หมู่ 8 ต.บ่อแก้ว อ.นาหมื่น จ.น่าน
“สร้างป่า สร้างต้นน้ำที่ยั่งยืน”
“ พื้นที่แปลงปลูกที่ 1 ”
พื้นที่ปลูก : 80 ไร่ (จำนวนต้นไม้ 16,000 ต้น)
พันธุ์ไม้ที่ต้องการปลูก :
- ไม้ยืนต้น เช่น ประดู่ แดง สัก ยางนา มะค่าโมง งิ้วดอกแดง คู กวาว
- ไม้ผล เช่น มะม่วงหิมพานต์ มะขามป้อม มะขามเปรี้ยว มะไฟ มะม่วบงแก้ว มะม่วงโชคอนันต์
_____________________________________________________________
เนื้อที่ป่าชุมชน : 520 ไร่
ได้รับอนุมัติจากกรมป่าไม้ : ต่ออายุป่าชุมชน 21 มกราคม พ.ศ. 2562
ประเภทป่า : ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าฝั่งขวาแม่น้ำน่านตอนใต้
ระยะทางจากกุรงเทพ : 587 กิโลเมตร
ระยะเวลาเดินทางจากกรุงเทพ : 9 ชั่วโมง 45 นาที
---------------------------------------------------------------------------------------------
| เริ่มปลูก : กรกฎาคม 2564
| พื้นที่ปลูก : 80 ไร่ (แปลงปลูกที่ 1)
| ความสูง : เฉลี่ย 1.85 - 3 เมตร ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม 2567
| อัตราการรอดตายของต้นไม้ : 99.5% ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม 2567
| ความโตของต้นไม้ (เส้นรอบวง) : 9-12 เซนติเมตร ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม 2567
---------------------------------------------------------------------------------------------
Update : การสนับสนุน การปลูก การดูแลและติดตามผลการเติบโต
---------------------------------------------------------------------------------------------
การสนับสนุนจากองค์กรภาคธุรกิจ
ป่าชุมชนบ้านนาหวาย หมู่ 8 ต.บ่อแก้ว อ.นาหมื่น จ.น่าน ได้รับการสนับสนุนทุนเพื่อปลูกต้นไม้จำนวน 80 ไร่ (แปลงที่ 1) จากองค์กรภาคตลาดทุนประกอบด้วย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) หลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย (KAsset) และบริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด (The Mall) ร่วมเป็นพันธมิตรสนับสนุนงบประมาณแก่โครงการ Care the Wildโดยมีกรมป่าไม้ ยื่นความจำนงเป็นองค์กรผู้ปลูกโดยทำงานร่วมกับคณะกรรมการป่าชุมชนบ้านนาหวายซึ่งมีผู้ใหญ่สมหวัง แสงวันเพ็ญ ประธานคณะกรรมการป่าชุมชนฯ และสมาชิกหมู่ 8 จำนวน 165 ครัวเรือน ร่วมปลูกป่าและติดตามรายงานผลการเติมโตของพื้นป่าแห่งนี้ตลอดระยะเวลา 6 ปี โดยมีผลลัพธ์ต้นไม้มีอัตราการรอดตาย 100 % ตามเป้าหมายโครงการ
การสำรวจพื้นที่ร่วมกัน
เมื่อ 23 พฤศจิกายน 2563 ทีมงานโครงการ Care the Wild กรมป่าไม้ ร่วมสํารวจพื้นที่ปลูกป่า และศักยภาพชุมชน มีการถอดบทเรียนร่วมกันกับคณะกรรมการและสมาชิกของป่าชุมชนบ้านนาหวาย สภาพโดยรวมของป่าชุมชนบ้านาหวาย มีกรมป่าไม้เสนอเป็นองค์กรผู้ปลูกโดยมีพื้นที่เพื่อปลูกป่าในโครงการ Care the Wild จำนวนเนื้อที่ รวม 100 ไร่ แบ่งเป็น 2 แปลง คือแปลงปลูกที่ 1 จำนวน 80 ไร่ ตั้งอยู่ที่บริเวณห้วยฮ้อ ลักษณะพื้นที่เป็นภูเขาสูงชันสลับซับซ้อน ระยะทางประมาณ 33 กิโลเมตร มีระดับความสูง 600 - 650 เมตร