Care the Wild “ปลูกป้อง Plant&Protect”

 

ป่าเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือ   สัตว์อื่นๆ  เพราะป่าไม้มีประโยชน์ทั้งการเป็นแหล่งวัตถุดิบของปัจจัยสี่คือ  อาหาร  เครื่องนุ่งห่ม  ที่อยู่อาศัยและยารักษาโรคสำหรับมนุษย์ และยังมีประโยชน์   ในการรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อม   มีส่วนในการควบคุมสภาวะอากาศ ป่าไม้ช่วยบรรเทาความรุนแรงของลมพายุและป้องกันอุทกภัย โดยช่วยลดความเร็วของลมพายุที่พัดผ่านได้ตั้งแต่  11-44% ตามลักษณะของป่าไม้แต่ละชนิด  จึงช่วยให้บ้านเมืองรอดพ้นจากวาตภัยได้ ซึ่งเป็นการป้องกันและควบคุมน้ำตามแม่น้ำไม่ให้สูงขึ้นมารวดเร็วล้นฝั่งกลายเป็นอุทกภัย นอกจากนี้ ป่าไม้ช่วยป้องกันการกัดเซาะและพัดพาหน้าดิน  จากน้ำฝนและลมพายุโดยลดแรงปะทะลงการหลุดเลื่อนของดินจึงเกิดขึ้นน้อย และยังเป็นการช่วยให้แม่น้ำ ลำธารต่าง ๆ  ไม่ตื้นเขินอีกด้วย  นอกจากนี้ป่าไม้เป็นเสมือนเครื่องกีดขวางตามธรรมชาติ  จึงนับว่ามีประโยชน์ในทางยุทธศาสตร์ด้วย เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ เป็นแหล่งให้มนุษย์ได้ศึกษาหาความรู้พันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์จำนวนมาก     ป่าไม้ถูกทำลายลงไปมากๆ  ย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องอื่นๆ  เช่น  สัตว์ป่า  ดิน  น้ำ  อากาศ  ฯลฯ กล่าวคือ เมื่อป่าไม้ ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำถูกทำลาย  จะส่งผลไปถึงดินและแหล่งน้ำด้วย  เพราะเมื่อเผาหรือถางป่าไปแล้ว  พื้นดินจะโล่งขาดพืชปกคลุม  เมื่อฝนตกลงมาก็จะชะล้างหน้าดินและความอุดมสมบูรณ์ของดินไป  นอกจากนั้นเมื่อขาดต้นไม้คอยดูดซับน้ำไว้น้ำก็จะไหลบ่าท่วมบ้านเรือน และที่ลุ่มในฤดูน้ำหลาก  พอถึงฤดูแล้งก็ไม่มีน้ำซึมใต้ดินไว้หล่อเลี้ยงต้นน้ำลำธารทำให้แม่น้ำมีน้ำน้อย  ส่งผลกระทบต่อมาถึงระบบเศรษฐกิจและสังคม

 

สถานะป่าไม้ในประเทศ :  ใน ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ป่าในประเทศไทยมีจำนวนคงที่ คือ 102 ล.ไร่ หรือร้อยละ 31.5 ของประเทศ (ประเทศไทยมีพื้นที่ 322 ล.ไร่)  ทั้งนี้ หากต้องคงความสมดุลของสิ่งแวดล้อม ไว้ประเทศไทยควรมีพื้นที่ป่า ร้อยละ 40 (128 ล. ไร่) (แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับ 12) เพื่อให้เกิดพื้นที่ป่าที่แท้จริง ภาครัฐได้มีมาตรการสำคัญที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือ

1) การดูแลรักษาป่าอนุรักษ์ให้คงอยู่ และ 2) การเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ ด้วยการส่งเสริมการปลูกป่าภาครัฐ ป่าชุมชน ป่าคทช. และป่าภาคเอกชน

 

ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขับเคลื่อนการพัฒนาตลาดทุน ให้เกิดประโยชน์กับผู้เกี่ยวข้อง ในทุกมิติของสังคม ตอกย้ำวิสัยทัศน์ To Make the Capital Market “Work” for Everyone   ควบคู่กับการผลักดันให้เกิดภาวะสมดุลของโลก ตามกรอบเป้าหมายแห่งสหประชาชาติ  UNSDG Goal  ในข้อ 13 Climate Action  และขับเคลื่อนด้วยการทำงานด้วย ข้อ 17 Partnership for the Goal กล่าวคือ ผนึกกำลังทุกภาคส่วนเพื่อการดำเนินการร่วม บนเป้าหมายร่วมในการสร้างความเปลี่ยนแปลง 

 

โครงการ Care the Wild  “ปลูกป้อง Plant &Protect” ถือเป็น Collaboration Platform ที่เป็นกลไกเพื่อการระดมทุน เพื่อการปลูกต้นไม้ใหม่ ปลูกต้นไม้เสริม และส่งเสริมการดูแลต้นไม้  โดยผ่านภาคีองค์กรเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้โครงการ Care the Wild นำทัพผู้ปลูก ด้วยสัญลักษณ์ ช้างรักษ์ป่า “พี่ปลูกป้อง” ที่ให้ข้อมูลเชิญชวนทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมเรียนรู้เรื่องระบบนิเวศน์ พืช สิ่งแวดล้อม ที่เกี่ยวเนื่องกับต้นไม้ และร่วมระดมทุน “ปลูก” ต้นไม้  นอกจากนี้ โครงการเน้นการร่วมดูแลต้นไม้ที่ปลูกให้เติบโต จนกลายเป็นผืนป่าอย่างแท้จริง ภายใต้แนวคิด “ป้อง” กล่าวคือ ผู้ระดมทุนปลูก ร่วมติดตาม ผ่าน application Care the Wild เรียนรู้การเติบโตของไม้ การทำงานของชุมชน การมีส่วนร่วมในการขยายผลเพื่อพัฒนาชุมชน และร่วมดูแลเอาใจใส่ไม้ปลูก ให้เติบโตเป็นส่วนสำคัญของการขยายแนวผืนป่าของประเทศต่อไป

