ข่าวหุ้น-การเงิน สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- พฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม 2559 17:30:42 น.
นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลท.ได้ดำเนินโครงการ SET Social Impact ขึ้น เพื่อสร้างการเชื่อมโยงระหว่างภาคธุรกิจและภาคสังคมให้มาพบและร่วมมือกันเพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดีทางสังคม (Social Impact) ขึ้น ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญกับการแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล เพื่อมุ่งสร้างผลลัพธ์ที่ดีทางสังคม ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญกับการแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล เพื่อมุ่งสร้างผลลัพธ์ที่ดีทางสังคม
ทั้งนี้เป็นอีกบทบาทหนึ่งของ ตลท.คือการสร้างตลาดทุนที่มีคุณภาพ ทั้งการสร้างองค์ความรู้ทางการเงินแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน พร้อมทั้ง การทำงานคู่ขนานกับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ เพื่อพัฒนากระบวนการทางธุรกิจที่มุ่งสร้างความยั่งยืน โดยมิได้คำนึงถึงผลการดำเนินงานทางการเงินเท่านั้น
"ปัจจุบันมีภาคธุรกิจจำนวนมากที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม มีทรัพยากรที่ต้องการแบ่งปัน ไม่ว่าจะเป็นเงินทุน หรือทรัพยากรที่ไม่ใช่ตัวเงิน และต้องการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์เพื่อสร้างผลลัพธ์ทางสังคมเชิงบวก ขณะที่ยังมีองค์กรภาคสังคมและกิจการเพื่อสังคมจำนวนไม่น้อยที่พบอุปสรรคในการดำเนินงาน เนื่องจากขาดปัจจัยหลายด้าน อาทิ ด้านการเงิน การตลาด กฎหมาย การบริหารบุคคล ช่องทางการจำหน่าย
ดังนั้น โครงการ SET Social Impact จึงเกิดขึ้นเพื่อเติมเต็มการทำงานซึ่งกันและกัน โดยภาคธุรกิจจะมีช่องทางในการแบ่งปันทรัพยากรของภาคธุรกิจสู่ภาคสังคม อันเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนเพื่อสังคม(Social Impact Investment) ที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นการลดผลเชิงลบ หรือเพิ่มผลเชิงบวก โดยงานมหกรรมความดี "SET Social Impact Day 2016"นางเกศรา กล่าว
ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวในงาน SET Social lampact Day 2016 ในการเสวนา หัวข้อ"Sustainable consumption reform the next growth"ว่า ปัญหาของบริษัทที่ทำธุรกิจกิจการเพื่อสังคม (SE) เจอ คือ การขยายธุรกิจให้เติบโตกว่าเดิม แต่ยังขยายไม่ได้ ทำให้ต้องมีพาร์ทเนอร์และบุคคลากรที่มีศักยภาพในการเข้ามาดำเนินการเพื่อสังคม
ม.ล.ดิศปนัดดา มองว่าการเกิดกิจการเพื่อสังคม เกิดมาจากคนที่มีไอเดียของคนที่จะทำดี แต่ไม่ได้มาพร้อมกับศักยภาพในการบริหาร ซึ่งเป็นทักษะที่ต้องเรียนรู้และต้องใช้เวลากว่าจะประสบความสำเร็จ