จากระดับน้ำทะเล และแปลงปลูกที่ 2 จำนวน 15.5 ไร่ อยู่ในเขตป่าชุมชนเพื่อการอนุรักษ์ พื้นที่ดอยเขาลม พื้นที่ดำเนินการโครงการปลูกป่า Care the Wild พื้นที่ป่าชุมชนบ้านนาหวายนี้สร้างประโยชน์ เป็นป่าต้นน้ำไหลสู่แม่น้ำน่าน และเป็นแหล่งน้ำสำหรับอุปโภค และการเกษตรให้กับหมู่บ้านและชุมชนข้างเคียงที่มีพื้นที่ทำเกษตรกรรมอยู่ติดกัน โดยปลูกมะม่วงหิมพาน มะขามเปรี้ยว ข้าวโพด ยางพารา เป็นอาชีพ โดยใช้น้ำจากแหล่งต้นน้ำนี้ร่วมกัน
แปลงปลูกที่ 1 บริเวณห้วยฮ้อ ระดับความสูง 600 – 650 เมตร จากระดับน้ำทะเล
สภาพพื้นที่ป่าชุมชมบ้านนาหวาย มีสภาพพื้นที่เป็นที่ลาดชัน มีพื้นที่ป่าชุมชนรวม 520 ไร่ ในความดูแลของคณะกรรมการป่าชุมชนบ้านนาหวาย
สำรวจพื้นที่ปลูกป่า และประชุมร่วมกับผู้นำชุมชนเพื่อวางแผนการปลูกป่าเพิ่มพื้นที่สีเขียว
และเป็นต้นน้ำเพื่อการเกษตรรวมทั้งแหล่งอาหารจากป่าแก่ชุมชนที่อาศัยในบริเวณป่าชุมชนและชุมชนใกล้เคียง
กระบวนการปลูก และการบริหารจัดการน้ำ
ป่าชุมชนบ้านนาหวายได้รับการสนับสนุนทุนเพื่อปลูกต้นไม้ จำนวน 80 ไร่ ในแปลงที่ 1 โดยเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 ทีมกรมป่าไม้ หัวหน้าศูนย์ส่งเสริมวนศาสตร์ชุมชนที่ 9 (ลำปาง) และชุมชนบ้านนาหวาย ได้ร่วมประชุมวางแผนการปลูก เตรียมการปลูก และดำเนินการปลูกได้ครบ 80 ไร่ เป็นไปตามแผนที่กำหนด เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา
ภาพแผนผังการวางแผนปลูกต้นไม้และวางระบบน้ำตามหลักวิชาการ โดยแบ่งโซนการปลูกเป็น 4 โซน จำนวนต้นไม้ต่อ 1 โซนเท่ากับ 4,000 ต้น รวม 17,000 ต้น
ทำทางเส้นทางตรวจการณ์และขุดแต่งบริเวณจัดทำฝายแหล่งน้ำต้นทุน เพื่อใช้สูบขึ้นไปยังแทงก์เก็บน้ำด้านบน และปล่อยน้ำไปตามสายยางของระบบน้ำหยดที่ออกแบบและ
จัดวางอย่างเป็นระบบให้สามารถหล่อเลี้ยงต้นกล้าไม้ที่ปลูกใหม่ให้ชุ่มชื้น ในช่วงฝนแล้งหรือขาดฤดูเป็นเวลานานเพื่อให้มั่นใจว่ากล้าไม้ที่ปลูกในช่วง 1-2 ปีแรก มีอัตรารอดตายมากที่สุด
เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ดำเนินการขุดฝายซึ่่งพบว่ามีน้ำขังเพิ่มขึ้น โดยจะขุดให้ถึงชั้นหิน
เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำเพื่อเชื่อมต่อระบบน้ำซึ่งแบ่งเป็น 4 โซน ตามแนวปลูกแต่ละเส้นห่างกัน 2 เมตร
ติดตั้งปั๊มน้ำ เพื่อสูบน้ำจากบริเวณฝายไปยังจุดพักน้ำระยะห่างระหว่างฝายและจุดพักน้ำราว 520 เมตร
ผู้ใหญ่บ้านและครอบครัวสมาชิกชุมชนบ้านนาหวาย เตรียมพื้นที่บริเวณแปลงปลูก เช่น กำจัดวัชพืช เตรียมหน้าดิน ขุดแนวขัั้นบันได
พื้นที่บริเวณแปลงปลูกก่อนและหลังการเตรียมพื้นที่
จัดเตรียมไม้หลักสเต็กไม้ไผ่ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปลูกต้นไม้
ตั้งจุดอนุบาลเพื่อเตรียมพร้อมปลูกและลดการตายของกล้าไม้ เตรียมกล้าพันธุ์ จำนวน 17,000 กล้า โดยกล้าพันธ์ุที่เลือกปลูกในพื้นที่เป็นการไม้ที่ชุมชนบ้านนาหวายต้องการปลูก
แบ่งออกเป็น 11 ชนิด คือ ประดู่ งิ้วแดง แดง มะค่าโมง มะขามเปรี้ยว สัก มะม่วงแก้ว ยางนา มะม่วง โชคอนันต์ มะขามป้อม มะไฟ เป็นกล้าไม้ข้ามปี สูง 40 – 60 ซ.ม.
