มอบรางวัลโครงการ SET เชิดชูผู้ทำความดีเพื่อสังคม ครบรอบ 10 ปี แก่ผู้ทำความดีเพื่อสังคม 11 ราย ใน 7 ส

            

ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานกรรมการ และเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมมอบรางวัลโครงการ SET เชิดชูผู้ทำความดีเพื่อสังคม ครบรอบ 10 ปี แก่ผู้ทำความดีเพื่อสังคม 11 ราย ใน 7 สาขา จาก 7 องค์กรเครือข่าย โดยตลอด 10 ปี ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ มอบรางวัลแก่บุคคลและองค์กร
ผู้บ่มเพาะความดีทั่วประเทศแล้ว 78 ราย สร้างประโยชน์ให้แก่สังคมและชุมชนกว่าเจ็ดล้านคนทั่วประเทศ

โครงการ SET เชิดชูผู้ทำความดีเพื่อสังคม” หนึ่งในโครงการเพื่อสังคมด้านการส่งเสริมความดี  ด้วยเล็งเห็นความสำคัญของการสนับสนุนและส่งเสริมให้สังคมมีคนดีที่มุ่งทำ “ความดี” ในหลากหลายมิติ ซึ่งเป็นรากฐาน และพลังขับเคลื่อนสำคัญของการสร้างสังคมคุณภาพ และยังเป็นต้นแบบของคนดีที่มุ่งสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมอย่างต่อเนื่อง 
เพื่อสร้างแรงบันดาลใจของการทำความดีให้แก่คนในสังคมไทยในทุกระดับ นับตั้งแต่ปี  2550 เป็นต้นมา

มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้สนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรภาคสังคมในสาขาต่างๆ  ได้แก่  สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯ  มูลนิธิศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน  มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข สมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลแห่งประเทศไทย  มูลนิธิดวงประทีป และมูลนิธิวิมุตตยาลัย  และส่งเสริมให้ 7 องค์กรเพื่อสังคม คัดเลือกผู้ทำความดีเพื่อมอบทุนทรัพย์และประกาศเกียรติคุณ  ก่อให้เกิดเป็นรางวัลผู้ทำความดีเพื่อสังคม 7 รางวัล ใน 7 สาขา
มีผู้ทำความดีที่ได้รับการยกย่องเชิดชูแล้ว รวม 78 ราย


รางวัลผู้ทำความดีเพื่อสังคม 7 สาขา ประจำปี 2559

1.รางวัลศาสตราจารย์ คุณหญิงแม้นมาส  ชวลิต สาขาการพัฒนาห้องสมุด 

          -  มูลนิธิศาสตราจารย์ ดร.ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์เพื่อส่งเสริมการอ่าน

องค์กรเพื่อสังคมที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2535 มุ่งทำงานต่อเนื่องนับ 25 ปี  เพื่อผลักดันการส่งเสริมการอ่าน การใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง และผลิตหนังสือที่มีคุณภาพ โดยสนับสนุนการทำงานของกระทรวงศึกษาธิการ  และสถานศึกษาต่างๆ  ที่ทำงานผลักดันการส่งเสริมการอ่านแก่ชุมชน และจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ

          - นางดวงตา  จิตตะกาญจน์ 

ครูโรงเรียนอนุบาลคลองท่อม จ.กระบี่ ผู้สละแรงกาย เวลา และทุนทรัพย์ส่วนตัวทำงานกว่า 37 ปี ด้วยแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์  ทั้งกาย วาจา และ จิตใจ ได้รับการคัดเลือกเป็นครูต้นแบบในด้านต่างๆ สร้างโรงเรียนแกนนำการอ่าน ส่งเสริมการอ่านให้กับโรงเรียนเครือข่าย ชุมชน วัด ค่ายทหาร และสถานที่ท่องเที่ยว

สร้างทีมยุวบรรณารักษ์ที่มีภาวะผู้นำและส่งเสริมให้เกิดแรงบันดาลใจทำงานเพื่อส่งเสริมการอ่านทั้งในโรงเรียน และขยายผลไปยังชุมชน  ส่งผลให้แกนนำยุวบรรณารักษ์ ได้รับรางวัลนักเรียนพระราชทาน ซึ่งเป็นต้นแบบที่ดีในการสร้างยุวทูตการอ่านและยุวบรรณารักษ์รุ่นใหม่ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ต่อไป

         



2.รางวัลศาสตราจารย์สังเวียน  อินทรวิชัย สาขาการพัฒนาการศึกษา

          - ศาสตราจารย์ ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ อธิการวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต

เภสัชกรชาวไทยที่อุทิศตนวิจัยค้นคว้าจนผลิตยารักษาโรคเอดส์ได้เป็นครั้งแรกในประเทศกำลังพัฒนา มีผลงานเป็นที่สนใจใน วงกว้าง ได้แก่ รางวัลนักวิทยาศาสตร์โลก (Global Scientist Award) จากมูลนิธิเลตเต็น ประเทศนอร์เวย์ประจำปี 2547 รางวัลบุคคลแห่งปีของเอเชียประจำปี. 2551 รางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะประจำปี 2552 เป็นผู้ก่อตั้ง “ลังกาสุกะโมเดล” (พ.ศ.2552) เครือข่ายผลิตยาสมุนไพร และสุขภาพของประชาชนในสามจังหวัดชายแดนใต้  ขับเคลื่อนโดยมีประชาชนในท้องถิ่น เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจในการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางด้านสาธารณสุขของชุมชน (Community Health )

3.รางวัลมีชัย  วีระไวทยะ สาขาการพัฒนาสังคมชนบท

         - วิสาหกิจชุมชนศูนย์สาธิตการเกษตรร้านค้าชุมชนตำบลท่าเสา  อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี

 ศูนย์จำหน่ายสินค้าเกษตรชุมชนเข้มแข็ง มีการวางรูปแบบการบริหารอย่างเป็นระบบ ส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิต  ลดการใช้สารเคมี เพิ่มผลผลิตทางการเกษตรในชุมชน  ปลูกฝังแนวคิดความพอเพียง  ลด ละ เลิก อบายมุข และการออม  ทำให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการมีรายได้ทั้งจากการทำการเกษตร และการผลิตสินค้ามาจำหน่ายที่ร้านค้าชุมชน เพิ่มรายได้ ให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน 

ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนฯ มีหุ้นทั้งหมด 49,875 หุ้น มูลค่ากว่า 6 ล้านบาท สมาชิก 600 คน  มีการวางรูปแบบการบริหารอย่างเป็นระบบ โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงานด้านการจัดการร้านค้าชุมชน การบริหารจัดการเงินทุนในชุมชน ซึ่งมีหน่วยงานราชการ  องค์กรท้องถิ่น และองค์กรชุมชน ศึกษาดูงานปีละกว่า 5,000 คน 

4.รางวัลอิสรเมธี  สาขาการพัฒนาสังคมเมือง

          - นายคำใหม่ แสงรัตน์ ปราชญ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน

ผู้ถ่ายทอดภูมิปัญญาโครงการไส้เดือนเพื่อนรัก ซึ่งจะช่วยย่อยสลายขยะอินทรีย์ และได้ปุ๋ยมูลไส้เดือน ซึ่งมีธาตุอุดมสมบูรณ์ใช้แทนปุ๋ยเคมี ในวงกว้างแก่เกษตรกรนักเรียนโรงเรียนชาวนาใน จ.เชียงราย และจังหวัดต่างๆ ทั่วภาคเหนือ ผลักดันให้เชียงรายเป็นจังหวัดของเกษตรอินทรีย์

           - นายเชาวฤทธิ์ ไชยพรม ปราชญ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน

ผู้ถ่ายทอดความรู้และแนวคิดการเป็นเกษตรกรที่มีความรับผิดชอบต่อชีวิตของคนในชุมชน ซึ่งต้องมีอาหารดี ปลอดภัย ด้วยโครงการปลูกเห็ดในโรงเรือน เป็นแหล่งเรียนรู้ ผลักดันการสร้างเกษตรกรที่ดี สร้างครอบครัวและชุมชนอินทรีย์ ผลักดันให้เชียงรายเป็นจังหวัดของเกษตรอินทรีย์

5.รางวัลสุกรี เจริญสุข สาขาการส่งเสริมดนตรี  

            - วงออร์เคสตร้าเยาวชนเทศบาลนครยะลา

วงดนตรีออร์เคสตร้าเยาวชน ศูนย์รวมและพื้นที่ของโอกาสให้เยาวชนที่ด้อยโอกาสและมีฐานะยากจน มีความแตกต่างทั้งอายุ ศาสนา วัฒนธรรม ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เข้าถึงการเล่นดนตรีอย่างเท่าเทียมกับคนทั่วไปในสังคมได้อยู่ และเรียนรู้ดนตรีร่วมกัน ทำกิจกรรมเพื่อดูแลสังคมร่วมกัน นำไปสู่ความสมานฉันท์ในพื้นที่มีความวุ่นวายไม่สงบและปลอดภัยได้   

โดยใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือเชื่อมความสัมพันธ์ และสานสัมพันธ์ด้วยจิตและวิญญาณ

วงออร์เคสตร้า เทศบาลนครยะลา เปิดโอกาสให้เยาวชนที่ไม่มีความรู้ทางด้านดนตรี ตั้งแต่อายุ 7-15 ปี  เริ่มเรียนตั้งแต่การอ่านโน้ตดนตรีสากล จนสามารถจัดแสดงคอนเสิร์ตได้ และยังเป็นวงออร์เคสตร้าเยาวชนที่มีอายุน้อยที่สุดในประเทศไทย  โดยเยาวชนจะได้รับประสบการณ์จากการเดินทางไปแสดงในพื้นที่ต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

