โครงการ Care the Wild “ปลูกป้อง Plant & Protect” ร่วมสร้างพื้นที่ป่าสนับสนุนเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกของไทย
เป็นกระแสอย่างมากในช่วงนี้กับการประกาศเป้าหมายการรับมือด้านสิ่งแวดล้อมของไทยที่นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ได้กล่าวในการประชุม COP26 เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา มีการกล่าวถึงการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี 2065 ว่ามั่นใจว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างแน่นอนด้วยการสนับสนุนทางด้านการเงินและเทคโนโลยีอย่างเต็มที่และเท่าเทียม รวมถึงความร่วมมือระหว่างประเทศ วันนี้เราจึงอยากชวนทุกคนมาดูกันว่าไทยอยู่ตรงไหนข้อตกลง และพวกเราจะช่วยขับเคลื่อนอย่างไรกันได้บ้าง
การสนับสนุนทางการเงินเพื่อบรรลุข้อตกลงนั้นไทยได้มาจากที่ไหน?
งบประมาณที่ใช้ขับเคลื่อนส่วนนี้ในไทยนั้นได้มาจากหลายส่วน อาทิ กองทุน Green Climate Fund, Clean Technology Fund, Global Environment Facility (GEF) ธนาคารแห่งประเทศและธนาคารพาณิชย์ที่มีนโยบายเงินกู้/สินเชื่อสีเขียวเพื่อการอนุรักษ์และแก้ไขปัญหาเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงงบประมาณจากภาครัฐ และภาคเอกชนด้วยนโยบายด้าน CSR
ในการประชุม COP25 ครั้งที่แล้ว ประเทศมหาอำนาจได้ให้คำมั่นจะระดมทุนอย่างน้อย 1 แสนล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ให้แก่กลุ่มประเทศแนวหน้าที่เสี่ยงต่อภัยจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในอนาคต นอกจากนี้ กลุ่มประเทศเหล่านี้ยังขาดรายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในช่วงการระบาดของโควิด19 ทำให้ต้องการแรงสนับสนุนจากกลุ่มประเทศมหาอำนาจเพื่อนำรายได้มาหมุนเวียนอีกด้วย
ความคืบหน้าล่าสุด ในวันที่ 2 พ.ย. เป็นข่าวดีสำหรับประเทศไทยและเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะได้รับกองทุน “ASEAN Green Recovery Platform” เพิ่มเติมจำนวน 665 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากสหราชอาณาจักร, อิตาลี, สหภาพยุโรป และกองทุน Green Climate Fund (GCF) เพื่อให้ประเทศอย่างพวกเรา ๆ นำไปดำเนินแผนทางสิ่งแวดล้อมเพื่อรับมือกับสภาวะสภาพอากาศเปลี่ยน
ถือเป็นข่าวดีที่เราได้เห็นการแสดงความรับผิดชอบของหลายประเทศที่ร่วมมือกันช่วยเหลือประเทศที่ได้รับผลกระทบแม้ว่าจะไม่ได้เป็นประเทศหลักในการก่อให้เกิดสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ก็ตาม
เราจะช่วยกันบรรลุเป้าหมายใหม่ที่จะลดก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 40 ภายในปี 2030 ได้อย่างไรบ้าง?
ตามที่นายกรัฐมนตรีของไทยได้กล่าวว่า ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกในปริมาณเพียงประมาณร้อยละ 0.72 ของทั้งโลกเท่านั้น แต่กลับกำลังจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงและหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะฉะนั้นแล้ว เป็นเรื่องที่แต่ละภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันทำตามเป้าหมายที่ได้กำหนดเอาไว้ให้ลุล่วง
แผนที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายได้นั้น มีทั้งในส่วนของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และในสัดส่วนของ "ภาคป่าไม้" ที่เป็นความหวังในการเป็นแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้มากขึ้น ซึ่งโจทย์ที่สำคัญคือการขยายพื้นที่ป่าไม้จะต้องไม่กระทบความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่นั้น ๆ ไม่ไล่ ไม่รื้อชาวบ้านในพื้นที่ เพราะสำหรับพวกเขาป่าก็เท่ากับบ้านของพวกเขาเช่นกัน
โครงการ Care the Wild “ปลูกป้อง” แพล์ตฟอร์มร่วมสร้างพื้นที่ป่าสนับสนุนเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้มีส่วนร่วมสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ด้วยการส่งเสริมงานความยั่งยืนในมิติการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมร่วมกัน จึงได้ริเริ่มโครงการ Care the Wild “ปลูกป้อง” Plant & Protect แพล์ตฟอร์มความร่วมมือระหว่าง ตลท. ภาคเอกชน ภาครัฐ และ ชุมชน ในการร่วมปลูกต้นไม้ให้ได้ผืนป่าด้วยแนวคิด “ปลูกและป้อง” ปลูกต้นไม้ให้ได้ผืนป่า และ ดูแลต้นไม้ให้รอด 100% ด้วยการติดตามการเติบโตต่อเนื่อง 6 ปี ตอบโจทย์เป้าหมาย “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ของสหประชาชาติ (UNSDG Goal) ในข้อ 13 (Climate Action) และ ข้อ 17 (Partnership for the goals) โครงการ Care the Wild เป็นการระดมทุนเพื่อสร้างป่า ด้วยการปลูกป่าใหม่ ปลูกป่าเสริม และส่งเสริมการดูแลป่า โดยผ่านภาคีเครือข่ายการปลูกป่า อาทิ กรมป่าไม้ และร่วมกับชาวบ้านในชุมชนที่มีส่วนสำคัญในการร่วมวางแผนแนวทางอนุรักษ์ป่าในพื้นที่
หากต้องการเป็นส่วนหนึ่งของโครงการต้องทำยังไงบ้าง?
โครงการ Care the Wild มีช่องทางให้ทุกคนได้ติดต่อโดยตรงที่ Application: Care the Wild หากต้องการจะระดมทุนเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการปลูกป่าก็สามารถระดมทุนผ่าน Application ได้ นอกจากนี้ยังมีการเผยแพร่บทความ ความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับธรรมชาติและการปลูกป่า รวมถึงการติดตามผลการปลูกป่าในแต่ละพื้นที่ ทุก ๆ 6 เดือน ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ง่ายและสะดวกมาก ๆ ที่ให้เราได้เป็นส่วนหนึ่งกับโครงการนี้ และหากองค์กรภาคธุรกิจที่สนใจร่วมปลูกป่ากับโครงการ Care the Wild ก็สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ carethewild@set.or.th
นี่คือโจทย์สำคัญที่ไม่ใช่เพียงแค่ภาครัฐ ภาคเอกชน หรือคนในพื้นที่ ที่ต้องออกมาร่วมมือกัน หากแต่เป็นพวกเราทุกคนที่ต้องร่วมกันขับเคลื่อน เพราะป่าเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตทุกชีวิต มีส่วนสำคัญการรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อมและควบคุมสภาวะอากาศ นี่จึงไม่ใช่แค่การ "ปกป้องคน" หรือ "ปกป้องป่า" หากแต่เป็นการปกป้องทั้งคนและป่าให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลในอนาคตต่อไป
_____
ที่มา
https://www.adb.org/news/partners-pledge-665-million-support-green-recovery-asean
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/47700
http://gcf.onep.go.th/wp-content/uploads/2019/02/greenclimatefundguidebook-th-1.pdf
https://ukcop26.org/wp-content/uploads/2021/07/COP26-Explained.pdf