ปฏิบัติการล่องหนคุณขยะ: เขาเอาขยะไปทำอะไร?

\\

 

ขยะพลาสติกแต่ละประเภททำจากพลาสติกต่างชนิด ดังนั้นเราควรแยกตามประเภทก่อนทิ้งลงถังรีไซเคิลสีเหลือง หรือขาย เพื่อให้พลาสติกได้ถูกนำไปรีไซเคิลเป็นสิ่งของชิ้นใหม่ได้ง่ายขึ้นตามแต่ละประเภท ส่วนบางประเภทที่ไม่สามารถเก็บไว้ไปลงถังเหลืองเพื่อรีไซเคิล หรือขายได้ เรามีวิธีทำให้ขยะเหล่านี้ไปอัพไซเคิลเกิดเป็นวัสดุใหม่ หรือก่อให้เกิดประโยชน์อย่างอื่นได้ 

 

วันนี้เราจะพาทุกคนมาดูกันว่า ขยะแต่ละชนิดที่เราทิ้ง ขาย หรือบริจาคสุดท้ายแล้ว เขานำไปทำอะไรได้บ้าง

 

ขยะพลาสติกที่รีไซเคิลได้

 

ขยะขวดขุ่น HDPE ขายให้ “โรงรับซื้อขยะ”

ขยะพลาสติกจำพวกขวดขุ่น HDPE  ที่เราทำความ และแยกฝา/เกลียว/ฉลากไว้เรียบร้อย เป็นขยะที่ซาเล้งและโรงรับซื้อขยะต้องการ เพราะมีราคา สามารถส่งไปให้โรงงานรีไซเคิลได้ โดยกระบวนการรีไซเคิลนั้นมีหลากหลาย หนึ่งในนั้นคือการแปรรูปขยะให้กลับสู่สถานะวัตถุดิบตั้งต้นหรือเม็ดพลาสติก  เริ่มจากการทำความสะอาด อบแห้ง บด หลอม และตัดออกมาเป็นเม็ดพลาสติกที่จะถูกส่งไปยังโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสติกอีกครั้ง อย่างเช่น ถัง กะละมัง เก้าอี้ ได้

 

ขยะขวด PET ขายให้ “โรงรับซื้อขยะ” หรือ บริจาคให้ “วัดจากแดง” 

ขยะขวด PET สามารถขายให้ซาเล้งและโรงรับซื้อได้ เพราะเป็นที่ต้องการ สามารถแปรรูปเป็นเม็ดพลาสติก หรือรีไซเคิลเป็นเส้นใยโพลีเอสเตอร์สังเคราะห์ได้ ด้วยเหตุนี้ อีกที่ที่เราสามารถส่งขยะขวด PET คือวัดจากแดง ทางวัดจะนำขวด PET มาแปรรูปเป็นเส้นใยโพลีเอสเตอร์สังเคราะห์ ผสมกับเส้นใยจากฝ้าย ทอเป็นผ้าไตรจีวร โดยขวด PET 15 ขวด ทอผ้าไตรได้ 1 ผืน ก่อนส่งก็ควรล้าง ผึ่งให้แห้ง แยกฝา/เกลียว/ฉลาก ออกก่อนเช่นกัน 

 

ขยะกล่องนม บริจาคให้ “วัดจากแดง” 

ขยะกล่องนม กล่องน้ำผลไม้ก็สามารถส่งไปให้วัดจากแดงรีไซเคิลทำมาเป็นหลังคา หรือฝาบ้านได้ กระบวนการคือการนำไปแยกส่วนทั้ง 3 ของกล่องนมทั้งกระดาษ พลาสติก และฟอยล์ออกจากกันก่อน และนำพลาสติกกับฟอยล์มาอัดเป็นหลังคา หรือฝาบ้านที่ทนความชื้น ทนแดด ทนฝนได้ แต่ถ้าเป็นแผ่นพื้นที่ใช้ภายในบ้าน ก็ไม่จำเป็นต้องแยกทั้ง 3 ชิ้นส่วน สามารถนำไปแปรรูปทำได้เลย ก่อนส่งให้วัดจากแดงก็ควรเทน้ำออก แกะกล่องให้กลายเป็นกระดาษผืนเดียว ล้างทำความสะอาด และตากให้แห้งด้วย 

 

จัดส่งให้วัดจากแดงที่

พระมหาประนอม ธมฺมาลงฺ กาโร ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดจากแดง 

ซอย วัดจากแดง ตำบล ทรงคนอง อำเภอ พระประแดง สมุทรปราการ 10130

 

ขยะพลาสติกยืด ส่งไปโครงการ “วน” 

ขยะถุงช้อปปิ้ง ฟิล์มพลาสติก บับเบิ้ลกันกระแทก ซองไปรษณีย์พลาสติก หรือขยะพลาสติกอะไรก็แล้วแต่ที่ยืดได้ มีวิธีการรีไซเคิลเฉพาะตัว ไม่สามารถรีไซเคิลได้ด้วยวิธีทั่วไป อีกหนึ่งวิธีที่เราจะรีไซเคิลขยะเหล่านี้ได้คือการส่งต่อไปให้กับโครงการ "วน" เพื่อรีไซเคิลกลายเป็นถุงใหม่ ก่อนส่งควรแกะสติกเกอร์และเทปกาวออก ล้าง และผึ่งให้แห้ง และมัดรวมเป็นก้อนขนาดเล็ก 

 

จัดส่งให้โครงการวันที่

 “โครงการ วน” บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) 42/174 หมู่ 5 ต.ไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม 73210


ขยะพลาสติกที่รีไซเคิลไม่ได้ แต่นำไปทำประโยชน์ได้ 

ขยะถุงหนม ถุงเติม ส่งไป “วิสาหกิจชุมชนแนวร่วมปฏิวัติขยะ สุพรรณบุรี”

ขยะถุงหนม ถุงเติม ที่ทำจากพลาสติกหลายชั้นไม่นิยมนำมารีไซเคิล อีกช่องทางในการกำจัดขยะเหล่านี้คือการส่งไปให้วิสาหกิจชุมชนแนวร่วมปฏิวัติขยะ สุพรรณบุรี พวกเขาจะนำขยะถุงหนม ถุงเติมไปไป บด อัด และทำเป็นอิฐบล็อค และอิฐมวลเบา แต่ก่อนส่งไปก็ควรแยกชนิดถุง เทเศษอาหาร ทำความสะอาด กรีด ล้าง ตากด้วย 

 

ขยะถุงแกง ถุงพลาสติก หลอดพลาสติก ส่งไป “วิสาหกิจชุมชนแนวร่วมปฏิวัติขยะ สุพรรณบุรี”

นอกจากนี้ วิสาหกิจชุมชนแนวร่วมปฏิวัติขยะ สุพรรณบุรียังรับพวกขยะถุงแกง ถุงพลาสติก หลอดพลาสติกที่ใช้แล้ว นำมาผ่านกระบวนการไพโรไลซิส แปรสภาพเป็นน้ำมันเบนซินและดีเซล มอบให้วัดและชาวบ้านใช้ในการเกษตร โดยถุงพลาสติกประมาณ 2 กิโลกรัม สามารถแปรรูปเป็นน้ำมันได้ประมาณ 1 ลิตร ก่อนส่งไปควรแยกชนิดขยะ และล้าง และผึ่งให้แห้งเช่นกัน 

 

จัดส่งให้แนวร่วมปฏิวัติขยะ สุพรรณบุรีที่

229 หมู่ 7  ต.บางปลาม้า อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี 72150

 

อย่างไรก็ตาม หนทางการแก้ปัญหาขยะที่ดีที่สุดคือการลดการสร้างขยะตั้งแต่ต้น เพราะ ปัจจุบันมีขยะกว่า 7.6 ล้านตัน หรือ 27% ในไทยที่ไม่ได้ถูกกำจัดอย่างถูกต้อง และมีขยะพลาสติกเพียง 5 แสนตันจาก 2 ล้านตันที่ถูกรีไซเคิล จนขยะบนบกลงไปจบอยู่ในทะเลมากมาย ทำให้ไทยมีปัญหาขยะเป็นอันดับที่ 6 ของโลก 

ดังนั้น ก่อนเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ใด ๆ เราอาจจะต้องรู้ว่าควรนำไปกำจัดอย่างไรให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อไม่ให้ขยะเหล่านั้นไปตกค้างสร้างความเสียดายต่อสิ่งแวดล้อม

 

ข้อมูล

 

https://www.bltbangkok.com/news/4878/ - BitBangkok: “ไทยติดกลุ่มผู้นำเข้าขยะพลาสติกสูงสุดในโลก เผยแต่ละปีคนไทยทิ้งขยะกว่า 27 ล้านตัน” 

https://www.facebook.com/industryprmoi/posts/784127365056204/ - กระทรวงอุตสาหกรรม: “การรีไซเคิลพลาสติกชนิดต่างๆ” 

https://prodigy.co.th/th/การรีไซเคิลพลาสติก/ - Prodigy Public Company Limited: “การรีไซเคิลพลาสติก” 

https://www.facebook.com/wontogether - โครงการวน 
https://www.facebook.com/watch/garbagegold.supanburi/ - แนวร่วมปฏิวัติขยะ สุพรรณบุรี

 
 

 

 

 

 

ผู้เข้าชม  7502