Care the Whale
Climate Action Collaboration @Ratchada District
โครงการร่วมภาคสังคม ภาคธุรกิจ ภาครัฐ แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ในย่านรัชดา
“ขยะล่องหน” เพื่อลดภาวะโลกร้อนและสร้างคุณภาพชีวิตที่สมดุล
ภาวะโลกร้อน คือ ภาพสะท้อนของความไม่สมดุล ในระบบนิเวศของโลก ในปัจจุบันมนุษยชาติจึงต้องเผชิญหน้ากับความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 355.77 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เป็นอันดับ 3 ของอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย และ มาเลเซีย (อ้างอิงจาก รายงาน Southeast Asia and Economics of Global Climate Stabilization ของธนาคารพัฒนาเอเชีย ปี 2558) ผลจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนี้ ทำให้เกิดสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งส่งผลกระทบมากมายต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นรากฐานที่มนุษย์ทุกคนต้องพึ่งพาในการดำรงชีวิต สิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์ได้รับผลกระทบ และมีความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์เป็นจำนวนมาก จากสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม และจากการบริโภคทรัพยากรของมนุษย์ โดยจากการประชุมตามข้อตกลงปารีส ซึ่งเป็นการประชุมของสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP 21) ที่ได้กำหนดให้ทุกประเทศทั่วโลกร่วมมือกันให้อุณหภูมิเฉลี่ยของพื้นผิวโลกเพิ่มขึ้นน้อยกว่า 2 องศาเซลเซียส แต่ในปัจจุบัน อุณหภูมิเฉลี่ยของพื้นผิวโลกได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 1 องศาเซลเซียส และหากจะพิจารณาจากปริมาณตัวเลข Carbon Budget หรือปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปลดปล่อยอย่างต่อเนื่อง จากพลังงานฟอสซิล การเกษตร อุตสาหกรรม
ทำให้นับจากปี 2020 จนถึงปี 2050 ทุกประเทศทั่วโลกจะมีปริมาณ Carbon Budget เหลืออีกเพียง 297 กิ๊กกะตันคาร์บอนเท่านั้นจากทั้งหมด 960 กิ๊กกะตันคาร์บอน นับจากปี 1870 (อ้างอิงจาก : What’s Really Happening to Our Planet?, 2016 โดย Tony Juniper) ทั้งหมดนี้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของโลกอย่างรุนแรง ซึ่งหากปริมาณก๊าซเรือนกระจก ยังดำเนินต่อไปเช่นที่เป็นอยู่อย่างในปัจจุบัน โลกอาจไม่สามารถคืนสู่สภาพสมดุลได้ ทั้งนี้ กล่าวได้ว่าพลเมืองของโลกทุกคน ย่อมมีส่วนในการลดหรือเพิ่มอัตราเร่งของภาวะโลกร้อน ได้ทั้งสิ้น ดังนั้น การให้ความสำคัญต่อประเด็นการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในทุกระดับจากระดับบุคคล(personnel) จนถึงระดับองค์กร (organization) จึงเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนา จากจุดเริ่มมต้นของแนวคิด พฤติกรรม ไปจนถึงกลยุทธในการดำเนินงานของบริษัท หรือองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน
ในการนี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในฐานะเป็นพลเมืองของโลก พร้อมทั้งภาคธุรกิจ และธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ตระหนักถึงปัญหา และมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาจากจุดเริ่มต้น จากจุดยืนของแต่ละภาคส่วน เพื่อเป็นอีกแรงในการทวนเข็มนาฬิกาแห่งวิกฤติการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้โลกเป็นระบบนิเวศที่ยังคงอยู่ เป็นทรัพยากรที่สมดุลสำหรับคนรุ่นหน้า สำหรับสัตว์และพืช อีกมากมายที่เป็นสมาชิก ผู้กำเนิด อาศัยเติบโต อยู่ในห่วงโซ่แห่งการดำรงอยู่ของโลก
ความร่วมมือ Care the Whale Ratchada Collaboration District ขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืน
โดยอ้างอิงเป้าประสงค์ของสหประชาชาติเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน (UNSDG Goal) ในข้อ 13 Climate Action เป็นเป้าหมาย ข้อ 12 Responsible Consumption and Production เป็นวิธีการ และขับเคลื่อนด้วยการทำงานด้วย ข้อ 17 Partnership for the Goal กล่าวคือ ผนึกกำลัง 4 ภาคส่วนการทำงานสำคัญ ได้แก่ 1) นักธุรกิจเพื่อสังคมรุ่นใหม่ ที่เป็นองค์กรผู้จะมีบทบาทในภาคเศรษฐกิจแห่งอนาคต นักธุรกิจเพื่อสังคมที่ถือเอาการเติบโตอย่างยั่งยืนเป็นอีกเป้าหมายหลักในการประกอบธุรกิจ ผนึกกำลัง 2) ผู้ประกอบการที่มีที่ตั้ง ที่ทำการอยู่ในเขตถนนรัชดา รวมทั้ง 3) พันธมิตรที่เป็นผู้ประกอบการในห่วงโซ่ของการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และ 4)ภาครัฐ ร่วมมือกันผลักดันและพัฒนาโครงการ Care the Whale
วัตถุประสงค์
1. เพื่อสร้างความร่วมมือในชุมชน (Ratchada Community) โดยเริ่มจากการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนร่วมกัน ในพื้นที่ใกล้ที่ทำย่านรัชดาฯ และนำไปสู่การขยายผล เพื่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน และความร่วมมืออื่น ๆ
2. เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และพัฒนาการจัดการสิ่งแวดล้อม บนแนวทาง Circular economy อย่างต่อเนื่องร่วมกัน โดยใช้เครื่องมือ (Tools) สถานที่เรียนรู้ องค์ความรู้ และเทคโนโลยี
3. เพื่อสื่อสารและรณรงค์ เพื่อการพัฒนารวมทั้งขยายเครือข่ายชุมชน
เป้าหมาย
ลดการสร้างขยะจากต้นทาง และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
แนวคิดและกลยุทธหลักของโครงการ
1. เริ่มต้นที่วิธีคิด: Redesign แนวคิดในการจัดการสิ่งแวดล้อมใหม่ คิดให้ไม่เกิด“ขยะ” เพื่อหาทางใช้ทุกทรัพยากรให้ถึงที่สุด “ขยะจึงล่องหน” โดยสมาชิกในเครือข่าย ผนึกกำลังจับมือเดินหน้าสู่เป้าหมายเดียวกัน
2. ต่อยอดที่การกระทำ: ด้วยเป้าหมาย Zero Waste to land fill โดยเครือข่ายร่วมโครงการดำเนินการจากระดับนโยบาย สู่การปฎิบัติ ประเมินผล และปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง และสร้างสรรค์ จากระดับองค์กร สู่ปัจเจคบุคคลแวดล้อม
3. ดำเนินการพัฒนา Impact อย่างต่อเนื่อง: แลกเปลี่ยนเรียนรู้ หนุนเสริมทุกสมาชิกในเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเชื่อมโยงเครือข่ายนอกพื้นที่ และสากล
พื้นที่ดำเนินการ
ดำเนินการจากพื้นที่เฉพาะ และต่อยอดขยายผลไปเพื่อสร้างผลลัพธ์ (Impact) ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยในเบื้องต้นทางเครือข่ายผู้ร่วมโครงการบนถนนรัชดา ให้เป็นต้นทางและนำไปสู่การส่งผลที่ปลายทาง คือการลดขยะที่อาจปล่อยไปสู่ปลายทางที่เป็นสิ่งแวดล้อม เช่น ทะเล ในที่สุด
รูปแบบการดำเนินการ
ความร่วมมือในการพัฒนาเครือข่าย (Platform) การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมของแต่ละผู้ประกอบการบนถนนรัชดา โดยมีกลุ่มนักธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise : Impact Generation) ที่ขับเคลื่อนในด้านสิ่งแวดล้อม ริเริ่มและเชื่อมโยงภาคส่วนต่าง ๆ เข้าด้วยกัน โดยสร้างเครื่องมือกลาง Care the Whale Calculator เพื่อช่วยในการออกแบบนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม การวางแผนดำเนินงาน จัดเก็บข้อมูล พัฒนาหลักปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง รณรงค์เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง การประเมินผล และรายงาน รวมทั้ง ต่อเชื่อมเครือข่ายองค์กรภายนอกพื้นที่ เพื่อให้ห่วงโซ่ (Chain) ของการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ครบด้านบนแนวทางของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และรณรงค์การสื่อสารผ่านสื่อดิจิตอลเพื่อการต่อยอดเรียนรู้
โดยเครือข่ายแต่ละประเภทองค์กร มีบทบาทต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือ
พันธมิตรร่วมโครงการ
1. ธุรกิจเพื่อสังคม (Impact Generation) กลุ่มนักธุรกิจเพื่อสังคม ร่วมดำเนินการขับเคลื่อนโครงการ ในด้านข้อมูล ความรู้ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างผลลัพธ์ในด้านการเรียนรู้และรับรู้ของสังคม และชุมชน ได้แก่
2. บริษัทบนถนนรัชดา (รายชื่อเบื้องต้น) ได้แก่
กลุ่มภาคธุรกิจบนถนนรัชดา ประกอบด้วย 3 รูปแบบสำคัญ ได้แก่ สถานประกอบการที่เป็นสำนักงาน อาคารที่อยู่อาศัย และศูนย์การค้า โดยแต่ละบริษัท จัดให้มีการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม การเก็บข้อมูล กิจกรรมภายในองค์กร และรายงานความคืบหน้า การปรับปรุงในเรื่องที่เกี่ยวข้อง การสร้างเนื้อหาเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การเป็นศูนย์เรียนรู้ เรื่องสิ่งแวดล้อม การจัดการของเสีย และประเด็นอื่น ๆ ภายใต้กรอบความรู้ด้าน Circular Economy
นอกจากนี้ ผู้ร่วมโครงการจะเป็นผู้ขับเคลื่อน และขยายผล เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของตนเอง และยินดีรายงานข้อมูลความคืบหน้า ให้กับโครงการ เพื่อให้การร่วมรณรงค์ เกิดต้นแบบความร่วมมือ และนำไปสู่ความร่วมมือในด้านอื่น ๆ ต่อไป
ทั้งนี้ ข้อมูลของผู้ร่วมโครงการ เป็นการดำเนินการจัดเก็บเพื่อการประมวลผลการเปลี่ยนแปลงในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยทีม Social Enterprise อาสาสมัคร บริษัท กรีน สไตล์ จำกัด จัดเก็บข้อมูล และประมวลผล
3.องค์กรพันธมิตร นอกย่าน
กลุ่มองค์กรอื่น ๆ ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน และมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่คุณค่าของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy, CE) โดยมีทั้งองค์กรภาคธุรกิจ ที่เป็นผู้นำในนวตกรรมการผลิต แปรรูป และงานวิจัยและพัฒนา ที่เกี่ยวกับการใช้และบริหารจัดการทรัพยากร และองค์กรผู้ให้การส่งเสริมด้านการศึกษาเรียนรู้ในเรื่อง CE โดยองค์กรพันธมิตรนอกย่าน จะร่วมพัฒนาการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ของเสียให้เกิดประสิทธิภาพ โดยในเบื้องต้นองค์กรดังกล่าว ประกอบด้วย
1.บริษัท เอสซีไอ อีโค่ เซอร์วิสเซส จำกัด
2. บริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน)
3.บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน)
4.บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
5.สถาบันคลังสมองของชาติ
ตลาดหลักทรัยพ์แห่งประเทศไทย ในฐานะผู้ริเริ่มโครงการ Care the Whale ด้วยแรงบันดาลใจและความร่วมมือจากกลุ่มผู้ประกอบการในพื้นที่ โดยมุ่งให้เกิดความร่วมมือพัฒนาพื้นที่ชุมชนย่านรัชดา โดยจับมือผู้ประกอบการในพื้นที่ โดยเริ่มต้นความร่วมมือในด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมร่วมกัน โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดพื้นที่อาคารในฐานะเป็นศูนย์เรียนรู้ เส้นทาง Zero Waste to land fill เพื่อให้เกิดการพัฒนางานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคการจัดการ การบริหารต้นทุนที่เกี่ยวข้อง การประสานเครือข่ายผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการวัสดุ สิ่งของ เพื่อการแปรรูปหรือกำจัด ได้อย่างเหมาะสม เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างแท้จริง
พันธมิตรของโครงการให้ความร่วมมือ กำหนดกรอบเวลาการวางแผน เตรียมการ และเริ่มต้นโครงการร่วมกัน ตั้งแต่การจัดเก็บข้อมูล การอบรมเชิงปฏิบัติการ การเปิดโครงการ และการรายงาน รวมทั้ง สมาชิกในย่าน ร่วมส่งเสริมการจัดกิจกรรมอื่นใด ในแต่ละช่วงเวลาเพื่อโปรโมทแนวคิด หรือประชาสัมพันธ์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
Click >> โครงการ Care the Whale@ชุมชน สถานีขยะล่องหน@ชุมชนคุ้งบางกะเจ้า