ทั้งนี้ ยังมีความเป็นห่วงในเรื่องของกฎหมายในภาพรวม จากที่ผู้ประกอบการ SE หลายรายมีความต้องการตั้งเป็นพ.ร.บ. โดยมองว่ากระบวนการตรวจสอบ SE ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก และยังเชื่อมั่นว่ากฎหมายเพื่อสังคมจะมีความจำเป็นที่จะช่วยสร้างกระบวนการ เช่น การเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าปกติ ขณะเดียวกันบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ควรผลันตัวเองไปเป็น SE แต่ต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่ากิจกรรมเพื่อสังคมที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันมีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร
นอกจากนี้ ระบบธุรกิจในปัจจุบัน หากผู้ประกอบการรายใหญ่ยังมีการดำเนินกิจการแบบเอาเปรียบรายย่อย เชื่อว่าการเติบโตของประเทศก็อาจจะถึงทางตัน เนื่องด้วยขาดการปลูกฝังจิตสำนึกที่ดี โดยเชื่อว่าหนึ่งในทางออก คือ Social Enterprise ซึ่งการดำเนินธุรกิจสามารถทำกำไรที่พอประมาณได้ ควบคู่กับการสร้างผลกระทบในเชิงบวกในเรื่องอื่นๆได้ ไม่ว่าจะเป็น สิ่งแวดล้อม ความเข้มแข็งให้กับชุมชน การกระจายรายได้ให้กับชุมชน เป็นต้น
นายพิเชษฐ ศุภกิจจานุสันติ์ กรรมการบริหารและประธานอนุกรรมการกำกับดูแลกิจการด้านความรับผิดชอบสิ่งแวดล้อมและสังคม บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ (LPN) กล่าวว่า ในประเทศไทยยังขาดการสนับสนุน ส่งเสริมในบริษัทที่ทำธุรกิจกิจการเพื่อสังคม หรือ (SE) จำนวนมาก เนื่องด้วยบริษัทในไทยยังไม่มีความพร้อมมากพอ ซึ่งน่าจะใช้ระยะเวลานาน ขณะที่รัฐบาลก็จะมีการออกพระราชบัญญัติดังกล่าว เชื่อว่าน่าจะช่วยได้พอสมควร
พร้อมกันนี้ มองอนาคตของกิจการเพื่อสังคม ไม่ใช่เทรนด์ แต่เป็นเรื่องของจิตสำนึกของผู้ประกอบการมากกว่า โดย SE คือ การคืนกำไรเพื่อสังคม ถ้าบริษัทที่มีกำไรแล้วสามารถเข้าไปสนับสนุน SE ได้ เชื่อว่าหลายๆ บริษัทจะขยายฐานธุรกิจไปได้อย่างมาก ซึ่งจะเป็นการสร้างกำลังใจให้กับผู้ประกอบการ SE
นายปิตาชัย เดชไกรศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Siam Organic Co.,Ltd. กล่าวว่า การประกอบกิจการ SE ให้ประสบความสำเร็จตัวที่จะเป็นตัวบ่งชี้ คือ การหาข้อแตกต่างของสินค้า เพื่อให้สามารถแข่งขันได้กับบริษัทอื่นๆในตลาด ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมสินค้า บริการ หรือ Business model เช่น ร้าน Starbucks เป็นต้น ขณะที่ปัญหาของการดำเนินกิจการ SE พบว่ามีมากที่สุดคือในเรื่องของบุคคลากร ฉะนั้นบุคคลากรที่จะเข้ามาทำงานตรงนี้ จะต้องมีความพยายามที่จะเข้าไปแก้ปัญหาสังคมแบบยั่งยืน และมีความอดทน ขยัน และรักที่จะอยู่กับงานที่ทำ รวมถึงเงินทุน ผู้ประกอบการเพื่อสังคม ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า จะนำเงินไปทำอะไร ซึ่งมองว่าอาจจะมีคนกลางคอยช่วย SE เหล่านี้ ให้มีความรู้ความเข้าใจในการลงทุนมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสของผู้ประกอบการเข้าใจพื้นฐานในด้านการเงิน
อย่างไรก็ตาม มองว่าสิ่งที่ส่วนใหญ่ SE ต้องการไม่ใช่เงินลงทุน แต่เป็นพารทเนอร์ หรือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ เข้ามาคอยดูแล ซึ่งบริษัทที่ให้การสนับสนุนในกิจการเพื่อสังคม อาจจะส่งพนักงานที่เป็นมืออาชีพเข้าไปอบรม ให้ความรู้ ที่น่าจะตอบโจทย์ SE อย่างมาก
--อินโฟเควสท์ โดย สุวิมล ภูมิคำ/จำเนียร/ศศิธร โทร.02-2535000 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--
https://www.ryt9.com/s/iq05/2474083