของประเทศ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการดำเนินงานอย่างแท้จริง
โครงการสร้างผู้ประกอบการทางสังคมในระดับอุดมศึกษา Social Enterprise (SE) @General Education (GE) เป็นอีกเครื่องมือ เพื่อช่วยให้ระบบการศึกษา หลักในระดับอุดมศึกษา สร้างทุนมนุษย์ของประเทศ ให้มีความรอบด้าน ทั้งทักษะในการเป็นผู้ประกอบการ ทักษะในการสร้างนวตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม พร้อมต่อการเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลงที่เข้าใจคุณค่าของความยั่งยืน
โครงการดังกล่าวเป็นการออกแบบวิชาพื้นฐาน ร่วมกันระหว่างเครือข่ายการศึกษาทั่วไปแห่งประเทศไทย ในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และผู้ทรงคุณวุฒิองค์กรภาคสังคม เพื่อสถาบันการศึกษา ทั้งของรัฐและเอกชนทั่วประเทศ สามารถนำ โครงสร้างการเรียนรู้ เนื้อหา คู่มือ เทคนิคการถ่ายทอด และเครือข่ายสนับสนุน ไปปรับใช้ รวมทั้งเชื่อมโยงบุคลากรในภาคตลาดทุน ในการเป็นผู้ร่วมถ่ายทอดความรู้ สร้างแรงบันดาลใจ บนกระบวนการเรียนรู้ที่เน้น Transformative leaning ให้คนรุ่นใหม่ เริ่มต้น ก้าวแรกของการศึกษา ให้เป็นก้าวหลักของการสร้างอนาคต
เป้าหมาย
ด้วยบทบาทของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในด้านการศึกษาและพัฒนาทักษะผู้ประกอบการภายใต้โครงการดังกล่าวนี้ ถือเป็นบทบาทเสริมในการสนับสนุนสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งจะผลิตบัณฑิตป้อนเข้าสู่ภาคธุรกิจ สามารถดำเนินการปรับใช้หลักสูตรรายวิชา และอาจนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมการให้บริการการศึกษา ที่ตอบโจทย์อนาคต หรือความต้องการของตลาดแรงงาน ภายใต้บริบทของประเด็นความยั่งยืน จำได้กำหนดเป้าหมายการจัดทำโครงการ กล่าวคือ
1. สร้างหลักสูตรพื้นฐาน ในการเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม
2. ส่งเสริมและสนับสนุน สถาบันอุดมศึกษาให้สามารถปรับใช้หลักสูตร ได้อย่างเหมาะสมและเกิดประโยชน์แก่ผู้เรียน
3. ส่งเสริมการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (new generation) ให้เป็นผู้คำนึงถึงความยั่งยืน
การดำเนินการ โครงการสร้างผู้ประกอบการทางสังคมในระดับอุดมศึกษา Social Enterprise (SE) @General Education (GE) จึงถือเป็นอีกก้าวสำคัญ ในการทำงานร่วมกันกับเครือข่ายการศึกษา ภาคตลาดทุน ผู้ประกอบการ เครือข่ายภาคสังคม สถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน นักวิชาการ หรือแม้แต่ผู้เรียนที่อาจสามารถใช้ประโยชน์ จากจุดเริ่มต้นการเรียนรู้จากรายวิชานี้ และพัฒนาให้เป็นแนวคิดหลักในการวางเส้นทางการพัฒนาอาชีพ หรือการทำงานต่อไปในอนาคต