ป่าชุมชนบ้านโคกพลวง

หมู่ 11 ต.หินโคน อ.จักราช จ.นครราชสีมา

สร้างระบบนิเวศ ใหม่ให้คน สัตว์ พืช”

ชุมชนมีความพร้อมพัฒนาผืนป่าที่มีขนาดใหญ่ พร้อมดูแลระบบการจัดการน้ำ 
เพื่อสร้างระบบนิเวศ และสนับสนุนศักยภาพของชุมชนจากการใช้ประโยชน์จากป่า
 
พื้นที่ปลูก : 250 ไร่
พันธุ์ไม้ที่ต้องการปลูก :
- ไม้กินได้ เช่น ไผ่ ขี้เหล็ก หมากเม่า มะม่วงป่า
- ไม้ยืนต้นที่เป็นแหล่งกำเนิดของเห็ด เช่น ยางนา ตะเคียนทอง
- ไม้มีค่า ไม้ยืนต้น เช่น ประดู่ แดง พะยูง 
__________________________________________________________________
เนื้อที่ป่าชุมชน : 460-0-24 ไร่
ได้รับอนุมัติจากกรมป่าไม้ : 21 ธันวาคม พ.ศ. 2553
ประเภทป่า : พื้นที่ดินที่ได้รับหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล.)
ระยะทางจากกุรงเทพ : 315 กิโลเมตร
ระยะเวลาเดินทางจากกรุงเทพ : 4 ชั่วโมง 30 นาที
__________________________________________________________________
 

   | แปลงปลูกที่ 1 : กรกฎาคม 2565

               แปลงปลูกที่ 2 : มิถุนายน 2566

   | พื้นที่ปลูก (แปลงที่ 1) : 10 ไร่ จำนวนต้นไม้ที่ปลูก 2,143 ต้น

               พื้นที่ปลูก (แปลงที่ 2) : 45 ไร่ จำนวนต้นไม้ที่ปลูก 9,000 ต้น

   | ความสูงเฉลี่ย : แปลงที่ 1 : 70-135 เซนติเมตร ข้อมูล เดือน กันยายน 2567 

               ความสูงเฉลี่ย : แปลงที่ 2 : 70-90 เซนติเมตร ข้อมูล เดือน กันยายน 2567

   | อัตราการรอดตายของต้นไม้ 

                แปลงที่ 1 : 100% ข้อมูล เดือน กันยายน 2567 (ปลูกซ่อมเสริมเดือน พฤษภาคม 2567)

                แปลงที่ 2 : 100% ข้อมูล เดือน กันยายน 2567 (ปลูกซ่อมเสริมเดือน พฤษภาคม 2567)

---------------------------------------------------------------------------------------------

สำรวจพื้นที่ร่วมกับทางศุภาลัย และกรมป่าไม้
          ป่าชุมชนโคกพลวง บมจ.ศุภาลัย ร่วมกับกรมป่าไม้และทีมโครงการ Care the Wild ของตลาดหลักทรัพย์ฯ สำรวจพื้นที่แปลงปลูกป่าชุมชนบ้านโคกพลวง อ.จักราช จ.นครราชสีมา
          21 เมษายน 2565 บมจ. ศุภาลัยผู้สนับสนุนงบประมาณปลูกต้นไม้ให้ได้ผืนป่า ณ ป่าชุมชนบ้านโคกพลวง อ.จักราช จ.นครราชสีมา จำนวน 10 ไร่ ร่วมสำรวจสภาพแวดล้อมพื้นที่แปลงปลูกและประชุมวางแผนการปลูก กับคณะกรรมการป่าชุมชนบ้านโคกพลวง ซึ่งมีความพร้อมและมีทีมชุมชนที่พร้อมปลูกและปกป้องป่าอย่างเข้มแข็ง โดยวางแผนการปลูกในช่วงฤดูกาลปลูกประจำปี 2565 นี้ ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ซึ่งอยู่ในช่วงฤดูฝน

      
 
      
 
 
---------------------------------------------------------------------------------------------
 
การสนับสนุนจากองค์กรภาคธุรกิจ ปี 2565

บมจ.ศุภาลัย บริษัทจดทะเบียนในกลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มั่นคงแข็งแรง ทั้งผลประกอบการ และการบริหารจัดการที่คำนึงถึงธรรมาภิบาล การเติบโตอย่างยั่งยืน หรือ ESG  มายาวนานกว่า 30 ปี และเป็น 1 ในหุ้นยั่งยืน (Thailand Sustainability Investment)  

นำทีมโดย คุณไตรเตชะ  ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ พร้อมผู้บริหาร พนักงาน พันธมิตรกลุ่มบริษัทคู่ค้า ทั้งกลุ่มบริษัท ธรรมสรณ์ จำกัด, เอสซีจี, ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัท สยามซานิทารีแวร์ จำกัด, สื่อมวลชน  ร่วมกับชาวชุมชนบ้านโคกพลวง อ.จักราช จ.นครราชสีมา ปลูกต้นไม้  2,000 ต้น  ในพื้นที่ป่าชุมชน 10 ไร่  มุ่งสร้างประโยชน์ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ การรักษาระบบนิเวศ และพัฒนาชุมชนให้อยู่ได้อย่างยั่งยืนต่อเนื่อง

 

     

บมจ.ศุภาลัยตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลสิ่งแวดล้อมควบคู่การดำเนินธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย และมีการพัฒนาธุรกิจใน จ.นครราชสีมา กว่า 8 ปี  จึงเข้าร่วมเป็นพันธมิตรโครงการ Care the Wild ปลูกป้อง :Plant & Protect เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ป่าชุมชนบ้านโคกพลวงแห่งนี้  โดยตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 25% ภายใน 3 ปี อีกด้วย

     

กิจกรรม”ปลูกต้นไม้ให้ได้ผืนป่า” ร่วมกับพันธมิตร มีผู้บริหารจากตลาดหลักทรัพย์ฯ คุณอำนวย จิรมหาโภคา ผู้ช่วยผู้จัดการ พร้อมทั้งผู้บริหารและทีมงานกรมป่าไม้ นำโดย คุณนันทนา บุณยานันต์  ผู้อำนวยการสำนักจัดการป่าชุมชน และ ทีมปลูกป้องชุมชนเข้มแข็งซึ่งมีคุณชาตรี เพชรนอก เป็นประธานคณะกรรมการป่าชุมชนบ้านโคกพลวงเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 80 คน

---------------------------------------------------------------------------------------------

การติดตามผลการปลูก (แปลงปลูกที่ 1 จำนวน 10 ไร่ ปลูกปี 2565 สนับสนุนโดย บมจ. ศุภาลัย) ครั้งที่ 1 # 25 เมษายน 2566
 
    
     
 เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566 คณะทำงานจากโครงการ Care the Wild ส่วนจัดการป่าชุมชน สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 (นครราชสีมา) กรมป่าไม้ได้ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนชุมชนผู้ปลูก และตรวจสอบผลการปลูกต้นไม้ในพื้นที่แปลงจำนวน 10 ไร่ ซึ่งปลูกต้นไม้จำนวน 2,000 ต้น เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา (ระยะเวลาปลูก 8 เดือน)
 
    
 
 จากการสำรวจพบว่า พื้นที่ป่าชุมชนมีสภาพแห้งแล้งจากฝนทิ้งช่วงต่อเนื่องในฤดูแล้งที่ค่อนข้างยาวนาน ส่งผลให้ต้นไม้มีอัตรารอด 80 % ต้นไม้สูงเฉลี่ย 30 - 80 เซนติเมตร ต้นไม้ที่เติบโตได้ดี คือ พะยูง ประดู่ ขี้เหล็ก และมีต้นไม้บางประเภทที่ไม่ทนแล้ง ได้แก่ ไม้ชนิดผล อาทิ ขนุน มะม่วง ซึ่งจะมีการสำรวจชนิดต้นไม้ เพื่อหาต้นไม้ที่เหมาะสมมาปลูกทดแทนให้เหมาะสมกับพื้นที่ปลูกซึ่งเป็นป่าเต็งรัง โดยต้นกล้าต้องมีขนาดเติบโตเทียบเท่ากับต้นไม้ที่ปลูกไว้แล้ว เพื่อให้มีอัตรารอด 100% โดยการปลูกซ่อมแซมจะทำในฤดูฝนปีนี้  
 

   

สำหรับระบบน้ำที่ดำเนินการตามแผนรองรับการขาดช่วงฤดูฝน เพื่อทำให้อัตรารอดตายสูงสุด จะใช้ระบบน้ำจากบ่อบาดาล และต่อท่อด้วยสายยางเป็นระบบน้ำหยดไปยังโคนต้นไม้ ยังมีการใช้งานได้แต่ยังมีปัญหาของค่าแร่ธาตุ (ค่า PH) ที่ไม่เหมาะสมและอาจส่งผลต่อการเติบโตได้ แนวทางแก้ไขจะพิจารณากักเก็บน้ำไว้ก่อนนำไปรดต้นไม้ 

---------------------------------------------------------------------------------------------

การติดตามผลการปลูก (แปลงปลูกที่ 1 จำนวน 10 ไร่ ปลูกปี 2565 สนับสนุนโดย บมจ.ศุภาลัย) ครั้งที่ 2 # กันยายน 2567

เมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 กรมป่าไม้และชุมชนได้ร่วมลงพื้นที่สำรวจผลการปลูกต้นไม้ในพื้นที่แปลงจำนวน 10 ไร่ ซึ่งปลูกต้นไม้จำนวนกว่า 2,143 ต้น พบว่า พื้นที่ป่าชุมชนบ้านโคกพลวงได้รับผลกระทบจากการทิ้งช่วงฝนจากปรากฏการณ์เอลนีโญ มีสภาพแห้งแล้ง ส่งผลให้อัตราการรอดตายของต้นไม้มีเพียง 79.43% ต้นไม้ที่รอดส่วนใหญ่สูงเฉลี่ย 130 เซนติเมตร ต้นไม้ที่เติบโตได้ดี ได้แก่ ไผ่ มะม่วง มะหาด ยางนา มะค่าโมง และขี้เหล็ก 

    

สำหรับระบบน้ำที่ดำเนินการตามแผนรองรับการขาดช่วงฤดูฝน เพื่อทำให้อัตราการรอดตายสูงสุด จะใช้ระบบน้ำจากบ่อบาดาล และต่อท่อด้วยสายยางเป็นระบบน้ำหยดไปยังโคนต้นไม้ทั่วแปลงปลูก ชุมชนได้มีการวางแผนกำจัดวัชพืชรอบโคนต้น รวมทั้งจัดเตรียมกล้าไม้สำหรับการปลูกซ่อมในช่วงฤดูฝน (เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม) นี้ 

  

ต่อมาเมื่อเดือนสิงหาคม - กันยายน กรมป่าไม้และชุมชนได้ลงพื้นที่ติดตามผลการเติบโตของต้นไม้ที่ปลูกและที่ปลูกซ่อมเสริมพบว่าต้นไม้มีอัตราการรอดตาย 100% เฉลี่ยความสูงระหว่าง 70 - 135 เซนติเมตร และชุมชนได้ใส่ปุ๋ยบำรุงป่าในคราวเดียวกันนี้ โดยในช่วงเดือนมิถุนายน - สิงหาคมที่ผ่านมามีปริมาณฝนค่อนข้างมาก ส่งผลให้วัชพืชขึ้นมากซึ่งจะได้วางแผนกำจัดเป็นรอบเวลาต่อไป

 

---------------------------------------------------------------------------------------------

การสนับสนุนพื้นที่ปลูกเพิ่มในปี 2566 รวม 45 ไร่ 

        

         

ในฤดูปลูกของปี 2566 นี้ ป่าชุมชนบ้านโคกพลวง อ.จักราช จ.นครราชสีมา ได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อ “ปลูก” และ”ป้อง”ต้นไม้ให้รอด 100 % โดยการดูแลของสมาชิกชุมชน ผ่านโครงการ Care the Wild จาก 4 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ตระหนักถึงการดูแลสิ่งแวดล้อมควบคู่การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย บมจ. ไออาร์พีซี ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีครบวงจรแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สนับสนุนพื้นที่ปลูก 10 ไร่ บมจ. บริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ ดำเนินธุรกิจจัดการบริหารหนี้จากสถาบันการเงินทุกแห่ง สนับสนุนพื้นที่ปลูก 10 ไร่ บมจ. ทีซีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น กลุ่มธุรกิจผู้ผลิตพรมรายใหญ่ของประเทศ รวมถึงผลิตและจัดจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์แบรนด์ชั้นนำในประเทศอังกฤษ สนับสนุนพื้นที่ปลูก 15 ไร่ ในขณะที่บมจ.ศุภาลัย บริษัทจดทะเบียนในกลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ได้สนับสนุนการปลูกต่อเนื่องเป็นปีที่  2 เพิ่มพื้นที่ปลูกอีก 10 ไร่  รวมพื้นที่ปลูกในป่าชุมชนบ้านโคกพลวงทั้งสิ้น 45 ไร่ เพิ่มต้นไม้กว่า 9,000 ต้น  โดยกระบวนการเตรียมความพร้อมเพื่อการปลูกต้นไม้อยู่ระหว่างเดือน พฤษภาคม – สิงหาคม 2566 ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝนและเป็นช่วงเวลาของฤดูกาลปลูกที่เหมาะสมของทุกปี โดยการปลูกและการดูแลต้นไม้ให้รอดในระยะเวลา 10 ปี จะมีสมาชิกชุมชนเป็นผู้ดำเนินการและกรมป่าไม้ร่วมเป็นพี่เลี้ยงให้ความรู้ด้านวิชาการอย่างเหมาะสมต่อไป

---------------------------------------------------------------------------------------------

Care the Wild และผู้สนับสนุนร่วมสำรวจพื้นที่แปลงปลูก 

  

เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566 คณะกรรมการป่าชุมชนบ้านโคกพลวง คณะทำงานของ บมจ. ไออาร์พีซี บมจ. บริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ บมจ. ทีซีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น ร่วมกับกรมป่าไม้ โดยส่วนจัดการป่าชุมชน สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 (นครราชสีมา) และทีมโครงการ Care the Wild ของตลาดหลักทรัพย์ฯ สำรวจพื้นที่แปลงปลูกป่าชุมชนบ้านโคกพลวง อ.จักราช จ.นครราชสีมา โดยมีนายสุรพล กลิ่นพันธุ์ ผู้อำนวยการส่วนจัดการป่าชุมชน สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 (นครราชสีมา) ร่วมให้ข้อมูลแผนจัดการระบบน้ำในเบื้องต้น โดยเน้นการรองรับความแห้งแล้งของพื้นที่ และปัญหาฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลานานซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของการปลูกต้นไม้ให้รอดตายได้ 100 % ตามเงื่อนไขของโครงการฯ

  

แผนผังแปลงปลูกป่าชุมชนบ้านโคกพลวง ในปี 2566

    

นายสุรพล กลิ่นพันธุ์ ผู้อำนวยการส่วนจัดการป่าชุมชน สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 (นครราชสีมา) ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูลแปลงปลูกแก่องค์กรผู้สนับสนุน และทีมงาน Care the Wild

  

คณะทำงานบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) สำรวจพื้นที่แปลงปลูกจำนวน 10 ไร่ เพื่อเตรียมความพร้อมการจัดกิจกรรมปลูกขององค์กร

คณะทำงานบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำรวจพื้นที่แปลงปลูกจำนวน 10 ไร่ เพื่อเตรียมความพร้อมการจัดกิจกรรมปลูกขององค์กร

 

คณะทำงานบริษัท ทีซีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) สำรวจพื้นที่แปลงปลูกจำนวน 15 ไร่ เพื่อเตรียมความพร้อมการจัดกิจกรรมปลูกขององค์กร

---------------------------------------------------------------------------------------------

    

  

---------------------------------------------------------------------------------------------

การติดตามผลการปลูก (แปลงปลูกที่ 2 จำนวน 45 ไร่ ปลูกปี 2566 สนับสนุนโดย บมจ.ศุภาลัย บมจ.ไออาร์พีซี บมจ.บริหารสินทรัพย์กรุงเทพพานิชย์ บมจ.ทีซีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น ) ครั้งที่ 1 #กันยายน 2567

เมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 จากการสำรวจติดตามผลปลูก แปลงปลูกที่ 2 ปี ทั้ง 45 ไร่ พบว่าอัตราการรอดตายสูงสุด 80% ต้นไม้สูงเฉลี่ย 70 - 97 เซนติเมตร ต้นไม้ที่เติบโตได้ดี ได้แก่ พะยูง ประดู่ป่า ไผ่ ขี้เหล็ก มะค่าโมงมะขามป้อม ยางนา และสาธร ชุมชนเข้ามาดูแลสม่ำเสมอ มีการใส่ปุ๋ย และกำจัดวัชพืชรอบโคนต้นไม้ภายในแปลง

  

  

สำหรับระบบน้ำที่ดำเนินการตามแผนรองรับการขาดช่วงฤดูฝน เพื่อทำให้อัตราการรอดตายสูงสุด จะใช้ระบบน้ำจากบ่อบาดาล จัดทำถังเก็บน้ำ และระบบจัดการน้ำจัดทำเป็นระบบน้ำจากพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมทั้งมีการทำแนวกันไฟรอบแปลงปลูกด้วย ซึ่งจะช่วยป้องกันเกิดไฟป่า ชุมชนได้มีการวางแผนกำจัดวัชพืชรอบโคนต้น รวมทั้งจัดเตรียมกล้าไม้สำหรับการปลูกซ่อม ในช่วงฤดูฝน (เดือนมิถุนายน - กรกฎาคม) นี้

  

ต่อมาเมื่อเดือนสิงหาคม - กันยายน กรมป่าไม้และชุมชนได้ลงพื้นที่ติดตามผลการเติบโตของต้นไม้ที่ปลูกและที่ปลูกซ่อมเสริม พบว่าต้นไม้มีอัตราการรอดตาย 100% เฉลี่ยความสูงระหว่าง 70-90 เซนติเมตร และชุมชนได้ใส่ปุ๋ยบำรุงป่าในคราวเดียวกันนี้ โดยในช่วงเดือนมิถุนายน - สิงหาคมที่ผ่านมามีปริมาณฝนค่อนข้างมาก ส่งผลให้วัชพืชขึ้นมาก ซึ่งจะได้วางแผนกำจัดเป็นรอบเวลาต่อไป

    

  

 

---------------------------------------------------------------------------------------------

 


 

(ผู้ที่สนใจในการร่วมสร้างผืนป่าร่วมกับโครงการ Care the Wild “ปลูกป้อง” สร้างป่าด้วยใจ เพื่อสร้างสมดุลย์ในระบบนิเวศ สามารถติดต่อได้ที่  ของเว็บไซต์ SET Social Impact ร่วมเป็นสื่อกลางในการสร้างป่าเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี)

ผู้เข้าชม  2740