บ้านสหกรณ์นิคม หมู่ที่ 1 บ้านสะพานลาว หมู่ที่ 2 บ้านสหกรณ์ หมู่ที่ 3 บ้านดินโส หมู่ที่ 4 บ้านห้วยสมจิตร
หมู่ที่ 5 บ้านสองงาน หมู่ที่ 6 ต.สหกรณ์นิคม อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี
“ป่าชุมชนที่อุดมไปด้วยความหลากหลายสมบูรณ์ทางชีวภาพ”
พื้นที่ปลูก : 20 ไร่ ประชาชนมีความร่วมมือดูแลรักษาป่า และเป็นป่าชุมชนที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางชีวภาพสูง สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้
พันธุ์ไม้ที่ต้องการจะปลูก :
- ไม้ป่ายืนต้น ได้แก่ สัก ประดู่ แดง มะค่าโมง ยางนา มะขามป้อม ตะเคียน พฤกษ์ ไผ่ พะยูง หว้า เสลา อินทนิลน้ำ
- พืชวนเกษตร และไม้ผล ได้แก่ เงาะ สะตอ คะเนียง ทุเรียน ลองกอง มังคุด มะไฟ ขนุน ส้มโอ
__________________________________________________________________
เนื้อที่ป่าชุมชน : 1,865-1-99 ไร่
สถานะป่า : ป่าชุมชนตามพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562
ระยะทางจากกรุงเทพ : 287 กิโลเมตร
ระยะเวลาเดินทางจากกรุงเทพ : 4 ชั่วโมง 28 นาที
---------------------------------------------------------------------------------------------
| เริ่มปลูก : กรกฎาคม 2565
| พื้นที่ปลูก : 10 ไร่ จำนวนต้นไม้ที่ปลูก 2,000 ต้น
| ความสูงต้นไม้ : 60 - 65.3 เซนติเมตร ณ เดือนกันยายน 2567
| อัตราการรอดตายของต้นไม้ : 100% ข้อมูล ณ เดือน กันยายน 2567 (ปลูกซ่อมเสริม ระหว่างเดือนสิงหาคม 2567)
---------------------------------------------------------------------------------------------
Update : การสนับสนุน การปลูก การดูแลและติดตามผลการเติบโต
---------------------------------------------------------------------------------------------
การสนับสนุนจากองค์กรภาคธุรกิจ
Care the Wild “ปลูกป้อง” รีบปลูก จับมือพันธมิตร บมจ. โกลบอลกรีนเคมิคอล (GGC) ขับเคลื่อนเพิ่มพื้นที่ป่า 20 ไร่ แปลงที่ 4 ของฤดูปลูกปี 65 เพิ่มพูนความสมบูรณ์ระบบนิเวศ ส่งเสริมการท่องเที่ยว ณ ป่าชุมชนตำบลสหกรณ์นิคม อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี
คุณวโรภาส กิมชูวาณิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานพาณิชยกิจ พร้อมด้วยทีมผู้บริหารของ บมจ. โกลบอลกรีนเคมิคอล (GGC) ร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้ให้ได้ผืนป่ากับพันธมิตร ทีมผู้บริหารของกรมป่าไม้ คุณนันทนา บุณยานันต์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการป่าชุมชน ประทีป เอกฉันท์ ผู้อำนวยศูนย์ป่าไม้กาญจนบุรี คุณประลอง ดำรงด์ไทย อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ผู้ทรงคุณวุฒิของคณะทำงานพิจารณาพื้นที่ปลูกป่า ในโครงการ Care the Wild พร้อมด้วยชุมชนศักยภาพ เจ้าของรางวัลรองชนะเลิศระดับประเทศ “รักษ์ป่า ป่ารักชุมชน” ประจำปี 2561