 

จึงกล่าวได้ว่า โครงการ Care the Wild ปลูกป้อง มีคุณลักษณะที่พิเศษ กล่าวคือ 1) กระบวนการในการเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมโดยเริ่มต้นจาก “ป่าไม้”  2) ความมีส่วนร่วมของผู้ร่วมโครงการ   3) กระบวนการติดตาม ประเมินผลการปลูก และร่วมดูแลป่าไม้   4) กระบวนการร่วมขยายผลที่เกิดจากป่า และเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน

รูปแบบโครงการ

ผู้ร่วมโครงการ สามารถร่วมเป็น “ทีมปลูกป้อง” ด้วยการเลือกพื้นที่ป่า ที่ต้องการปลูก และบริจาคเงินเพื่อเป็นทุนในการปลูกไม้ ต้นละ 220 บาท และดูแลไม้ที่ปลูก ผ่าน Application : Care the Wild ด้วยเป้าหมายต้นไม้ที่ปลูกต้องรอดและเติบโต 100 %  

โครงการ Care the Wild “ปลูกป้อง”  จัดให้มีการตรวจสอบ (ป้อง) ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อมโดยหลังจากมีผู้บริจาคเงินเพื่อการปลูกต้นไม้ องค์กรผู้ยื่นแบบความจำนงขอระดมทุนเพื่อปลูกป่า ในโครงการฯ  ที่ทำหน้าปลูกต้นไม้จะนำส่งข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดของต้นไม้ สถานที่ปลูก วันเดือนปีที่ ปลูก รวมถึงมีการรายงานความคืบหน้าของผลการปลูกและการเติบโตของต้นไม้เป็นระยะทุก 6 เดือน  โดยผู้บริจาคเงินจะได้รับข้อมูลดังกล่าวในการติดตามข้อมูลผ่าน application Care the Wild  นอกจากนี้ยังมีกระบวนการสอบทานจากหน่วยงานและผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้สำรวจและนำส่งข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกต้นไม้มายังแอพพลิเคชั่นอีกครั้งด้วย

 

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

โครงการฯ มีวัตถุประสงค์ในการสร้างนวัตกรรมจากความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆในการช่วยลดภาวะโลกร้อนโดยการสร้างพื้นที่ป่าไม้ ซึ่งเป็นต้นทางของการสร้างภาวะสมดุลให้กับสภาพภูมิอากาศของประเทศ ดังนี้

  1. โครงการฯ มีเป้าหมายที่มีส่วนช่วยลดก๊าซเรือนกระจก   โดยการปลูกต้นไม้เพิ่ม โดยมีพื้นที่ปลูกต้นไม้ ในระยะ 12 เดือนแรกไม่ต่ำกว่า 500 ไร่ จำนวนต้นไม้ที่ปลูกรวม 100,000 ต้น ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทั้งองค์กรภาครัฐ ธุรกิจเพื่อสังคม และองค์กรเพื่อสังคม ในการกำหนดพื้นที่ปลูกต้นไม้          
  2. โครงการฯ เน้นส่งเสริมการมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน และ ชุมชน ได้ร่วมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การลดภาวะโลกร้อน โดยเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมปลูกต้นไม้ในโครงการ อันเป็นการร่วมกันสร้างป่าไม้ให้ประเทศ  
  3. โครงการฯ เป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เนื่องด้วยการดูแลรักษาต้นไม้ที่ปลูกในโครงการมีระยะเวลาอย่างน้อย 6 ปี รวมทั้ง ส่งเสริมการต่อยอดการทำงานร่วมกับชุมชนให้อยู่ร่วมกับป่า รักษาป่าในระยะยาว  
  4. โครงการฯ มุ่งส่งเสริมความรู้ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ป่าไม้ เพื่อให้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนสามารถขยายผลเป็นนวตกรรมได้อย่างอิสระ
  5. สิทธิประโยชน์ทางภาษี กรณีที่องค์กรร่วมสนับสนุนการปลูกป่าชุมชนสามารถรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีได้ตามที่สรรพากรกำหนด
  6. โครงการ Care the Wild เป็น CSR ที่ต่อเนื่องและขยายผลได้  โดยองค์กรที่ร่วมโครงการ สามารถพัฒนางาน CSR บนกิจกรรมปลูกป้อง และรายงานในรายงานด้านความยั่งยืนได้ (รายงานการลด CFP และผลลัพธ์ทางสังคมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง)

 

 

การประสานงานโครงการ

 

องค์กรธุรกิจ ที่สนใจร่วมสามารถมายังฝ่ายพัฒนาเพื่อสังคมตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก www.setsocialimpact.com และ Facebook : SET Socialimpact

 

(ผู้ที่สนใจในการร่วมสร้างผืนป่าร่วมกับโครงการ Care the Wild “ปลูกป้อง” สร้างป่าด้วยใจ เพื่อสร้างสมดุลในระบบนิเวศ สามารถติดต่อได้ที่  ของเว็บไซต์ SET Social Impact ร่วมเป็นสื่อกลางในการสร้างป่าเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี)

ผู้เข้าชม  10606