เมื่อขยะหลุดลอยไป… สัตว์ทะเลกินอะไรบ้าง?



เมื่อขยะหลุดลอยไป… สัตว์ทะเลกินอะไรบ้าง? 

 

ทุก ๆ ปีมีการผลิตพลาสติกกว่า 300 ล้านตันทั่วโลกเพื่อนำมาใช้เป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย อย่างไรก็ตาม มีขยะพลาสติกไหลลงสู่ทะเลทั่วโลกปีละ 8 ล้านตัน โดยมาจากกิจกรรมในทะเล เช่นการประมง 20% และกิจกรรมบนบกของมนุษย์ 80% ไม่ว่าจะเป็นขยะในชีวิตประจำวันอย่างขยะถุง หลอด แก้ว แพคเกจจิ้งพลาสติก ขยะขวดอุปกรณ์ทำความสะอาด ขยะเศษผ้าจากเสื้อผ้า ขยะยางล้อรถ หรือขยะตามไซต์ก่อสร้าง และขยะที่ใช้ในการเกษตร เมื่อเราทิ้งขยะเหล่านี้ที่ไม่ถูกที่ ขยะจะถูกพัดพาลงสู่แหล่งน้ำ เช่นเดียวกัน เมื่อขยะไม่ได้ถูกกำจัดตามประเภทอย่างมีประสิทธิภาพ มันจะไปจบลงที่หลุมฝังกลบ และถูกชะล้างลงไปในทะเล 

 

ซึ่งขยะพลาสติกที่ไหลลงสู่ทะเลเหล่านี้จะสร้างปัญหาต่อสัตว์น้ำนานาชนิด สัตว์น้ำไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่มักคิดว่าพวกขยะพลาสติกเหล่านี้เป็นอาหาร จึงเผลอกินเข้าไปจนมันไปอุดตันในกระเพาะอาหาร ทำให้น้องสัตว์ป่วย และอาจเสียชีวิตได้ในที่สุด หรือในอีกกรณี สัตว์น้ำมักว่ายน้ำไปติดกับดักขยะพลาสติกโดยไม่รู้ตัว และถูกขยะเหล่านี้เกี่ยวไปที่อวัยวะจนได้รับบาดเจ็บได้

 

จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Conservation Biology สัตว์น้ำเสียชีวิตจากขยะพลาสติก และขยะอื่น ๆ ในทะเลมากมาย 

 

  • นกทะเล เสียชีวิตจากขยะพลาสติกแข็งมากที่สุด นกเหล่านี้จะนึกว่าขยะพลาสติกแข็งจำพวก แก้วพลาสติก หรือถ้วยพลาสติกที่ลอยเหนือผิวน้ำเป็นอาหารจึงกินมันเข้าไป แทนที่จะได้กินปลา หรือแพลงก์ตอน นกกลับได้กินขยะที่เป็นอันตรายต่อร่างกายของพวกเขาแทน  

 

  • โลมาและวาฬ เสียชีวิตจากขยะพลาสติกบาง อย่างเช่นถุงพลาสติก แผ่นห่อพลาสติก และพวกแพคเกจจิ้งจากขยะพลาสติกมากที่สุด ซึ่งขยะเหล่านี้จะเข้าไปอยู่ในท้องของพวกเขาจนไปอุดตัน ทำให้ว่ายน้ำได้ลำบาก และไปชนกับเรือประมงจนเสียชีวิตได้ หรือเข้าไปอยู่ในท้องจนทำให้ทั้งโลมาและวาฬป่วย เกยตื้นและเสียชีวิต

  • แมวน้ำและสิงโตทะเล เสียชีวิตจากซากที่เหลือการประมงมากที่สุด ทั้งอวน แห ตะขอ ทั้งหมดสามารถไปรัดคอ หรือเกี่ยวจมูกจนทำให้ทั้งแมวน้ำและสิงโตทะเลได้รับบาดเจ็บจนเสียชีวิตได้  

  • เต่าทะเล เสียชีวิตจากขยะพลาสติกชนิดบางมากที่สุด เช่นเดียวกับโลมาและวาฬ ขยะพลาสติกบางอย่างถุงพลาสติก แผ่นห่อพลาสติก และพวกแพคเกจจิ้ง เข้าไปอุดตันในกระเพาะของเต่าทำให้ร่างกายของมันทำงานไม่ได้จนเสียชีวิตในที่สุด 

 

 

อย่างไรก็ตาม นอกจากขยะพลาสติกที่มีผลกระทบต่อสัตว์น้ำแล้ว มนุษย์อย่างเราก็อาจได้รับผลกระทบจากพลาสติกเช่นกัน แต่ในรูปแบบของ “ไมโครพลาสติก” หรือพลาสติกที่เล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ที่มาจากพลาสติกที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน พลาสติกเหล่านี้เมื่อโดนน้ำ โดนแดด โดนฝน และอยู่ในธรรมชาติเป็นเวลานาน มันสามารถแตกตัวเป็นพลาสติกชิ้นเล็ก ๆ ได้ แม้กระทั่งเศษยางล้อรถ หรือเศษใยสังเคราะห์ของเสื้อผ้าของเราที่หลุดออกมาระหว่างการซักผ้า ทั้งคู่ก็ถือว่าเป็นไมโครพลาสติกเช่นกัน ดังนั้น เมื่อไมโครพลาสติกหลุดออกมา มันจะสร้างวงจรอุบาทว์ เข้าไปปนเปื้อนในแหล่งน้ำที่สัตว์น้ำเวียนว่ายอยู่  และเข้าสู่ร่างกายของเราที่บริโภคสัตว์น้ำเหล่านั้นในที่สุด 

 

ถึงยังไม่มีงานวิจัยที่ระบุชัดเจนว่า ไมโครพลาสติกเป็นอันตรายต่อมนุษย์มากแค่ไหน แต่เมื่อร่างกายมีพลาสติกสะสมอยู่มาก ๆ มันก็ไม่น่าจะเป็นผลดีเช่นกัน ทั้งนี้ เราสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่จะหยุดไม่ให้ขยะพลาสติกไหลลงสู่ทะเล หรือหยุดสร้างไมโครพลาสติกได้ เริ่มได้ง่ายที่สุดคือการลดสร้างขยะ ลดใช้สิ่งของที่ปล่อยเส้นใยไมโครพลาสติก ใช้ของที่มีอยู่อย่างพวกขวดน้ำ แก้วน้ำ กล่องข้าว ถุงผ้าให้คุ้มค่า และแยกขยะเพื่อให้ขยะได้ถูกนำไปรีไซเคิลให้ได้มากที่สุด! 

__

#carethewhale

#ขยะล่องหน

#กำจัดคำว่าขยะให้หายไปร่วมหาทางใช้ให้ถึงที่สุด



Source

https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2037841 - ไทยรัฐ: “เปิดสถิติ “ขยะทะเล” พลาสติกยังแชมป์ ปี 63 ไหลผ่าน 9 ปากแม่น้ำ 145 ตัน” 

https://ippd.or.th/why-plastic-bags-are-so-bad/ - Institute of Public Policy and Development: “ประเทศไทยอยู่ตรงไหน?: ทำไมขยะพลาสติกในทะเลถึงสำคัญกับเรา?”

 

ผู้เข้าชม  15623