6.รางวัลพลตรีสำเริง ไชยยงค์ สาขาการส่งเสริมกีฬา 

          - นายเจต บุญเป็ง

อาสาสมัครผู้รับผิดชอบเยาวชนในโครงการ “เก่อญอโพ ก้าวสู่ความไพบูลย์” ณ โรงเรียนบ้านบ่อแก้ว อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ค้นหาเด็กๆ เก่อญอโพ (กะเหรี่ยง) ตามหมู่ตามขุนเขา เพื่อนำมาสอนเรื่อง จริยธรรม โดยใช้กีฬา และดนตรีเป็นสื่อ และเปิดบ้านให้การเลี้ยงดูและทุ่มเทดูแลฝึกสอนฟุตบอลให้กับทีม กระทั่งมีการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง จนเป็นตัวแทนของโรงเรียน เข้าแข่งขันและรับรางวัลชนะเลิศในโรงเรียนระดับตำบล อำเภอ รวมทั้งได้รับการคัดเลือกเป็นนักฟุตบอลจังหวัดเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน  

          - นายสนธยา งามแยะ

จิตอาสาสอนฟุตบอลเด็กในชุมชน และเด็กด้อยโอกาส ซึ่งขาดทักษะในการเล่นกีฬาฟุตบอล โดยนำเด็กและเยาวชนยากจนในชุมชนและชุมชนใกล้เคียงในอ.เมือง จ. สุรินทร์  มาอาศัยที่บ้าน และฝึกสอนการเล่นกีฬาฟุตบอลโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายและยังหาทุนสนับสนุนค่าใช้จ่ายเพื่อดูแลเด็กๆ มาเป็นวลานานนับ 10 ปีควบคู่การเป็นผู้ฝึกสอนทีมเยาวชน  จ.สุรินทร์ ก่อตั้งทีมชมรมฟุตบอลเมืองช้าง เอฟ ซี  เพื่อส่งเสริมให้กีฬาฟุตบอลเป็นเครื่องมือในการสร้างเยาวชนคุณภาพ ห่างไกลยาเสพติด และสามารถเป็นอาชีพสร้างรายได้ เลี้ยงตนเองและครอบครัว

7.รางวัลประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ สาขาการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนและสังคม  

           - นางนิตยา พร้อมพอชื่นบุญ  

ประธานกรรมการมูลนิธิพร้อมใจพัฒนา ผู้ทุ่มเทอุทิศตนทำงานเพื่อการลดปัญหายาเสพติดในชุมชนคลองเตยและทำงานร่วมกับเครือข่ายชุมชนแออัดกว่า 30 ปี มีผลงานดีเด่น เป็นที่ยอมรับและส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนในชุมชน โดยริเริ่มโครงการต่างๆ อาทิ โครงการส่งเสริมเขตปลอดยาเสพติด โครงการป้องกันโรคเอดส์มูลนิธิดวงประทีป และจัดตั้งสมาคมอาสาสมัครต่อต้านยาเสพติดคลองเตย สร้างแนวร่วมชุมชนอาสาสมัครป้องกันยาเสพติดที่เข้มแข็งใน 18 ชุมชนกว่า 360 คน

           - นายดำรงค์ บุญยัง   

หัวหน้าโครงการป้องกันและควบคุมอัคคีภัยมูลนิธิดวงประทีป ประธานเครือข่ายบรรเทาสาธารณภัยชุมชนในกรุงเทพมหานคร และผู้นำเครือข่ายเยาวชนอาสาสมัครป้องกันอัคคีภัยแห่งประเทศไทย เจาะกลุ่มชักชวนเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในชุมชน  เข้าเป็นอาสาสมัครเพื่อทำหน้าที่ป้องกันภัย เฝ้าระวังเหตุ ไฟไหม้  ซึ่งการทำงานได้หล่อหลอมพฤติกรรมทำความดีเพื่อเอาชนะยาเสพติด แก่กลุ่มเสี่ยงและยังเป็นต้นแบบขยายผลไปในชุมชนอื่นๆ

                  ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาของการดำเนินโครงการ“SET เชิดชูผู้ทำความดีเพื่อสังคม”มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งปณิธานที่จะสร้างสรรค์สังคมแห่งความดี โดยขับเคลื่อนการทำงานร่วมกับ 7 องค์กรภาคีเครือข่าย และต่อขยายความดีผ่านพลเมืองดีที่เพิ่มมากขึ้น  เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตของทรัพยากรมนุษย์ในทุกๆ มิติที่เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาความยั่งยืนให้กับสังคมไทย บนเครือข่ายความคิดของคนยุคปัจจุบัน บนเครือข่ายขององค์กรที่จะกระจายตัวอย่างไม่หยุดยั้งและพร้อมเดินหน้าร่วมสร้างปรากฎการณ์ บนความหวังที่ไม่มีสิ้นสุด เพื่อให้กาลเวลาพิสูจน์คน และส่งเสริมคนให้พิสูจน์ความดี  

ผู้เข้าชม  2461