ป่าชุมชนบ้านหนองทิศสอน

หมู่ 5 ต.นาเชือก อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม 

“สร้างป่า สร้างอาชีพของชุมชน"

จุดเด่น : ชุมชนเข้มแข็งที่ร่วมฟื้นฟูป่าชุมชนอย่างต่อเนื่อง สามารถพัฒนาศักยภาพสร้างอาชีพด้วยการใช้ประโยชน์จากป่า
พัฒนาเป็นวิสาหกิจชุมชน เพาะกล้าไม้จำหน่ายสร้างรายได้ และเศรษฐกิจชุมชนที่มั่นคงยั่งยืน
 
พื้นที่ปลูกรวม : 297 ไร่ 
พันธุ์ไม้ที่ต้องการปลูก :
- ไม้เรือนยอดบน เช่น ยางนา ยางเหียง ยางพลวง เต็ง รัง
- ไม้เรือนยอดรอง เช่น ประดู่ มะค่า
- ไม้เรือนยอดรอง (ตระกูลถั่ว) เช่น แดง พะยูง
- ไม้ผลพืชเกษตร เช่น ขนุน กระท้อน มะม่วง
- ไม้ป่ากินผลกินใบ เช่น ตระค้อ มะกอกป่า ขี้เหล็ก สะเดา มะขามเปรี้ยว
- ไม้สมุนไพร เช่น มะขามป้อม
- ไม้ชั้นล่าง เช่น ไพล กระเจียว
__________________________________________________________________
เนื้อที่ป่าชุมชน : 349-3-08 ไร่
ได้รับอนุมัติจากกรมป่าไม้ : พ.ศ. 2558
ประเภทป่า : ป่าชุมชน และพื้นที่อื่น ๆ ที่เป็นสาธารณประโยชน์ (นสล.)
ระยะทางจากกุรงเทพ : 417 กิโลเมตร
ระยะเวลาเดินทางจากกรุงเทพ : 6 ชั่วโมง

---------------------------------------------------------------------------------------------

     | พื้นที่ปลูก : แปลงปลูกที่ 1 : 4 ไร่

                                    : แปลงปลูกที่ 2 และ 3 : 7 ไร่

                                    : แปลงปลูกที่ 4 : 6 ไร่

   | เริ่มปลูกแปลงที่ 1 : สิงหาคม 2564

              | เริ่มปลูกแปลงที่ 2 และ 3 : สิงหาคม 2565

              | เริ่มปลูกแปลงที่ 4 : สิงหาคม 2567

     | ความสูงต้นไม้ : ข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2567

               แปลงปลูกที่ 1 : (4 ไร่) เฉลี่ย 1.2-1.5 เมตร บางต้นสูงถึง 4.5 เมตร
                                          และมีขนาดความโต (เส้นรอบวง) อยู่ระหว่าง 5-14 เซนติเมตร 

               แปลงปลูกที่ 2 และ 3 : (7 ไร่) ต้นไม้มีความสูงอยู่ระหว่าง 60-2.5 เมตร
                                         และมีขนาดความโต (เส้นรอบวง) อยู่ระหว่าง 5-10 เซนติเมตร

               แปลงปลูกที่ 4 : (6 ไร่) ต้นไม้มีความสูงอยู่ระหว่าง 40-100 เซนติเมตร
                                         
และมีขนาดความโต (เส้นรอบวง) เฉลี่ย 2 เซนติเมตร

   | อัตราการรอดตายของต้นไม้ ข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2567

             แปลงปลูกที่ 1 : (4 ไร่) อัตรารอดตาย 71%

             แปลงปลูกที่ 2 และ 3 : (7 ไร่) อัตรารอดตาย 73%

             แปลงปลูกที่ 4 : (6 ไร่) อัตรารอดตาย 95%

**หมายเหตุ จะมีการปลูกซ่อมทดแทนต้นไม้ที่ตายในฤดูฝนปีถัดไป (พฤษภาคม 2568)

---------------------------------------------------------------------------------------------

Update : การสนับสนุน การปลูก การดูแลและติดตามผลการเติบโต

---------------------------------------------------------------------------------------------

การสนับสนุนจากองค์กรภาคธุรกิจ ในแปลงที่ 1

ป่าชุมชนบ้านหนองทิศสอน หมู่ 5 ต.นาเชือก อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม ได้รับการสนับสนุนทุนเพื่อปลูกต้นไม้จำนวน 3.5 ไร่ จากกองทุนบัวหลวง (บลจ.บัวหลวง) และบริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมเป็นพันธมิตรสนับสนุนงบประมาณแก่โครงการ Care the Wild โดยมีวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาชีพเพื่อพัฒนาป่าชุมชนบ้านหนองทิศสอน เป็นองค์กรผู้ปลูกป่าในพื้นที่ป่าชุมชนเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและเป็นแหล่งอาหารที่ยั่งยืน

 

การสำรวจพื้นที่ร่วมกัน

เมื่อ 26 มิถุนายน 2563  ทีมงานโครงการ Care the Wild  กรมป่าไม้ ร่วมสำรวจพื้นที่ปลูกป่าและศักยภาพชุมชน ถอดบทเรียนร่วมกับผู้ใหญ่สุปราณี คาทิพาที ประธานกลุ่ม และประธานคณะกรรมการป่าชุมชน ฯ และสมาชิกของวิสาหกิจชุมชนฯ โดยภาพรวมป่าชุมชนหนองทิศสอน หมู่ที่ 5 ต.นาเชือก อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม มีพื้นที่เพื่อปลูกป่าในโครงการ Care the Wild  จำนวน 2 แปลง รวม 297 ไร่ มีเอกลักษณ์ชุมชน “ใช้ผืนป่าเพาะกล้าไม้ สร้างเศรษฐกิจชุมชน” สร้างอาชีพรายได้จากการเพาะขายกล้าไม้ และเป็นชุมชนที่รักป่า มุ่งสร้างผืนป่าด้วยกำลังของชุมชน โดยไม่รอการจัดสรรงบ ทั้งนี้ ชุมชนมีโครงการปลูกป่าที่ทำงานร่วมกับภาคเอกชนและรัฐ ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง อาทิ การทำงานร่วมกับสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. / สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.มหาสารคาม โดยสามารถเพิ่มผืนป่าได้ กว่า 500 ไร่ ในพื้นที่ช่วงที่ผ่านมา

 

 

   

สภาพพื้นที่ป่าชุมชนและการทำงานในรูปแบบวิสาหกิจชุมชนบ้านหนองทิศสอน มีสภาพพื้นที่เป็นที่เนินสลับที่ราบ มีพื้นที่สาธารณประโยชน์จำนวน 2,515 ไร่ เป็นพื้นที่ป่าสมบูรณ์มากถึง 1,406 ไร่ ได้จัดตั้งเป็นพื้นที่ป่าชุมชนบ้านหนองทิศสอน และมีพื้นที่โดยรอบป่าชุมชนที่มีสภาพเสื่อมโทรมจากการเข้าทำประโยชน์ของเกษตรกรที่มีที่ดินรอบพื้นที่เพื่อทำการเกษตร ซึ่งปัจจุบันได้คืนให้กลับชุมชนเพื่อใช้ประโยชน์สาธารณะ โดยพื้นที่ดังกล่าวได้ถูกนำมาฟื้นฟูปลูกป่าทดแทนให้กลับมาเป็นป่าธรรมชาติ และจัดสรรพื้นที่บางส่วนให้กลุ่มอาชีพในชุมชนได้ใช้ประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต

   

  

 

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาชีพเพื่อพัฒนาป่าชุมชนบ้านหนองทิศสอนมีเอกลักษณ์ชุมชน สร้างอาชีพรายได้จากการเพาะขายกล้าไม้ ซึ่งใช้เมล็ดพันธุ์จากป่าชุมชน

 

กระบวนการปลูกและการบริหารจัดการน้ำแปลงที่ 1

วิสาหกิจกลุ่มอาชีพเพื่อพัฒนาป่าชุมชน ร่วมกันวางแผนการปลูก เตรียมการปลูก และดำเนินการปลูกได้สำเร็จลุล่วงเป็นไปตามแผนที่กำหนด แล้วเสร็จเมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา 

การทำแปลงทดลอง ขนาด 40 ตรม. ในพื้นที่ปลูกป่า 

ชุมชนบ้านหนองทิศสอน ได้จัดทำแปลงทดลองการปลูกพืชกินได้ ตระกูลถั่ว ฟักทอง ในพื้นที่ปลูกป่า เพื่อให้ระบบรากเพิ่มจุลินทรีย์ในดิน และใช้ใบห่มคลุมป้องกันแดดเพื่อเพิ่มความชื้นสัมพัทธ์ ซึ่งจะทำให้ต้นไม้เติบโตอย่างดีเพราะมีความชื้นในดินสูง โดยให้ทดลองทำในพื้นที่ปลูกใหม่ เพื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ที่ไม่ได้ปลูก จะเห็นอัตราการเติบโตต้นไม้ที่สูงกว่า 3 - 4 เมตรในปีเดียว ทั้งนี้  ผลการทดลองอาจเป็นศูนย์การเรียนรู้ เป็นแหล่งอาหาร และสามารถใช้คำนวณผลประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ เป็นมูลค่าและคุณค่าทางโภชนาการ เก็บข้อมูลทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมด้วย โดยพื้นที่จ.มหาสารคาม มีความเค็มสูง อาจเป็นสาเหตุให้ต้นไม้ตาย จึงเป็นพื้นที่การศึกษาที่จะเป็นประโยชน์และเป็นต้นแบบได้ต่อไป

 

  

ผู้ใหญ่บ้านและกลุ่มวิสาหกิจกลุ่มอาชีพเพื่อพัฒนาป่าชุมชนบ้านหนองทิศสอน ปรึกษาและวางแผนการทำงาน เพื่อให้แผนงานถูกต้องตามหลักวิชาการ

  

เตรียมกล้าพันธุ์ ใช้กล้าไม้ที่วิสาหกิจกลุ่มอาชีพเพื่อพัฒนาป่าชุมชนเพาะในการปลูกลงพื้นที่แปลงปลูก 4 ไร่ โดยเป็นกล้าพันธ์ุข้ามปีที่แข็งแรง ความสูงเฉลี่ย 40 - 60 เซนติเมตร 

 

วางแนวหลักสเต็กไม้ไผ่ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปลูกต้นไม้ในที่ว่าง โดยหลีกเลี่ยงการปลูกใต้ร่มไม้ใหญ่ที่มีอยู่เดิมและถูกต้องตามหลักวิชาการ

 

ขุดหลุมปลูกขนาด 30X30X30 เซนติเมตร ในพื้นที่ที่จะวางแนวหลักสเต็กไม้ไผ่

   

ใส่ดินดำ ปุ๋ยหมัก และวัสดุรองก้นหลุมจำนวน 1 กิโลกรัม/หลุม

 

  

ชาววิสาหกิจกลุ่มอาชีพเพื่อพัฒนาป่าชุมชน ร่วมปลูกกล้วยเพื่อเป็นไม้พี่เลี้ยง ระยะ 4X4 เมตร จำนวน 400 หน่อ และปลูกต้นไม้ตามพันธุ์ไม้ที่ทางชุมชนได้คัดสรรไว้ โดยดำเนินการปลูกระยะ 4X2 เมตร 

 

---------------------------------------------------------------------------------------------

ผลสำเร็จการปลูกป่าจำนวน 4 ไร่แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาชีพเพื่อพัฒนาป่าชุมชนบ้านหนองทิศสอน บำรุงดูแลรักษาต้นไม้ เพื่อให้ต้นไม้มีอัตราการรอดตายสูงสุด และดูแลต่อเนื่องเป็นเวลา 6 ปี และมีการปลูกซ่อมเสริมกรณีต้นไม้ตาย โดยมีเป้าหมายต้นไม้ที่ปลูกมีอัตราการรอด 100 เปอร์เซ็น

 

ผลลัพธ์ต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อม

จากการสนับสนุนของภาคธุรกิจ ในการระดมทุนเพื่อปลูกต้นไม้ในป่าชุมชนบ้านหนองทิศสอน ซึ่งมีอาณาเขตครอบคลุม 349-3-08 ไร่ สร้างผลสำเร็จการปลูกป่าจำนวน 3.5 ไร่ ด้วยต้นไม้กว่า 700 ต้น ช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ 6,300 กิโลกรัมคาร์บอนไดซ์ออกไซต์เทียบเท่า สร้างประโยชน์ให้กับชุมชนบ้านหนองทิศสอน หมู่ 5 มีสมาชิก 132 ครัวเรือน ดูแลพื้นที่ป่าชุมชน จำนวน 2,515 ไร่ ครอบคลุมประโยชน์จากป่า เป็นแหล่งอาหาร ชุมชนในและรอบข้างพื้นที่ป่าใช้ประโยชน์ในการสร้างรายได้ และต่อยอดการเพาะกล้าไม้เพื่อสร้างรายได้ของวิสาหกิจฯ  และหมู่ 6 ,7, 8 , 9 ,17 ประมาณกว่า 900 ครัวเรือน ขยายไปถึง ต.หนองกุง  ต.สันป่าตอง คาบเกี่ยว จ.ขอนแก่น จ.บุรีรัมย์

---------------------------------------------------------------------------------------------

การติดตามผลการปลูกครั้งที่ 1  # พฤษภาคม 2565

 

แปลงปลูกที่ 1 :  4 ไร่  (ปลูกเดือนสิงหาคมปี 2564)

จากการลงสำรวจพื้นที่แปลงปลูกที่ 1 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2565 พบว่ามีอัตราการรอดตายของต้นไม้อยู่ที่ 100% ชุมชนมีการลงพื้นที่สำรวจการเจริญเติบโตทุกเดือน และปลูกซ่อมเป็นระยะครั้งล่าสุดเดือนเมษายน มีการดายหญ้าวัชพืช และทำแนวกันไฟเพิ่มรอบด้านแปลงขนาดกว้าง 3.5 เมตร

โดยมีความสูงเฉลี่ยของต้นไม้อยู่ที่ 50 - 60 เซนติเมตร และสำหรับแปลงอื่นๆ ที่ยังไม่ได้รับการสนับสนุน ชาวบ้านใช้เป็นแปลงทดลองปลูกพืชตระกูลถั่วก็เพื่อเพื่อบำรุงดิน และใช้ประโยชน์จากผลผลิต

      

     

ปลูกต้นกล้วยแซมเพื่อปรับสภาพและบำรุงดินให้ดีขึ้น อีกทั้งการวางระบบน้ำเพื่อปล่อยผ่านสายยางไปยังต้นไม้ทุกต้น ในช่วงระยะเวลาที่ฝนทิ้งฤดู

 

การติดตามผลการปลูกครั้งที่ 2  # สิงหาคม 2566

โครงการฯ ติดตามผลปลูกในแปลงปลูกที่ 1 รวม 4 ไร่ พบว่า สัดส่วนต้นไม้ที่รอดตาย 85 % การเติบโตของต้นไม้เฉลี่ยสูงประมาณ 108 -110 เซนติเมตร  การเติบโตของต้นไม้มีเส้นรอบวงเฉลี่ย1.76 เซนติเมตร ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีการปลูกซ่อมแซมทดแทนต้นไม้ที่ตาย จำนวน 122 ต้น  ประเภทต้นไม้ที่เติบโตได้ดี ได้แก่ พฤกษ์ ขี้เหล็ก สะเดา มะขามป้อม พะยูง ประดู่ป่า มะม่วงป่า รกฟ้า ยางนา แดง ตะเคียนทอง ยางเหียง ขนุน หว้า มะขามเปรี้ยว มะค่าโมง ตระคร้อ

    

ระบบการจัดการเรื่องน้ำในช่วงฝนทิ้งช่วงมีการใช้ประโยชน์จากพืชเบิกนำพวกต้นกล้วยเพิ่มความชุ่มชื้นและกักเก็บน้ำในบริเวณผืนแปลงปลูก ซึ่งเติบโตดี  และมีการใช้ระบบสูบน้ำจากบ่อและทำเป็นระบบน้ำหยด (ช่วงเดือนเมษายน)

    

การติดตามผลการปลูกครั้งที่ 3  #  กันยายน 2567

จากการติดตามตรวจนับต้นไม้มีจำนวน 569 ต้นที่รอดตายจากการปลูกรวม 800 ต้น คิดเป็นอัตรารอด 71ชนิดต้นไม้ที่รอด ได้แก่ ประดู่ป่า มะขามป้อม ขี้เหล็ก แดง พะยูง ตะเคียนทอง สัก พะยอม พฤกษ์ ยางนา รกฟ้า กระถินเทพา สะเดา หมีเหม็น มะกอกป่า มะค่าโมง ตระค้อ มะขามเปรี้ยว หว้า กระบาก มะม่วงป่า มะรุม ยางเหียง  ต้นไม้มีความสูงเฉลี่ย 1.2-1.5 เมตร  ในขณะที่บางต้นมีความสูงถึง 4.5 เมตร และมีขนาดความโต (เส้นรอบวง) อยู่ระหว่าง 4-14 เซนติเมตร

    

ชุมชนได้ดำเนินการลิดกิ่งต้นไม้เพื่อให้ลำต้นตรง  อาทิ เช่น ยางนา พะยูง ประดู่ และเร่งการเติบโตได้ดำเนินการดายวัชพืชรอบโคนต้นเพื่อเปิดแสง รวมทั้งมีแผนการดำเนินงานต่อไปคือลดวัชพืชในแปลงและป้องกันเฝ้าระวังไฟป่า และปลูกซ่อมทดแทนต้นไม้ที่ตาย

 

การสนับสนุนจากองค์กรภาคธุรกิจ ในแปลงที่ 2

 

  

 

          โครงการ Care the Wild “ปลูกป้อง Plant & Protect” โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับพันธมิตร บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด กรมป่าไม้ และชุมชนบ้านหนองทิศสอน ลงพื้นที่ปลูกต้นไม้นำร่องป่าชุมชนบ้านหนองทิศสอน อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม มุ่งพลิกฟื้นให้ป่าแห่งนี้เป็นผืนป่าสีเขียวที่อุดมสมบูรณ์ เป็นมรดกให้ลูกหลาน และเป็นแหล่งอาหารของชุมชน โดยมี คุณ ซี คิ-ออง เลาว์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการเงินและปฏิบัติการ บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด ผ.อ.ปัญญา บุตะกะ ป่าไม้จังหวัดมหาสารคาม นายสากล เนตะวงษ์ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาเชือก ผู้ใหญ่สุปราณี คาทิพาที พร้อมด้วยชาวบ้านชุมชนบ้านหนองทิศสอน และคณะผู้แทนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมปลูกต้นไม้นำร่อง พร้อมกันนี้ยังสนับสนุนงบประมาณและมอบอุปกรณ์ป้องกันและดับไฟป่าให้แก่วิสาหกิจกลุ่มอาชีพเพื่อพัฒนาป่าชุมชน บ้านหนองทิศสอนด้วย

     

ฤดูปลูกปีนี้ชุมชนบ้านหนองทิศสอน ได้รับการสนับสนุนปลูกต้นไม้ภายใต้โครงการ Care the Wild เป็นจำนวนรวม 1,400 ต้น บนพื้นที่ 7 ไร่ จาก 2 ผู้สนับสนุนหลัก คือ บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 1,000 ต้น บนพื้นที่ 5 ไร่ และกลุ่มแฟนคลับ JMJFans ของศิลปิน เจมส์ ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ (JamyJamess) เพื่อเป็นของขวัญวันเกิดครบรอบ 25 ปี (27 เมษายน) จำนวน 400 ต้น บนพื้นที่ 2 ไร่ ซึ่งเมื่อต้นไม้เติบใหญ่จะช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ 12,600 กิโลกรัมคาร์บอนไดซ์ออกไซต์เทียบเท่าต่อปี นอกจากนี้ เมื่อปีที่ผ่านมาชุมชนแห่งนี้ยังได้รับการสนับสนุนปลูกต้นไม้ จำนวน 4 ไร่ จากกองทุนบัวหลวง โครงการวนของ บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด

 

     

 

---------------------------------------------------------------------------------------------

การติดตามผลการปลูกครั้งที่ 1 #  ระหว่างเดือนสิงหาคม - ธันวาคม 2566  (แปลงที่ 2 และ 3) รวมพื้นที่ 7 ไร่

จากการติดตามผลระหว่างเดือนสิงหาคม - ธันวาคม ต้นไม้มีอัตราการเติบโต เฉลี่ยความสูง 70-90 cm. สัดส่วนต้นไม้ที่รอด 75%  ต้นไม้ค่อนข้างแกร็นไม่ค่อยเติบโตประเภทต้นไม้ที่เติบโตได้ดี ได้แก่ ขี้เหล็ก มะขามป้อม พะยูง ประดู่ป่า ยางนา ทั้งนี้ ชุมชนมีการปลูกซ่อมในช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา จำนวน 250 กล้า (อัตราการปลูกซ่อมทดแมนต้นไม้ที่ตาย 25%)  โดยเลือกต้นไม้ปลูกทดแทน ได้แก่  ยางนา ตะเคียนทอง ประดู่ป่า พะยูง ยางเหียง และประเภทไม้ป่ากินได้และไม้เกษตร ได้แก่ มะขามป้อม มะม่วงป่า หว้า ขนุน มะขาม 

    

    

ทั้งนี้  ในช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน ปี 2565 ที่ผ่านมา หลังการปลูกต้นไม้และเป็นช่วงฤดูฝน พบว่าเกิดปัญหาจากปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ค่อนข้างเยอะ ทำให้น้ำท่วมขังบริเวณแปลงปลูกส่งผลต่ออัตราการรอดตายของต้นไม้จำนวนมาก สมาชิกได้ปลูกซ่อมทดแทนต้นไม้ที่ตายกว่า 490 ต้น  โดยเลือกชนิดกล้าไม้ที่ทนต่อสภาพน้ำท่วมขัง มีความโตและสูงกว่า 80 cm. ในการปลูกซ่อม  ได้แก่ ประดู่ป่า แดง ขนุนป่า สัก พะยอม พะยูง ยางนา หว้า และตะเคียนทอง และสมาชิกชุมชนได้แก้ปัญหาน้ำท่วมขังโดยการทำร่องน้ำข้างแปลงเพื่อระบายน้ำ  และมีการจัดทำระบบปั้มน้ำโซล่าเซลล์โดยใช้น้ำจากแหล่งน้ำใกล้แปลงปล่อยน้ำตามร่องปลูก สัปดาห์ละ 2 ครั้ง โดยทำให้แปลงมีความชุ่มชื่นในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2566  ที่ผ่านมา

    

 

การติดตามผลการปลูกครั้งที่ 2 #  กันยายน  2567  (แปลงที่ 2 และ 3) รวมพื้นที่ 7 ไร่

จากการติดตามผลการเติบโตจากจำนวนต้นไม้ที่ปลูก 1,400 ต้น ตรวจนับต้นไม้ได้จำนวน 1,021 ต้น คิดอัตราการรอดตายเป็น 73 % ชนิดไม้ที่พบ ได้แก่ พะยอม ประดู่ป่า ชิงชัน สะเดา หว้า พะยูง ขี้เหล็ก ตะเคียนทอง หมีเหม็น กุ่มบก มะม่วงป่า มะขามเปรี้ยว สัก ตะคร้อ ยางนา แดง ราชพฤกษ์ ยางเหียง มะขามป้อม สะเดา มะค่าโมง แคนา กระบาก พฤกษ์ ติ้ว เฉลี่ยความสูงของต้นไม้ส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 1.20 -1.50 เมตร บางต้นมีความสูงกว่า 2.5 เมตร   โดยมีขนาดความโต (เส้นรอบวง) เฉลี่ยระหว่าง 5 -10 เซนติเมตร  ประเภทต้นไม้ที่เติบโตได้ดี ได้แก่  มะขามป้อม ยางนา พฤกษ์ พะยูง ประดู่ และสัก

    

ในช่วงที่ผ่านมานั้นพบว่ามีปัญหามีสัตว์เลี้ยงเข้าแปลงปลูกส่งผลให้ต้นไม้เสียหายจากการแทะเล็ม และเหยียบย่ำ โดยจะได้ดำเนินการปลูกซ่อมทดแทนต้นไม้ที่ตายต่อไป

    

ในขณะที่การดูแลพื้นที่ปลูกชุมชนได้เข้ามาดูแลสม่ำเสมอ โดยมีการไถพรวนดินร่องกลาง พร้อมทั้งกำจัดวัชพืชรอบโคนต้นไม้และเถาวัลย์ในพื้นที่แปลงปลูก แผนการดำเนินงานต่อไปคือลดวัชพืชในแปลงและป้องกันเฝ้าระวังไฟป่า ปลูกซ่อมทดแทนต้นไม้ที่ตาย ล้อมรั้วป้องกันสัตว์เลี้ยงทำลายต้นไม้

    

---------------------------------------------------------------------------------------------

การสนับสนุนจากองค์กรภาคธุรกิจ 

Care the Wild  และพันธมิตร บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่ป่า 5 ไร่ ณ ป่าชุมชนบ้านหนองทิศสอน อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม  ⛅️

 

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2567 ฤดูปลูกปี 2565 นี้ชุมชนบ้านหนองทิศสอน ได้รับการสนับสนุนปลูกต้นไม้ภายใต้โครงการ Care the Wild จากบริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (TISCO) นำทีมผู้บริหาร คุณกำพล สุริยะไกร ผู้จัดการธนาคารทิสโก้ สาขาขอนแก่น พนักงานจิตอาสาจากธนาคารทิสโก้ และสมหวัง เงินสั่งได้ โซนภาคอีสานกลาง1 ร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้จำนวน 1,000 ต้น บนพื้นที่ 5 ไร่ ณ ป่าชุมชนบ้านหนองทิศสอน จ.มหาสารคาม โดยมีคุณสุปราณี คาทิพาที ผู้ใหญ่บ้านหนองทิศสอน คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนบ้านหนองทิศสอน และพร้อมด้วยชาวบ้านชุมชนบ้านหนองทิศสอน รวมกว่า 80 คน  เพื่อสร้างระบบนิเวศที่สมดุล ลดปัญหาโลกร้อน ด้วยแนวคิดต้นไม้ต้องรอดตาย 100% ตามเงื่อนไขโครงการฯ 

    

บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป มุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจ โดยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน และสังคม ซึ่งให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ โดยการแปลงแนวคิดอนุรักษ์ผืนป่าสู่การปฏิบัติจริงและมุ่งหวังให้เกิดผลที่ยั่งยืน ด้วยการปลูกกล้าไม้ในจังหวัดที่มีพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม และส่งเสริมให้ชุมชนเรียนรู้คุณค่าของป่าไม้ในท้องถิ่น 

    

    

    

 

การติดตามผลการปลูกครั้งที่ 1 #  กันยายน  2567  (แปลงที่ 4 ) รวมพื้นที่ 6 ไร่

ในพื้นที่แปลงปลูกที่ 4 นี้ได้รับการสนับสนุนพื้นที่ปลูก 5  ไร่ จากบริษัท ทิสโก้ไฟแนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และอีก 1 ไร่จากผู้บริจาครายย่อยผ่านโครงการ Care the Wild   โดยผลการติดตามผลปลูกจำนวนต้นไม้รวมมีอัตราอัตรารอดตาย  95% ชนิดต้นไม้ที่พบ ได้แก่ พะยูง มะค่าโมง กระบาก แดง ประดู่ป่า ตะเคียนทอง สัก หว้า กระท้อน ขี้เหล็ก มะขามเปรี้ยว ยางนา พะยอม ยางเหียง พฤกษ์ แคนา มะขามป้อม ฝรั่งขี้นก  ต้นไม้มีความสูงอยู่ระหว่าง 60 -70 เซนติเมตร

    

โดยสมาชิกชุมชนมีการดำเนินการถางวัชพืชรอบโคนต้น และวางแผนการดำเนินงานต่อไป คือลดวัชพืชในแปลงและป้องกันเฝ้าระวังไฟป่า ล้อมรั้วป้องกันสัตว์เลี้ยงทำลายต้นไม้  และจัดทำระบบน้ำให้ต้นไม้ต่อไปเพื่อลดปัญหาความแห้งแล้งในช่วงฤดูแล้ง

    

 


(ผู้ที่สนใจในการร่วมสร้างผืนป่าร่วมกับโครงการ Care the Wild “ปลูกป้อง” สร้างป่าด้วยใจ เพื่อสร้างสมดุลในระบบนิเวศ สามารถติดต่อได้ที่  ของเว็บไซต์ SET Social Impact ร่วมเป็นสื่อกลางในการสร้างป่าเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี)

 
 
ผู้เข้าชม  3814