ปลูกพืชคลุมดิน ประเภทกล้วยน้ำว้าเป็นพืชสนบัสนุนแนวทางการทำงานเพื่อเป็น Food Bank และหญ้าแฝกตลอดแนวเส้นทางตรวจการณ์ที่ขุดใหม่
เพื่อช่วยเรื่องการคุลมน้ำให้ดินมีความชื้นมากยิ่งขึ้นและป้องกันดินถล่ม (Land Slide) และมีแนวคิดจะปลูกถั่วมะแฮะ เป็นไม้พุ่ม ใช้เป็นพี่เลี้ยงคลุมดิน และ มวลชีวภาพ (Biomass)
โดยจะปลูกในช่องระหว่างแถว 4 เมตร ถั่วมะแฮะ มีอายุ 4 ปี จะตายไปเมื่อต้นไม้ขึ้นแข็งแรงแล้ว และยังสามารถขายผลผลิตสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกด้วย
ปักหลักหมายแนวโดยใช้เชือกลากเป็นแถว
ขุดแต่งแนวคอนทัวร์ เพื่อแบ่งพื้นที่ให้ต้นไม้เติบโตได้ดีในบริเวณพื้นที่แปลงปลูกที่มีสภาพภูมิประเทศ บริเวณภาคเหนือ ซึ่งมีความลาดชัน
สมาชิกชุมชนบ้านนาหวาย ร่วมลงพื้นที่เพื่อปลูกต้นไม้ และแบ่งความรับผิดชอบในการดูแลแต่ละโซน เพื่อติดตามผลการปลูก
และควบคุมระบบน้ำให้เข้าถึงต้นไม้ที่ปลูกใหม่ทุกต้น และสามารถรองรับการเติบโตของต้นไม้อย่างมีประสิทธิภาพ
ชุมชนบ้านนาหวาย ร่วมกำจัดวัชพืชแปลงปลูกหลังการปลูก พร้อมปลูกทดแทนกรณีต้นไม้ที่ปลูกตาย
ผลสำเร็จการปลูกป่าจำนวน 80 ไร่ แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564
ชุมชนบ้านนาหวายบำรุงดูแลรักษาต้นไม้ เพื่อให้ต้นไม้มีอัตราการรอดตายสูงสุด และดูแลต่อเนื่องเป็นเวลา 6 ปี และมีการปลูกซ่อมเสริมกรณีต้นไม้ตาย โดยมีเป้าหมายต้นไม้ที่ปลูกมีอัตราการรอด 100%
ผลลัพธ์ต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อม
จากการสนับสนุนของภาคธุรกิจ ในการระดมทุนเพื่อปลูกต้นไม้ในป่าชุมชนบ้านนาหวายซึ่งมีอาณาเขตครอบคลุม 550 ไร่ สร้างผลสำเร็จการปลูกป่าจำนวน 80 ไร่ ด้วยต้นไม้กว่า 16,000 ต้น ช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ 144,000 กิโลกรัมคาร์บอนไดซ์ออกไซต์เทียบเท่า และเป็นแหล่งอาหาร เพิ่มพื้นที่ป่าลดแล้ง เพิ่มความสมบูรณ์ให้แหล่งต้นน้ำไหลสู่แม่น้ำน่าน สร้างประโยชน์ให้กับชุมชนบ้านนาหวาย หมู่ 8 ซึ่งมีสมาชิก 165 ครัวเรือน ต.นาทนง รวม 10 หมู่บ้าน ประมาณ 1,500 ครัวเรือน ต.บ่อแก้ว รวม 14 หมู่บ้าน กว่า 2,500 ครัวเรือน อีกทั้งยังส่งผลให้ได้ใช้ประโยชน์จากต้นน้ำเพื่อการเกษตรที่สมบูรณ์ สร้างพืชเศรษฐกิจให้ชุมชน สร้างอาชีพจากเกษตรแปรรูป เช่น มะขามแช่อิ่ม เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เป็นต้น ซึ่งเป็นอาชีพหลักของเกษตรกรในพื้นที่แห่งนี้อีกด้วย
การติดตามผลปลูกแปลงที่ 1 (65 ไร่) ปลูกเมื่อปี 2564 ครั้งที่ 1 : มกราคม 2565
ทีมชุมชน (คณะกรรมการป่าชุมชน) และกรมป่าไม้ ได้ร่วมลงพื้นที่สำรวจการเติบโตของต้นไม้ที่ปลูก พบว่า ต้นไม้มีอัตรารอดที่สูงถึง 95 % เฉลี่ยความสูง 50 ซม. ประเภทต้นไม้ที่เติบโตได้ดี ได้แก่ งิ้วแดง มะค่าโมง ยางนา สัก ตะเคียนทอง ประดู่ มะไฟ
สำหรับแปลงปลูกนี้มีการจัดหาแหล่งน้ำ โดยจัดทำฝายกึ่งถาวรเพื่อกักเก็บน้ำ ขนาดความจุ ประมาณ 60 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 2 แห่ง แล้วใช้เครื่องปั้มน้ำสูบน้ำเก็บไว้ในแทงค์สำรองน้ำ และระบบกระจายน้ำ ต่อท่อน้ำเพื่อนำน้ำไปเก็บไว้ที่ถังสำรองน้ำ จำนวน 3 จุด สามารถกระจายน้ำได้ทั่วแปลงปลูก และใช้วิธีรดน้ำด้วยระบบขวดน้ำหยดรดบริเวณโคนต้นของต้นไม้ที่ปลูกทุกต้น
การบำรุงรักษาและกำจัดวัชพืชโดยใช้แรงงานและเครื่องตัดหญ้าแผ้วถางวัชพืชทั้งแปลงและถากหญ้ารอบโคนต้นไม้ และใส่ปุ๋ยบำรุงปีละ 1-2 ครั้ง
ทั้งนี้ สมาชิกชุมชนบ้านนาหวายมีความเข้มแข็งมาก สมาชิกในชุมชนมีการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบในโครงการกันอย่างเป็นระบบ มีการประชุมติดตามผลการดำเนินการอยู่เป็นระยะๆ แบ่งเวรผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันดูแลต้นไม้ที่ปลูก ดูแลการจัดหาแหล่งน้ำ การป้องกันไฟป่าและสัตว์เลี้ยงบุกรุกมีการจัดทำรั้วไม้ไผ่แบ่งเขตการเลี้ยงวัว อีกทั้งยังได้มอบหมายเกษตรกรเจ้าของไร่ที่มีเขตติดต่อบริเวณโครงการฯ ช่วยดูแลเป็นหูเป็นตาอีกด้วย
สำหรับการป้องกันไฟป่า ชุมชนจัดทำแนวกันไฟขนาดกว้าง 8-10 เมตร รอบแปลงปลูกป่าที่เชื่อมต่อกับป่าธรรมชาติ ระยะทาง 8 กิโลเมตร กำจัดเศษซากวัชพืชที่ติดไฟได้ง่าย เช่น ใบไม้ หญ้า วัชพืชขนาดเล็กให้โล่งเตียน
การติดตามผลปลูกแปลงที่ 1 (65 ไร่) ปลูกเมื่อปี 2564 ครั้งที่ 2 : กรกฎาคม 2565
จากผลการติดตามพื้นที่ปลูกของสมาชิกชุมชนร่วมกับกรมป่าไม้รายงานผลว่า ต้นไม้มีอัตรารอดตาย 95 % (โดยชุมชนมีการติดตามต้นไม้ที่ตายและปลูกทดแทนในช่วงฤดูฝน) เฉลี่ยความสูง 60 ซม. ประเภทต้นไม้ที่เติบโตได้ดี ได้แก่ งิ้วแดง มะค่าโมง ยางนา สัก ตะเคียนทอง ประดู่ มะไฟ มะม่วง แปลงปลูกนี้ไม่มีการบุกรุกของสัตว์ป่า แต่ในช่วงเดือนธันวาคม – เมษายน ซึ่งเป็นช่วงฤดูแล้ง กล้าไม้ที่ปลูกบางชนิด เช่น มะค่าโมง สักจะทิ้งใบตามธรรมชาติทำให้กล้าไม้หยุดการเจริญเติบโตและตายบ้าง แต่อย่างไรก็ตามสมาชิกชุมชนจะติดตามดูแลและปลูกทดแทนต้นไม้ที่ตายเสมอ เพื่อให้เป้าหมายอัตรารอดเท่ากับ 100%
การติดตามผลปลูกแปลงที่ 1 (65 ไร่) ปลูกเมื่อปี 2564 ครั้งที่ 3 : กรกฎาคม 2566
การติดตามผลปลูกในครั้งนี้ ได้มีการลงพื้นที่สำรวจโดย บริษัทเดอะ เน็กซ์ ฟอเร็ซ จำกัด ( The Next Forest ) ธุรกิจเพื่อสังคมผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูป่า ให้ดำเนินการติดตามและประเมินผลการปลูกป่าแห่งนี้ จากผลการสำรวจ พบว่าต้นไม้ที่ปลูกมีอัตราการรอดชีวิต 96.83% ความหนาแน่นประมาณ 320 ต้น/ไร่ สาเหตุที่สำรวจพบเกิน 200 ต้น/ไร่ เนื่องจากพื้นที่ทั้งหมด 80 ไร่นั้น มีการเตรียมพื้นที่ปลูกแบบขั้นบันได ทำให้ชาวบ้านปลูกต้นไม้ในระยะใกล้กันบนขั้นบันได ประกอบกับความชันของพื้นที่ในบางบริเวณซึ่งอาจเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายกับคนที่นำต้นไม้ไปปลูก เช่น บริเวณเชิงเขา ทำให้ชาวบ้านเลือกปลูกในบริเวณที่สามารถปลูกได้ ความหนาแน่นที่สำรวจพบในจุดที่วางแปลงสำรวจจึงเกิน 200 ต้น/ไร่ (ในสภาพพื้นที่จริงมีการปลูกกล้าไม้ความหนาแน่นประมาณ 330 ต้น/ไร่ ปัจจุบันรอดชีวิต 320 ต้น/ไร่ โดยเฉลี่ย) โดยชนิดที่มีการสำรวจพบจากจำนวนมากไปหาน้อย ได้แก่ สัก ยางนา มะค่าโมง ประดู่ งิ้วแดง มะขามป้อม ต้นแหน เสี้ยวดอกขาว มะขาม ตะแบก สมอพิเภก มะม่วงหิมพานต์ ตะเคียน มะม่วงเขียวเสวย มะไฟ พะยูง รัง ขี้เหล็กบ้าน ต้นไม้มีความสูงเฉลี่ย 80- 150 เซนติเมตร และมีต้นไม้บางประเภท เช่น มะค่าโมง เสี้ยวดอกขาว ยางนา มะขามป้อม ประดู่ สูงมากกว่า 2.5 เมตร และเฉลี่ยความโต (เส้นรอบวง) 4.5 เซนติเมตร
ทั้งนี้ ในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา มีไฟป่าลามเข้าพื้นที่ปลูก ส่งผลให้ต้นไม้ถูกทำลายไปประมาณ 20 % ซึ่งชุมชนได้มีการจัดการปลูกซ่อมทดแทนในช่วงต้นฝนก่อนทีมสำรวจลงพื้นที่ทำให้อัตราการรอดตายมากถึง 97 %
สำหรับภาพรวมการดูแลรักษาต้นไม้ในผืนแปลงปลูกของชุมชน จากรายงานพบว่า การบำรุงรักษาต้นไม้หลังจากการปลูกสมาชิกในชุมชนได้ช่วยกันนำขวดน้ำผูกติดกับต้นไม้แต่ละต้นที่ปลูก สำหรับนำน้ำมาใส่ในขวดและให้น้ำค่อย ๆ หยดลงบริเวณโคนรากของต้นไม้ในช่วงฤดูแล้งหรือฝนทิ้งช่วงเพื่อส่งเสริมให้ต้นไม้ที่ปลูกรอดชีวิต และสมาชิกในชุมชนที่เข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชุมชนได้ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาตรวจตราพื้นที่และคอยแจ้งต่อผู้นำชุมชนหากพบต้นไม้ที่ปลูกตาย รวมถึงมีการตัดแต่งต้นไม้บางครั้งเพื่อให้ลำต้นตั้งตรงโดยเฉพาะต้นสัก
มีการกำจัดวัชพืชครั้งล่าสุดในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 โดยการใช้เครื่องตัดหญ้าทยอยตัดทีละโซนเนื่องจากพื้นที่ปลูกมีขนาดใหญ่ ขณะที่เข้าไปติดตามผลพบว่ามีวัชพืชขึ้นใหม่แต่ไม่สูงมากเนื่องจากฝนตกทำให้วัชพืชโตเร็ว
การจัดหาแหล่งน้ำ มีแทงก์น้ำคอนกรีตติดตั้งในแปลงปลูกความจุบ่อละ 2,000 ลิตร ซึ่งต้องใช้เครื่องสูบน้ำประเภทใช้น้ำมันเบนซินสูบจากแหล่งน้ำขึ้นมากักเก็บไว้ในแทงก์คอนกรีต และใช้น้ำจากแทงก์นี้เพื่อนำไปใส่ในขวดน้ำที่ผูกติดกับต้นไม้แต่ละต้น แต่ ณ ปัจจุบันยังไม่มีการวางระบบน้ำหยดเนื่องจากปริมาณน้ำมีไม่เพียงพอ
การจัดทำแนวกันไฟ มีการจัดทำแนวกันไฟรอบแปลงปลูกแต่ละโซนก่อนเข้าสู่ฤดูแล้งหรือช่วงที่อาจมีการเผาไร่เพื่อทำการเกษตร (ประมาณช่วงเดือนมีนาคม ถึงเมษายน) แต่ทั้งนี้ ในช่วงฤดูแล้งปี 2566 บางพื้นที่ยังถูกไฟลุกลามเข้ามาในพื้นที่ ส่งผลให้ต้นไม้ที่ปลูกบางต้นตาย
สำหรับการป้องกันสัตว์บุกรุกนั้น พื้นที่แปลงปลูกแต่ละโซนมีการสร้างรั้วล้อมรอบพื้นที่เพื่อป้องกันปศุสัตว์เข้ามารุกรานในพื้นที่ ซึ่งในปัจจุบันไม่มีการเลี้ยงปศุสัตว์ในบริเวณแปลงปลูกแล้ว
การป้องกันการบุกรุกพื้นที่เขตการปลูก เนื่องจากเส้นทางที่ใช้เดินทางเข้าไปยังพื้นที่แปลงปลูก เป็นเส้นทางหลักที่ผู้อาศัยในชุมชนบ้านนาหวายเดินทางเข้าไปยังแปลงเกษตรของแต่ละคน ดังนั้น คนในชุมชนที่ใช้เส้นทางสัญจรผ่านไปมาเพื่อเข้าไปทำการเกษตรหรือหาของป่าจะช่วยกันตรวจตรา ดูแล หากพบความผิดปกติเกิดขึ้นในพื้นที่ รวมถึงช่วยสอดส่องดูแลไม่ให้บุคคลต่างถิ่นเข้ามารุกรานในพื้นที่ป่าที่คนในชุมชนช่วยกันอนุรักษ์
การปลูกต้นไม้ทดแทนต้นไม้ที่ตาย ผู้นำชุมชนและสมาชิกในชุมชนได้จัดเตรียมกล้าไม้สำหรับปลูกเสริมทดแทนต้นที่ตายตั้งแต่เดือนกรกฎาคม โดยกล้าไม้ที่นำมาปลูกคือต้นยางนา และได้ดำเนินการปลูกทดแทนภายหลังจากการกำจัดวัชพืชในช่วงเดือนกันยายน 2566 นี้
รายละเอียดชุมชนและสิ่งแวดล้อมโดยรอบ สมาชิกในชุมชนมีความเข้าใจและยินดีอย่างยิ่งในการฟื้นคืนผืนป่า ซึ่งในอดีตพื้นที่บริเวณแปลงปลูกเคยเป็นพื้นที่ทำการเกษตรของคนในชุมชน แต่ด้วยทุกคนเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ป่าซึ่งจะทำให้คนในชุมชนได้รับประโยชน์จากป่าไปอย่างยาวนานและยั่งยืน ทั้งได้อากาศที่บริสุทธิ์ มีพื้นที่ป่าช่วยในการกักเก็บและชะลอน้ำทำให้มีน้ำในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ รวมไปถึงการเข้าไปหาของป่าเพื่อนำมาบริโภคและจำหน่ายของคนในชุมชน
การติดตามผลปลูกแปลงที่ 1 (80 ไร่) ปลูกเมื่อปี 2564 ครั้งที่ 4 : ระหว่างเดือนสิงหาคม - ตุลาคม 2567
การติดตามผลปลูกในปี 2567 นี้ โครงการฯ ได้มอบหมายให้ทีมงานคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำทีมโดย ดร.นรินธร จำวงษ์ รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยป่าไม้ ลงพื้นที่พร้อมกับชุมชนและกรมป่าไม้ สำรวจแปลงปลูก เพื่อรายงานผลลัพธ์การติดตามผลปลูกที่ใช้เทคโนโลยีการบินโดรนบนพื้นที่จริง พบว่า ต้นไม้ที่ปลูกมีอัตราการเจริญเติบโตที่ดี เฉลี่ยความสูงของต้นไม้ 1.85 เมตร บางต้นสูงถึง 3 เมตร สัดส่วนต้นไม้ที่รอด 97 % (ไม่นับรวมกล้าที่ปลูกซ่อม) ทั้งนี้ เมื่อมีการปลูกซ่อม สัดส่วนต้นไม้ที่รอดมีอัตรา 99.5% เฉลี่ยความโตของต้นไม้ (เส้นรอบวง) 9 -12 เซนติเมตร ประเภทต้นไม้ที่เติบโตได้ดี ได้แก่ พะยูง มะค่าโมง ยางนา สัก มะม่วง มะม่วงหิมพานต์
ทั้งนี้ การเติบโตของต้นไม้มีการเจริญเติบโตอย่างดี เนื่องด้วยมีการดูแลอย่างดีจากชุมชนเข้มแข็ง นับว่าประสบความสำเร็จอย่างดี ต้นไม้ที่ปลูกในแปลงปลูกที่เดิมเป็นพื้นที่ว่าง มีการเติบโตเชื่อมโยงเป็นผืนป่าเดียวกันกับผืนป่าดั้งเดิมรอบข้าง ซึ่งต่อไปนี้ปัญหาต้นไม้ตายจากความแล้งหรือช่วงขาดฝนนานๆ จะไม่ค่อยเกิดขึ้นแล้วเนื่องจากต้นไม้ตั้งตัวและเติบโตได้เองตามธรรรมชาติ และปัญหาที่จะมีผลให้ต้นไม้ตายมีเพียงการถูกทำลายด้วยไฟป่าเท่านั้นซึ่งจะรวมถึงต้นไม้ดั้งเดิมในพื้นที่รอบๆด้วยความเอาใจใส่ของชุมชนจึงมุ่งดูแลและป้องกันไฟป่าจึงเป็นหลักของการดูแลต้นไม้ให้เติบโตอย่างปลอดภัยและยั่งยืน
สำหรับภาพรวมของการดูแลแปลงปลูกโดยสมาชิกชุมชน เพื่อเป้าหมายให้ต้นไม้เติบโตและมีอัตรารอด 100 % มีการดำเนินการในรายละเอียดต่างๆ ดังนี้
การบำรุงรักษาต้นไม้
การบำรุงต้นไม้หลังการปลูก หลังจากการปลูกได้ระยะหนึ่ง จะเริ่มมีการใส่ปุ๋ยบำรุงต้นกล้า โดยใส่ปุ๋ยยูเรีย สูตร 46-0-0 เพื่อเพิ่มธาตุอาหารที่จำเป็นให้แก่ใบในช่วงแรก จะใส่ในปริมาณครึ่งกำมือ/ต้น บริเวณรอบโคนต้นไม้ พร้อมทั้งมีการสำรวจการรอดตายด้วย และกำหนดให้มีการใส่ปุ๋ยปีละ 1 -2 ครั้งก่อนและหลังฤดูฝน
การกำจัดวัชพืช
การกำจัดวัชพืชจะมี 2 แบบคือ 1.การกำจัดวัชพืชทั้งแปลงปลูก และ 2. การถางวัชพืชรอบ ๆ โคนต้นหรือถางเจาะตามแนวปลูก การกำจัดวัชพืชจะเป็นการใช้แรงงานคนเป็นส่วนใหญ่หรือเครื่องตัดหญ้าในพื้นที่ที่สามารถเข้าได้สะดวก ความถี่ในการเข้ากำจัดวัชพืชคือปีละ 2 ครั้ง คือช่วงปลายฤดูฝนและปลายฤดูแล้ง โดยในแต่ละรอบการเข้ากำจัดวัชพืชจะใช้แรงงานคนประมาณ 20 คน ระยะเวลาทำงานประมาณ 5 วัน จึงจะเคลียวัชพืชทุกแปลงได้ทั้งหมด
การจัดหาแหล่งน้ำ
ในช่วงแรกหลังจากที่ปลูกเสร็จมีการทำระบบน้ำหยดจากขวดน้ำ ขนาดประมาณ 1.5-2.0 ลิตร โดยการเติมน้ำให้เต็มขวด จากนั้นปักหัวขวดลงดินเพื่อให้น้ำค่อย ๆ หยดออก โดยน้ำ 1 ขวดสามารถอยู่ได้หลายอาทิตย์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศด้วย แต่เนื่องจากพื้นที่เป็นเขาสูงและเป็นร่องน้ำและมีปริมาณฝนที่ตกเพียงพอ ทำให้ปัญหาเรื่องน้ำไม่ค่อยน่ากังวลนัก มีการทำแทงค์เก็บน้ำเผื่อในกรณีที่เกิดปัญหาแล้งจัดจริง ๆ ก็สามารถมีน้ำเพียงพอในการให้กับต้นไม้ได้
การจัดทำแนวกันไฟ
แนวกันไฟรอบ ๆ แปลงจะเป็นแนวถนนที่อยู่รอบแปลง เนื่องจากเป็นทางสัญจรของรถชาวบ้านโดยปกติอยู่แล้ว การทำแนวกันไฟจะดำเนินการทุกปี ปีละ 2 ครั้ง โดยพิจารณาจากปริมาณเชื้อเพลิงที่สะสม ดำเนินการโดยชาวบ้านในพื้นที่ ถนนรอบ ๆ แปลงหรือแนวกันไฟมีความกว้างประมาณ 4-5 เมตร รถยนต์สามารถสวนกันได้ในบางช่วง
การป้องกันสัตว์บุกรุก
ในพื้นที่ไม่พบร่องรอยของสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น วัว ควาย เนื่องจากเป็นพื้นที่สูงมาก เดินทางลำบาก ชาวบ้านจึงไม่นิยมนำสัตว์ขึ้นมาเลี้ยงไว้ข้างบน ไม่พบการทำรั้วหรือแนวขอบเขต แต่ทางชาวบ้านและกรมป่าไม้มีการประชาสัมพันธ์กับชาวบ้านโดยรอบว่ามีโครงการปลูกป่าในพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านรับทราบกันทั่วถึง ทำให้ลดปัญหาการบุกรุกของสัตว์ได้
การป้องกันการบุกรุกพื้นที่
ทางผู้รับผิดชอบโครงการ กรมป่าไม้และชาวบ้านที่รับผิดชอบพื้นที่มีการประชาสัมพันธ์กับชุมชนรอบพื้นที่ โดยผ่านทางผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน โดยแจ้งว่ามีโครงการปลูกป่าในพื้นที่ ทำให้มีการรับทราบกันโดยทั่วถึงและดูจากสภาพพื้นที่รอบ ๆ แปลงส่วนใหญ่เป็นเขตป่าชุมชน ซึ่งถ้ามีการเข้ามาบุกรุกพื้นที่จะถูกดำเนินคดี มีโทษจำคุกและโทษปรับอย่างชัดเจนระบุไว้ในกฎหมายอยู่แล้ว
การปลูกต้นไม้ทดแทนต้นไม้ที่ตาย
การปลูกต้นไม้ทดแทนต้นที่ตายจะปลูกซ่อมในช่วงต้นฤดูฝน ตั้งแต่เดือน มิถุนายน - กันยายน ซึ่งจะทำควบคู่กับการกำจัดวัชพืช การหากล้าไม้มาปลูกจะเป็นการขอสนับสนุนกล้าไม้จากกรมป่าไม้ โดยชาวบ้านเป็นผู้ปลูกซ่อม
---------------------------------------------------------------------------------------------
“ พื้นที่แปลงปลูกที่ 2 ”
พื้นที่ปลูก : 20 ไร่ (ได้รับการสนับสนุนพื้นที่ปลูก จำนวน 15.5 ไร่ แต่ชุมชนพร้อมปลูกเต็มจำนวนพื้นที่)
สภาพป่าเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมกับการเพาะปลูกและคนในชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านการรักษาดูแลรักษาป่า
พันธุ์ไม้ที่ต้องการจะปลูก :
- ไม้ป่ายืนต้น ได้แก่ ไม้ประดู่ ไม้มะค่าโมง ไม้พยุง งิ้วดอกแดง ไม้สัก มะขามป้อม ต๋าว
- พืชวนเกษตร และ ไม้ผล ประเภทต้นไม้ ได้แก่ มะม่วง มะขามเปรี้ยวฝักยักษ์ มะม่วงหิมพานต์ ไผ่ซางหม่น เงาะ ลิ้นจี่ ลาไย อโวคาโด้ กาแฟ
_____________________________________________________________
เนื้อที่ป่าชุมชน : 520 ไร่
สถานะป่า : ป่าชุมชนตามพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562
ระยะทางจากกุรงเทพ : 616 กิโลเมตร
ระยะเวลาเดินทางจากกรุงเทพ : 9 ชั่วโมง 20 นาที
---------------------------------------------------------------------------------------------
การสนับสนุนจากองค์กรภาคธุรกิจ
ป่าชุมชนบ้านนาหวาย หมู่ 8 ต.บ่อแก้ว อ.นาหมื่น จ.น่าน ได้รับการสนับสนุนทุนเพื่อปลูกต้นไม้จำนวน 15.5 ไร่ (แปลงที่ 2) จากบริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด (The Mall) โดยทำงานร่วมกับคณะกรรมการป่าชุมชนบ้านนาหวายซึ่งมีผู้ใหญ่สมหวัง แสงวันเพ็ญ ประธานคณะกรรมการป่าชุมชนฯ และสมาชิก ร่วมปลูกป่าและติดตามรายงานผลการเติมโตของพื้นป่าแห่งนี้ตลอดระยะเวลา 6 ปี โดยมีผลลัพธ์ต้นไม้มีอัตราการรอดตาย 100 % ตามเป้าหมายโครงการฯ
ทั้งนี้ การสนับสนุนการปลูกต้นไม้ในพื้นที่ป่าชุมชนแห่งของ บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด มีพื้นที่ในแปลงปลูกที่ 1 และแปลงปลูกที่ 2 รวม 30.5 ไร่
เดอะมอลล์ กรุ๊ป ลงพื้นที่ปลูกต้นไม้ให้ได้ผืนป่า 30.5 ไร่ ณ ป่าชุมชนบ้านนาหวาย อ.นาหมื่อน จ.น่าน ในวันโอโซนโลก
คุณณัฐศมน วงศ์กิตติพัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่การตลาด พร้อมทีมผู้บริหารและพนักงาน บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ร่วมจัดกิจกรรม “ปลูกต้นไม้ให้ได้ผืนป่า” กับพันธมิตรโครงการ Care the Wild “ปลูกป้อง” Plant & Protect เนื่องในวันโอโซนโลกเมื่อ 16 กันยายน 2565 ที่ผ่าน โดยมี คุณนงรัก งามวิทย์โรจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุณกิตติพร ดุลนกิจ ผู้อำนวยการส่วนภาคีเครือข่ายป่าชุมชน สำนักจัดการป่าชุมชน และทีมงานในพื้นที่ของกรมป่าไม้ พร้อมด้วยทีม “ปลูกป้อง”ชุมชนเข้มแข็งบ้านนาหวาย อ.นาหมื่น จ.น่าน ซึ่งมีคุณสมหวัง แสงวันเพ็ญ เป็นประธานคณะกรรมการป่าชุมชนฯ เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 80 คน
คุณกิตติพร ดุลนกิจ ผู้อำนวยการส่วนภาคีเครือข่ายป่าชุมชน กรมป่าไม้ร่วมปลูกต้นไม้ผล
ร่วมกับ "ทีมปลูกป้อง" ชาวชุมชนบ้านนาหวาย ที่จะดูแลผืนป่าจ่อเนื่อง 10 ปี ให้ต้นไม้รอดตาย 100%
โครงการ Care the Wild โดยคุณนงรัก งามวิทย์โรจน์ ผอ.ฝ่ายพัฒนาเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มอบพันธ์กล้าไม้ผล
(ลิ้นจี่ ลำไย มะม่วง อโวคาโด้ ฯลฯ) แก่ชุมชนบ้านนาหวาย เพื่อนำไปปลูกเสริมในแปลงปลูกป่า เป็นแหล่งอาหาร แก่ประธานกรรมการป่าชุมชนบ้านนาหวาย สมหวัง แสงวันเพ็ญ
กิจกรรม ปลูกต้นไม้ ให้ได้ผืนป่า ป่าชุมชนบ้านนาหวาย จัดเวทีเล่าขานเรื่องราวการปลูกป่าและการดูแลผืนป่าของชุมชนเข้มแข็ง
โดยมี คุณศิริพร กันธิยะ นายอำเภอนาหมื่น จ.น่าน ร่วมให้ข้อมูล พื้นที่ปลูกและการสร้างฝ่ายทดน้ำของชุมชน
เดอะมอลล์ กรุ๊ป เดินหน้าโครงการ THE MALL GO GREEN มุ่งสู่เป็นห้างสรรพสินค้าสีเขียว ด้วยเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ 20 - 25% ภายในปี 2573 เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แห่งการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน จึงสานต่อโครงการ CARE THE WILD “ปลูกป้อง” PLANT & PROTECT” โดยสนับสนุนการปลูกต้นไม้ 30.5 ไร่ รวม 6,100 ต้น ซึ่งจะช่วยดูดซับปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 54,900 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า
การติดตามผลปลูกแปลงที่ 2 (15.5 ไร่) ปลูกเมื่อปี 2565 ครั้งที่ 1 : กรกฎาคม 2566
การติดตามผลปลูกในครั้งนี้ ได้มีการลงพื้นที่สำรวจโดย บริษัทเดอะ เน็กซ์ ฟอเร็ซ จำกัด ( The Next Forest ) ธุรกิจเพื่อสังคมผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูป่า ให้ดำเนินการติดตามและประเมินผลการปลูกป่าแห่งนี้ จากผลการสำรวจ พบว่า ต้นไม้มีการเติบโตเฉลี่ยความสูง 90 เซนติเมตร อัตราการรอดตาย 90% มีความหนาแน่นต้นไม้ 300 ต้น/ ไร่ (สาเหตุที่สำรวจพบเกิน 200 ต้น/ไร่ เนื่องจากพื้นที่ทั้งหมด 20 ไร่นั้น มีการเตรียมพื้นที่ปลูกแบบขั้นบันได ทำให้ชาวบ้านปลูกต้นไม้ในระยะใกล้กันบนขั้นบันได ประกอบกับ ชาวบ้านเลือกปลูกในบริเวณที่สามารถปลูกได้ ความหนาแน่นที่สำรวจพบในจุดที่วางแปลงสำรวจจึงเกิน 200 ต้น/ไร่)
สำหรับต้นไม้ที่เติบโตดี ได้แก่ งิ้วแดง มะค่าโมง ยางนา สัก มะม่วง มะม่วงหิมพานต์ พะยูง มะขาม ลำไย ลิ้นจี่
การติดตามผลปลูกแปลงที่ 2 (15.5 ไร่) ปลูกเมื่อปี 2565 ครั้งที่ 2 : ระหว่างเดือนสิงหาคม – ตุลาคม 2567
การติดตามผลปลูกในปี 2567 นี้ โครงการฯ ได้มอบหมายให้ทีมงานคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำทีมโดย ดร.นรินธร จำวงษ์ รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยป่าไม้ ลงพื้นที่พร้อมกับชุมชนและกรมป่าไม้ สำรวจแปลงปลูก เพื่อรายงานผลลัพธ์การติดตามผลปลูกที่ใช้เทคโนโลยีการบินโดรนบนพื้นที่จริง พบว่า ต้นไม้ที่ปลูกมีอัตราการเจริญเติบโตที่ดี เฉลี่ยความสูงของต้นไม้ 0.98 เซนติเมตร – 1.5 เมตร สัดส่วนต้นไม้ที่รอด : 97 % (ไม่นับรวมกล้าที่ปลูกซ่อม) เมื่อมีการปลูกซ่อม สัดส่วนต้นไม้ที่รอดมีอัตรา 99.5% เฉลี่ยความโตของต้นไม้ (เส้นรอบวง) ประมาณ 6 เซนติเมตร ประเภทต้นไม้ที่เติบโตได้ดี ได้แก่ สัก พะยูง มะค่าโมง ยางนา
ทั้งนี้ การเติบโตของต้นไม้มีการเจริญเติบโตอย่างดี และสามารถเติบโตได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดมากเท่าตอนเริ่มต้นปลูกใหม่อีกต่อไป รวมทั้งในช่วงที่ผ่านมามีฝนค่อนข้างมากต่อเนื่องส่งผลให้ต้นไม้แข็งแรง ซึ่งการดูแลของชุมชนจะมุ่งเน้นไปที่การป้องกันไฟป่า ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการตายของต้นไม้
---------------------------------------------------------------------------------------------
(ผู้ที่สนใจในการร่วมสร้างผืนป่าร่วมกับโครงการ Care the Wild “ปลูกป้อง” สร้างป่าด้วยใจ เพื่อสร้างสมดุลในระบบนิเวศ สามารถติดต่อได้ที่ ของเว็บไซต์ SET Social Impact ร่วมเป็นสื่อกลางในการสร้างป่าเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี)