ปฏิบัติการล่องหนคุณขวดขุ่น : แค่ทิ้งลงถังคงยังพอ หาทางไปต่อให้คุณขวดขุ่น

ปฏิบัติการล่องหนคุณขวดขุ่น

"แค่ทิ้งลงถังคงยังพอ หาทางไปต่อให้คุณขวดขุ่น"

 

 

     วิธีที่จะไม่ทำให้ขยะขวดขุ่นไปจบอยู่ที่หลุมฝังกลบ และเป็นมลพิษทำลายสิ่งแวดล้อม คือการแยกขยะและนำไปรีไซเคิล อย่างไรก็ตาม ถึงขวดขุ่นจะทำจากพลาสติก HDPE หรือพลาสติกสัญลักษณ์เบอร์ 2 ตัวฝา เกรียว และฉลากที่ติดมากับขวดกลับทำมาจากพลาสติกอีกชนิด ดังนั้นก่อนนำไปทิ้ง หรือขายให้โรงรับซื้อ หรือซาเล้งเราควรแยกออกมาให้ชัดเจน แล้วจะต้องแยกอย่างไรบ้าง? ไปดูกันเลยดีกว่า…

 

ขั้นตอนที่ 1 ทำความสะอาดขวดขุ่น ผึ่งให้แห้ง

ถ้าขวดขุ่นเปื้อนอัตราการนำไปรีไซเคิลจะมีน้อยลง

 

ขั้นตอนที่ 2 แยกฝา และเกรียวออก

ฝาและเกรียวจะทำจากพลาสติก PP เบอร์ 5 แต่ฝาและเกรียวบางอันจะทำจากพลาสติก HDPE ที่เหมือนกับตัวขวด เราจึงควรแยก เพราะฝาเหล่านี้มีสีสันที่แตกต่างไม่ใส่สีขุ่นขาว พอไปที่โรงรับซื้อฝาอาจจะตกอยู่ที่หมวดพลาสติกรวมแทน ซึ่งมีราคาที่ต่างกัน อาจจะทำให้เกิดค่าเสียโอกาสได้

 

ขั้นตอนที่ 3 แยกฉลากจากขวด

ฉลากพลาสติกที่ห่อหุ้มขวดจะไปไว้ที่หมวดพลาสติกรวมเช่นกัน มีราคาที่ต่างไป (3 บาทต่อหน่วย*)

 

ขั้นตอนที่ 4 ใส่ถุงแยก ลงถังรีไซเคิล หรือขายกับซาเล้งและโรงรับซื้อขยะทั่วไป เช่นวงษ์พาณิชย์ Junkbank

ขวด HDPE ที่มีสีจะถูกแยกไปอยู่ในหมวดพลาสติกรวมด้วย ราคาจะต่างกันขวดขุ่นขาวทั่วไป เราอาจจะต้องแยกออกมาอีกที

 

      หลายคนอาจจะมองว่ามันยุ่งยาก จริง ๆ เราแยกตามประเภทขวดแล้วส่งไปให้ที่โรงรับหรือซาเล้งเลยก็ได้ ทางเขาจะนำไปคัดแยกเอง แต่การที่เรามานั่งแยกก่อนจะทำให้เราได้ราคาขายที่ดีขึ้น จากเดิมที่จะได้แค่ราคาขวดขุ่นอย่างเดียว (5 บาทต่อหน่วย*) ก็จะได้ราคาพลาสติกรวมจากฝา ฉลาก และขวดสีด้วย (3 บาทต่อหน่วย*) อีกทั้ง ทำให้เรามั่นใจว่าเกิดการคัดแยกขยะจริง ๆ เพื่อที่มันจะได้ถูกนำไปรีไซเคิลอย่างถูกต้อง เพราะพลาสติกยิ่งต่างชนิดยิ่งมีกระบวนการนำกลับมาเกิดใหม่ต่างกัน

 

      แต่สำหรับใครที่ไม่สะดวกไปขาย ก็แยกแล้วทิ้งลงถังขยะรีไซเคิลสีเหลืองได้เลย หรือถ้าอยากบริจาค โครงการ Precious Plastic Bangkok ก็เปิดรับบริจาคฝาขวดทั้ง ฝา HDPE เบอร์ 2 และ PP เบอร์ 5 เพื่อไปรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่อยู่ สามารถส่งไปได้ แต่อย่าลืมล้างให้สะอาดก่อนนะ ส่วนตัวขวดที่ไม่ได้นำไปบริจาคก็ควรแยกออกมาทิ้งลงถังรีไซเคิลสีเหลืองเหมือนเดิม

 

     อันที่จริงแล้วขยะพลาสติกอาจไม่ใช่วายร้ายซะทีเดียวถ้าเรากำจัดมันอย่างถูกต้อง ปัญหาของขยะพลาสติกส่วนใหญ่คือมันไม่สามารถกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้อย่างที่ควรจะเป็น และหลุดลอยสู่ธรรมชาติ คร่าชีวิตสัตว์น้อยใหญ่ ดังนั้น ตอนนี้เรารู้วิธีแล้วก็มาแยกขยะให้ถูกกันเถอะ

 

 

 

*ราคารับซื้อสินค้าวันอาทิตย์ที่ 4 เมษายน 2564 (ราคาค้าปลีก) จากวงษ์พาณิชย์

 

 

__

 

#carethewhale

#ขยะล่องหน

#กำจัดคำว่าขยะให้หายไปร่วมหาทางใช้ให้ถึงที่สุด

 

 

 

Source

https://www.greenpeace.org/thailand/story/2242/plastic-101/ - Greenpeace: “พลาสติก 101 : รู้จักพลาสติกในชีวิตประจำวัน”

https://www.facebook.com/3WheelsUncle/photos/a.221430681939045/392968074785304/?type=3&theater&fbclid=IwAR2Mv32rSKlKdYqXJIpN4NbQzoyyAnwS5qiOwFkexFpP10VSrX09HuVn12k - ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป: “ตารางแยกพลาสติก”

http://www.wongpanit.com/print_history_price/1111 - วงษ์พาณิชย์

https://www.facebook.com/PreciousPlasticBKK - Precious Plastic Bangkok

 

 

ผู้เข้าชม  4361