
วัณโรคกับเอดส์ มีความสัมพันธ์กันอย่างไร?
วัณโรค คือ
วัณโรค มิได้เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ แต่เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ มัยโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium Tuberculosis) มีรูปร่างเป็นแท่งมีขนาดเล็กมากมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ต้องย้อมสีด้วยวิธีพิเศษและดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ขยายจึงจะเห็นตัวเชื้อวัณโรควัณโรค สามารถเป็นได้กับอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย เช่น ปอด ลำไส้ ไต กระดูก ผิวหนัง ต่อมน้ำ เหลือง และเยื่อหุ้มสมองแต่ที่พบบ่อยและเป็นปํญหามากในปัจจุบันคือ วัณโรคปอด

วัณโรค ติดต่ออย่างไร
เชื้อวัณโรคติดต่อโดยการแพร่กระจายจากคนไปสู่อีกคนหนึ่ง ทางระบบการหายใจ โดยผู้ป่วยที่มีเชื้อในเสมหะ พูด คุย ไอ จาม โดยไม่ปิดปาก เชื้อวัณโรคจะลอยไปกับละอองเสมหะที่ผู้ป่วยไอ จาม ออกมา ละอองที่มีขนาดใหญ่ จะตกลงสู่พื้นดิน ส่วนละอองขนาดเล็กจะล่องลอยไปในอากาศ ผู้ที่ได้สูดหายใจเอาเชื้อวัณโรคเข้าสู่ร่างกาย ทำให้มีโอกาสติดเชื้อและป่วยเป็นวัณโรคได้ ผู้ที่ได้รับเชื้อแล้ว ไม่จำเป็นต้องเป็นวัณโรคทุกคน เพราะร่างกายมีกลไกหลายอย่างที่จะต่อสู้และป้องกันเชื้อวัณโรค มีเพียงร้อยละ 10 ของผู้ที่ติดเชื้อวัณโรคเท่านั้นที่จะป่วยเป็นวัณโรค
เชื้อวัณโรคจากเสมหะที่ปลิวในอากาศโดยไม่ถูกแสงแดด จะมีชีวิตอยู่ได้นาน 8-10 วัน แสงอาทิตย์จะทำลายเชื้อวัณโรคภายใน 5 นาที และทำลายได้ในน้ำเดือด 2 นาที การทำลายเชื้อวัณโรคจากเสมหะที่ดีที่สุดจึงควรใช้ความร้อนเช่น การเผาทิ้ง

วัณโรคปอด มีอาการอย่างไร
ผู้ป่วยวัณโรคจะมีอาการหลายชนิด แต่อาการที่สำคัญ ของวัณโรคปอดคือ
- ไอติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์
อาการอื่นๆ ที่อาจพบได้แก่
- ไอแห้งๆ หรือไอมีเสมหะหรือไอมีเสมหะปนเลือด
- เจ็บหน้าอก เหนื่อยหอบ
- มีไข้ต่ำๆ ตอนบ่ายหรือค่ำ
- เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย
- เหงื่อออกผิดปกติตอนกลางคืน
เมื่อไหร่ควรไปตรวจหาเชื้อวัณโรค
- ไอติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์
- มีไข้ต่ำๆ ตอนบ่ายหรือค่ำ
- เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย
- เหงื่อออกตอนกลางคืน
- เมื่อมีญาติหรือผู้ใกล้ชิดป่วยเป็นวัณโรคปอด
- ตรวจสุขภาพประจำปี กรณีไม่มีอาการ แต่ถ้ามีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ/ผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เช่น เป็นโรคเบาหวาน ติดสารเสพติดหรือติดเชื้อเอชไอวีควรตรวจทุก 3-6 เดือน

วัณโรค รักษาหายได้
ปัจจุบันมียารักษาวัณโรคที่มีประสิทธิภาพสูง
- กินยาอย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอใช้เวลาเพียง 6-8 เดือนเท่านั้น (ในอดีตใช้เวลาในการรักษา 1 ปี 6 เดือน ถึง 2 ปี) โดยการรักษาแบบมีผู้คอยกำกับดูแลการกินยาให้ผู้ป่วยตามขนาดทุกมื้อหึครบถ้วน คอยให้กำลังใจและให้คำแนะนำ
- ผู้ป่วยวัณโรค ได้รับการรักษาไม่ถูกต้องขาดยา หรือกินยาไม่ต่อเนื่อง จะทำให้เชื้อวัณโรคดื้อยา ทำให้ยากต่อการรักษา และอาจแพร่เชื้อวัณโรคที่ดื้อยาสู่ผู้อื่นได้
วัณโรคกับเอดส์ มีความสัมพันธ์กันอย่างไร?
- ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวี จะมีโอกาสเป็นวัณโรคได้ง่ายกว่าปกติ 20-30 เท่า และเมื่อเป็นแล้วก็อาจจะมีความรุนแรงของโรคมากกว่าในคนที่ปกติได้ด้วย ปัจจุบันเราเริ่มพบว่าเชื้อวัณโรคของผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี เริ่มดื้อยามากกว่าคนทั่วไป
- ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไววี จึงสามารถพบวัณโรคได้ในทุกระยะ เพียงแต่ถ้าเมื่อการติดเชื้อลุกลามไปจนเป็นเอดส์เต็มขั้นก็ยิ่งพบวัณโรคได้มากขึ้น เช่นเดียวกับการติดเชื้อฉวยโอกาสอื่นๆอีกหลายชนิด ทั้งนี้เป็นเพราะระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะเกิดการสูญเสียไปมาก
- ผู้ป่วยวัณโรคที่ติดเชื้อเอชไอวี ร่วมด้วยจะมีความแตกต่างไปจากกคนปกติบ้าง ได้แก่ มีไข้ยาวนานกว่า มีน้ำหนักตัวลดลงมากกว่าและมีการแพร่กรกะจายของวัณโรคปอดไปยังอวัยวะอื่นๆ มากกว่า เช่น เยื่อหุ้มสมอง กระดูก หรือ ต่อมน้ำเหลือง ส่วนอาการอื่นๆ เช่น ไอ ไอเป็นเลือด หอบเหนื่อย เจ็บหน้าอก ก็จะมีเหมือนกับคนทั่วไป
- ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีก็จะมีโอกาสหายขาดจากวัณโรคได้มากกว่าร้อยละ95 เหมือนกับคนทั่วไป แต่ปัญหาที่พบบ่อยๆ คือ ผู้ป่วยที่แพ้ยาได้ง่าย และมักจะไม่มารับการรักษาสม่ำเสมอจนครบหรือมีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ทำให้การรักษาไม่ต่อเนื่อง
- ผู้ป่วยเอดส์ที่เป็นวัณโรคร่วมด้วยจะแพร่เชื้อวัณโรคให้กับคนอื่นได้เหมือนกับผู้ป่วยวัณโรคทั่วไปสำหรับการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจะเป็นไปตามธรรมดา คือ ติดต่อทางเลือด เพศสัมพันธ์ และถ่ายทอดจากแม่ไปสู่ลูกขณะตั้งครรภ์
ที่มาของข้อมูลและรูปภาพ : สำนักวัณโรค https://goo.gl/uoVDQY , คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล