ปฏิบัติการล่องหนขยะ : มีอะไรในซูเปอร์มาร์เก็ตบ้าง?

 

ปฏิบัติการล่องหนขยะ : มีอะไรในซูเปอร์มาร์เก็ตบ้าง? 

 

ขยะพลาสติกอยู่รอบตัวเรา   แค่เราเดินเข้าซูเปอร์มาร์เก็ต หรือร้านสะดวกซื้อทั่วไป เราก็จะเจอผลิตภัณฑ์ที่หีบห่อทำจากพลาสติกนับไม่ถ้วนแล้ว อย่างไรก็ตาม การที่ขยะเหล่านี้ทำจากพลาสติกเหมือนกันไม่ได้แปลว่ามันสามารถรีไซเคิลได้เหมือนกันหมด 

เราควรแยกขยะพลาสติกต่างชนิดออกจากกันก่อนทิ้ง เพื่อให้ง่ายต่อการนำขยะไปรีไซเคิลตามประเภท และจัดการอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป 

 

วิธีดูชนิดของพลาสติก และดูว่ามันรีไซเคิลได้หรือไม่นั้น ก็ไม่ยาก แค่เรามองหาสัญลักษณ์รีไซเคิลที่คล้ายกับลูกศรสามเหลี่ยมตามฉลาก หรือก้นบรรจุภัณฑ์ และดูที่หมายเลข แค่นี้เราก็จัดการทิ้งมันตามประเภทได้แล้ว (แต่ละตัวเลขแสดงถึงประเภทของพลาสติกที่มีด้วยกันกว่า 7 ประเภท) 

 

แล้วในซูเปอร์มาร์เก็ตมีพลาสติกชนิดใดบ้างล่ะ? วันนี้เราจะพาทุกคนไปดูกัน และมาดูด้วยว่าพลาสติกเหล่านี้รีไซเคิลมาเป็นอะไรได้บ้าง 

 

 

1.โซนผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกาย

ประกอบไปด้วยแชมพู ครีมนวด สบู่เหลว โฟมล้างหน้า แป้ง และอื่น ๆ บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่พบในโซนนี้จะมี

- ขวดพลาสติก HDPE หมายเลข 2: มีความหนาแน่น แข็งแรง ทนกรดและด่าง บรรจุพวกแชมพู ครีมนวด สบู่เหลว แป้ง จุดสังเกตคือจะเป็นขวดขุ่นไม่ใส ส่งไปรีไซเคิลเป็นถัง เก้าอี้ เครื่องเล่นเด็ก ไม้เทียม หรือบรรจุภัณฑ์ HDPE แบบเดิมอีกได้

 

- ขวดพลาสติก PP หมายเลข 5: มีน้ำหนักเบาที่สุด แต่แข็งแรงทนต่อแรงกระแทกและความร้อนสูง บรรจุพวกสบู่เหลวเด็ก จุดสังเกตคือโปร่งแสงกว่า ส่งไปรีไซเคิลเป็นกล่องแบตเตอรี่ในรถยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ เช่น กันชน ไฟท้าย และไม้กวาดแปรงพลาสติกได้ 

 

- ถุงเติมพลาสติกหลายชั้น หรือ Multi-layer Plastic: บรรจุพวกสบู่เหลวและแชมพูรีฟิล บรรจุภัณฑ์ชนิดนี้ควรใช้ให้น้อยลงในแง่ของการสร้างขยะ เพราะมันประกอบด้วยพลาสติกอย่างน้อย 3 ชนิด ดังนั้นจึงรีไซเคิลยาก มักไม่ถูกรีไซเคิล และไม่มีสัญลักษณ์รีไซเคิลบนบรรจุภัณฑ์ ถ้ามีจะเป็นสัญลักษณ์หมายเลข 7 คือ พลาสติกอื่น ๆ (Others) แต่สามารถนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิง หรืออัพไซเคิลเป็น Eco brick และอิฐถนนได้

 

2.โซนผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด

ประกอบไปด้วยน้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาถูพื้น น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า และอื่น ๆ 

บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่พบในโซนนี้มี 

 

- ขวดพลาสติก PET หมายเลข 1: แข็งแรง ทนแรงกระแทกได้ดี ไม่แตกเปราะง่าย จุดสังเกตคือเป็นขวดพลาสติกใส ก้นขวดจะมีรอยนูน นิยมนำมาทำขวดบรรจุน้ำดื่ม ขวดน้ำมันพืช หรือในโซนนี้คือขวดน้ำยาล้างจาน สามารถนำมารีไซเคิลเป็น เส้นใย สำหรับทำเสื้อกันหนาว พรม และใยสังเคราะห์สำหรับยัดหมอนได้ 

 

- ขวดพลาสติก HDPE หมายเลข 2: มีความหนาแน่น แข็งแรง ทนกรดและด่าง บรรจุพวกน้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาซักผ้า น้ำยาถูพื้น จุดสังเกตคือจะเป็นขวดขุ่นไม่ใส ส่งไปรีไซเคิลเป็นถัง เก้าอี้ เครื่องเล่นเด็ก ไม้เทียม หรือบรรจุภัณฑ์ HDPE แบบเดิมอีกได้


  - ขวดพลาสติก PVC หมายเลข 3: แข็งแรง ทนสารเคมี ทนน้ำได้ดี ป้องกันการซึมผ่านของไขมันได้ จึงนำไปทำเป็นขวดบรรจุน้ำมัน และพวกน้ำยาล้างจาน สามารถรีไซเคิลเป็นท่อน้ำประปา หรือรางน้ำการเกษตร กรวยจราจร เฟอร์นิเจอร์ 


  - ถุงเติมพลาสติกหลายชั้น หรือ Multi-layer Plastic: บรรจุพวกน้ำยารีฟิล ประกอบด้วยพลาสติกอย่างน้อย 3 ชนิด ดังนั้นจึงรีไซเคิลยาก มักไม่ถูกรีไซเคิล และไม่มีสัญลักษณ์รีไซเคิลบนบรรจุภัณฑ์ ถ้ามีจะเป็นสัญลักษณ์หมายเลข 7 คือ พลาสติกอื่น ๆ (Others) แต่สามารถนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิง หรืออัพไซเคิลเป็น Eco brick และอิฐถนนได้


 

3.โซนเครื่องดื่มและขนมขบเคี้ยว

ประกอบไปด้วยขนมถุง ขนมกล่อง ซองลูกอม กระป๋องใส่ลูกอม น้ำอัดลม และอื่น ๆ 

บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่พบในโซนนี้มี 

 

- ขวดพลาสติก PET หมายเลข 1: แข็งแรง ทนแรงกระแทกได้ดี ไม่แตกเปราะง่าย จุดสังเกตคือเป็นขวดพลาสติกใส ก้นขวดจะมีรอยนูน ในโซนนี้จะบรรจุพวกน้ำอัดลม น้ำหวาน สามารถนำมารีไซเคิลเป็น เส้นใย สำหรับทำเสื้อกันหนาว พรม และใยสังเคราะห์สำหรับยัดหมอนได้ 


  - กระป๋องและซองพลาสติก PP หมายเลข 5: ทนทานต่อความร้อน คงรูป เหนียว มีความยืดหยุ่นสูง ทนสารเคมีและน้ำมัน จุดสังเกตคือมีโปร่งแสง ใส ในโซนนี้จะมาในรูปแบบของซองใส่ลูกอม  ไม่ก็กระป๋องใส่ลูกอมเล็ก ๆ สามารถนำมารีไซเคิลเป็น กล่องแบตเตอรี่ในรถยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ เช่น กันชน ไฟท้าย และไม้กวาดแปรงพลาสติก เป็นต้น


  - ถุงขนมพลาสติกหลายชั้น หรือ Multi-layer Plastic: ประกอบด้วยพลาสติกอย่างน้อย 3 ชนิด ดังนั้นจึงรีไซเคิลยาก แต่ข้อดีคือทนอากาศไม่ให้เข้าได้ ถนอมอาหารได้ดี ในที่นี้จะมาในรูปแบบของซองขนมประมาณ 80% ของโซนนี้ ถ้ามีจะเป็นสัญลักษณ์หมายเลข 7 คือ พลาสติกอื่น ๆ (Others) แต่สามารถนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิง หรืออัพไซเคิลเป็น Eco brick และอิฐถนนได้


  - กระป๋องขนมจากวัสดุหลายชนิด: นอกจากถุงขนมพลาสติกหลายชั้นที่รีไซเคิลยากแล้ว ยังมีกระป๋องขนมที่ทำจากวัสดุหลายชนิดที่รีไซเคิลได้ยากไม่แพ้กัน เพราะมันมีส่วนประกอบของ ทั้งกล่องกระดาษ แผ่นอลูมิเนียม ฝาพลาสติก และกระดาษห่อฟอยล์ มันสามารถนำไปรีไซเคิลได้ แต่ด้วยความที่หนึ่งกระป๋องประกอบไปด้วยวัสดุหลายอย่างมันจึงไม่เป็นที่นิยมในการนำกลับมารีไซเคิลใหม่ 

 

ทีนี้เราก็รู้แล้วว่าพลาสติกแต่ละชนิดมีลักษณะอย่างไร นำไปทำอะไรได้บ้าง และพลาสติกชนิดใดที่รีไซเคิลไม่ได้ และควรใช้ให้น้อยที่สุด ดังนั้นก่อนทิ้ง อย่าลืม! ทำความสะอาด คัดแยกให้ถูกต้องตามประเภทของมัน เพื่อให้ขยะได้ไปเกิดใหม่ไม่ไปตกค้างในธรรมชาติ! 

 

__

#carethewhale

#ขยะล่องหน

#กำจัดคำว่าขยะให้หายไปร่วมหาทางใช้ให้ถึงที่สุด

 

source :
 https://erc.kapook.com/article09.php - Kapook: “7 ประเภทพลาสติก ใช้แล้วควรแยกก่อนทิ้ง เพราะเอาไปรีไซเคิลต่อได้”

https://millerrecycling.com/plastics-recycling-numbers/ - MILLER RECYCLING CORPORATION: “1, 2, 3, 4, 5, 6, 7: Plastics Recycling By the Numbers” 

 


 

ผู้เข้าชม  4934