GGC ผู้บุกเบิกด้านผลิตภัณฑ์โอลีโอเคมี (ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพจากน้ำมันพืชหรือไขมันสัตว์) ในประเทศไทย ร่วมปลูกต้นไม้ 4,000 ต้น บนพื้นที่ 20 ไร่ บริเวณป่าชุมชนตำบลสหกรณ์นิคม อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เป็นแหล่งท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติที่มีชื่อเสียง ตั้งในพื้นที่แหล่งต้นน้ำชุมชนห้วยดินโส มีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น หญ้าถอดปล้อง 400 ล้านปี ปูร้อยสี จักจั่นงวงช้าง ต้นไทรขนาดใหญ่ ดงตาว ดงจันผา และสัตว์ป่ามากมาย และมีไฮไลท์ คือ อุโมงค์ 3 มิติ ยาว 2,400 เมตร ที่ขับรถทะลุไปอีกช่องอุโมงค์ที่เป็นเหมืองตะกั่วเก่าได้ นับเป็นการเพิ่มความสมบูรณ์ของระบบนิเวศเพื่อรองรับแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ซึ่งสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน
การติดตามผลการปลูก ครั้งที่ 1 # สิงหาคม 2566
ภายหลังการปลูกต้นไม้ของแปลงปลูกป่าชุมชน ต.สหกรณ์นิคมแห่งนี้ บนพื้นที่ 20 ไร่ ด้วยต้นไม้ 4,000 ต้นแล้วเสร็จในช่วงเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคมปี 2565 ที่ผ่านมา ชุมชนมีการติดตามดูแลหลังการปลูกอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ และต่อมาในช่วงเดือนมกราคม – พฤษภาคม ปี 2566 พบว่าในผืนแปลงปลูกเกิดปัญหาช้างป่าเข้ามาหาอาหาร พักอาศัยและเล่นน้ำบริเวณฝายกักน้ำใกล้กับแปลงปลูกและเข้าทำลายต้นไม้และระบบน้ำของแปลงปลูกจนได้รับความเสียหาย ส่งผลให้ไม่มีน้ำที่จะใช้รดต้นไม้ด้วยระบบน้ำหยดที่สูบจากฝาย เพราะช้างป่าทำลายท่อหลักที่จะต่อไปยังสายน้ำหยด รวมถึงสายน้ำหยดชำรุด ทำให้ต้นไม้ที่ปลูกเสียหายตายไปเกือบ 80 % อีกทั้งชุมชนผู้ดูแลไม่กล้าเข้าไปจัดการดูและพื้นที่ปลูก
ต่อมาเมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2566 สมาชิกของชุมชนได้ลงพื้นที่เพื่อปลูกซ่อมแซมต้นไม้ที่ตายไปรวม 80 % เนื่องมีช่วงแล้งนานและระบบน้ำยังใช้งานไม่ได้ และมีช้างเข้ามาก่อกวนจนชุมชนเข้ามาดูแลไม่ได้จึงเป็นสาเหตุต้นไม้ตาย โดยมีการสำรวจพบว่าสัดส่วนต้นไม้ที่รอดตาย 20% เฉลี่ยความสูง 50 cm. ประเภทต้นไม้ที่เติบโตได้ดี ได้แก่ ต้นสัก มะขามป้อม ตะเคียน
ทั้งนี้ สมาชิกชุมชนวางแผนการปลูกทดแทนให้แล้วเสร็จรวมถึงการขุดวางท่อใหม่ให้ลึกกว่านี้เพื่อลดการถูกทำลายจากช้าง ในช่วงเดือนสิงหาคม - กันยายน 2566 เพราะอยู่ในช่วงฤดูฝน
ในการติดตามผลปลูกเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 สมาชิกชุมชนได้ดำเนินการแล้วเสร็จ และมีการใช้กล้าไม้ใหม่ที่มีขนาดความสูงประมาณ 40 – 50 cm ปลูกทดแทนต้นที่เสียหายบนพื้นที่แปลงปลูก 20 ไร่ จึงมีจำนวนต้นไม้ที่ปลูกรวม 4,176 ต้น (ปลูกสำรองเพิ่มเติมจำนวน 176 ต้น) สัดส่วนต้นไม้รอดตายเท่ากับ 100 %
สำหรับประเภทต้นไม้ที่ปลูก ได้แก่ ไม้ป่ายืนต้น เช่น ตะเคียน แดง ยางนา มะฮอกกานี พะยูง สักและประดู่ พืชเกษตร มะขามป้อม มะขามเปรี้ยวและเพกา ไม้ผล เงาะ มะม่วงป่า ขนุน หว้า และมะม่วง โดยประเภทต้นไม้ที่เติบโตดี ได้แก่ สัก มะขามป้อม นอกจากนี้สมาชิกชุมชนได้มีการกำจัดวัชพืข พรวนดิน ใส่ปุ๋ยรอบโคน และใช้รถไถทำแนวกันไฟด้วย
การติดตามผลการปลูก ครั้งที่ 2 # กันยายน 2567
เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2567 กรมป่าไม้และชุมชนได้ร่วมสำรวจพื้นที่แปลงปลูก ผลการปลูกต้นไม้ในแปลงปลูกป่าชุมชนตำบลสหกรณ์นิคม พบว่าต้นไม้สูงเฉลี่ย 55-60 เซนติเมตร อัตราการรอดตาย 80% ต้นไม้ที่เติบโตได้ดี ได้แก่ สัก ตะเคียน และมะขามป้อม
ช่วงหลังการปลูกซ่อมแซมหลังจากปัญหาช้างป่าทำลายต้นไม้เมื่อปี 2566 ชุมชนได้มีการติดตาม ดูแลอย่างสม่ำเสมอ พรวนดินรอบๆโคนต้น และใส่ปุ๋ย มีการกำจัดวัชพืชโดยการถางทั่วทั่งพื้นที่ หรือแบบถางเจาะช่องตามแนวปลูกขนาดกว้าง 1 เมตร ในพื้นที่ที่มีความลาดชันมาก มีวัตถุประสงค์เพื่อลดปริมาณเชื้อเพลิงในป่าให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อป้องกันไฟป่าและทำให้กล้าไม้เจริญเติบโตได้ดี
การจัดการระบบน้ำมีการจัดหาอุปกรณ์ท่อน้ำสำหรับรดน้ำต้นไม้วางกระจายทั่วทุกแนวปลูกพร้อมวาล์วเปิด-ปิด โดยดึงน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ (ห้วยน้ำ) ในพื้นที่ รดน้ำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง และใช้รถไถดันทำแนวกันไฟรอบแปลงปลูก
ทั้งนี้ ช่วงเดือน พฤษภาคม 2567 ช้างป่าได้เข้ามาในบริเวณแปลงปลูก จึงทำให้ท่อหลักและระบบสายน้ำหยดเสียหาย จึงไม่สามารถรดน้ำต้นไม้ได้ทั่วถึง ทำให้ต้นไม้บางส่วนตาย ซึ่งในช่วงฤดูฝน (เดือนมิถุนายน - กรกฎาคม) ได้ดำเนินการปลูกซ่อมในส่วนที่เสียหาย โดยมีจำนวนต้นไม้ที่ปลูกเดิมและซ่อมเสริมรวม 4,176 ต้น (สำรองเผื่อกรณีกล้าไม้บางต้นตายจำนวนต้นไม้จะยังคงเหลือ 200 ต้น/ไร่)
ต่อมาในเดือนกันยายน 2567 ทีมงานวนศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำทีมโดย ดร.นรินธร จำวงษ์ รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยป่าไม้ ลงพื้นที่พร้อมกับชุมชนและกรมป่าไม้ สำรวจแปลงปลูก และได้รายงานผลลัพธ์การติดตามผลปลูกที่ใช้เทคโนโลยีการบินโดรนบนพื้นที่จริง โดยภาพรวมผลการปลูกในพื้นที่แปลงปลูกป่าชุมชนตำบลสหกรณ์นิคม มีพื้นที่ปลูกจำนวน 20 ไร่ พบว่าต้นไม้ที่ปลูกซ่อมเสริมและต้นไม้เดิมมีอัตราการรอดตาย 100% ต้นไม้มีความสูงเฉลี่ย 60 - 65.3 เซนติเมตร ประเภทต้นไม้ที่เติบโตได้ดี ได้แก่ สัก ยางนา ตะเคียนทอง
ชุมชนผู้ดูแลมีการบริหารจัดการที่ดีทั้งการวางแผนในขั้นตอนการบำรุงป่าด้วยการใส่ปุ๋ย การป้องกันดูแลไฟป่า การป้องกันสัตว์เลี้ยงบุกรุกและการบุกรุกพื้นที่เขตปลูกโดยมีการปักป้ายและกำหนดขอบเขตชัดเจน มีการประชาสัมพันธ์ผ่านการประชุมหมู่บ้านถึงแนวทางการอนุญาตใช้สอยประโยชน์จากผืนป่าชัดเจน เช่นอนุญาตให้ตัดไม้ไปทำประโยชน์ได้เฉพาะไผ่เท่านั้น เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามปัญหาต้นไม้ถูกทำลายโดยช้างป่ายังเป็นปัญหาที่ต้องเฝ้าระวังและดูแลปลูกซ่อมต่อไป
(ผู้ที่สนใจในการร่วมสร้างผืนป่าร่วมกับโครงการ Care the Wild “ปลูกป้อง” สร้างป่าด้วยใจ เพื่อสร้างสมดุลย์ในระบบนิเวศ
สามารถติดต่อได้ที่ ของเว็บไซต์ SET Social Impact ร่วมเป็นสื่อกลางในการสร้างป่าเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี)