นักธุรกิจคนรุ่นใหม่ Social Enterprise ร่วมขับเคลื่อนวิกฤตสิ่งแวดล้อม



นักธุรกิจคนรุ่นใหม่  Social Enterprise ร่วมขับเคลื่อนวิกฤตสิ่งแวดล้อม

 

อย่างที่ทราบกันดีว่าวิกฤตด้านสภาพอากาศนอกจากจะส่งผลกระทบต่อพวกเราทุกคนในปัจจุบันแล้ว กลุ่มคนที่จะได้รับผลกระทบร้ายแรงยิ่งกว่าคือเยาวชนที่จะเติบโตขึ้นในโลกที่สภาพอากาศที่แปรปรวนในอนาคต ดังนั้น เป้าหมายหนึ่งของเวทีการประชุม COP26 ที่สำคัญคือการยกระดับเสียงของเยาวชนคนหนุ่มสาวให้มีบทบาทในการดำเนินการแก้ปัญหาด้านสภาพอากาศมากขึ้น และสามารถกำหนดอนาคตของพวกเขาได้

ไฮไลต์ของการเรียกร้องปัญหาด้านสภาพอากาศในการประชุม COP26 ในปีนี้ กลุ่มตัวแทนเยาวชน 4 คน ได้แก่ Greta Thunberg จากสวีเดน Vanessa Nakate จากภยูกันดา Dominika Lasota จากโปแลนด์ และ Mitzi Jonelle Tan จากฟิลิปปินส์ ร่วมลงชื่อเขียนถึงผู้นำทั่วโลก มีใจความถึงมาตรการที่ล้มเหลวในการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ พร้อมกล่าวว่านี่เป็นภาวะฉุกเฉินที่รุนแรง จึงขอเรียกร้องให้ผู้นำทั้งหลายใช้ความกล้าหาญเผชิญหน้ากับปัญหา สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าเยาวชนหนุ่มสาวไม่ได้นิ่งเฉยกับวิกฤตที่พวกเขากำลังเผชิญ และพวกเขาจะไม่ยอมให้คนที่ยังเพิกเฉยกับวิกฤตนี้มาพรากอนาคตของพวกเขาไปเช่นกัน
 


 

คนรุ่นใหม่ในสังคมไทยก้าวไปอย่างไรบ้าง?

กลับมาที่บริบทประเทศไทย การร่วมมือแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในภาคธุรกิจปัจจุบันมีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หันมาดำเนินธุรกิจด้วยแนวทางแบบ Social Enterprise หรือ “ผู้ประกอบการเพื่อสังคม” มากยิ่งขึ้น ซึ่ง ‘Social Enterprise’ (SE) นี้หมายถึง ธุรกิจที่มีแนวทางการดำเนินงานที่มีจุดยืนในการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การดำเนินธุรกิจจึงไม่ใช่แค่การแสวงหาผลประกอบการกำไรสูงสุด แต่ยังยังมีเป้าหมายที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม 


กลุ่มผู้ประกอบการเพื่อสังคมในปัจจุบันมีบทบาทสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคมได้อย่างมาก โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม ในปัจจุบันมีผู้ประกอบการเพื่อสังคมคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่อยู่ในเครือข่าย SET Social Impact Platform ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ดำเนินธุรกิจเพื่อตอบโจทย์และแก้ปัญหาวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการเหล่านี้คือข้อต่อสำคัญในสังคมไทยที่จะสามารถเชื่อมการทำงานกับองค์กรภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน และ ชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทยในการร่วมกันขับเคลื่อนการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก


ตัวอย่างเช่น วิกฤตปัญหาฝุ่น PM2.5 ถือเป็นวิกฤตที่น่าเป็นห่วงในประเทศไทย บริษัท เติมเต็มวิสาหกิจเพื่อสังคม หนึ่งในผู้ประกอบการทีมีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาฝุ่นและหมอกควันจากการเผาป่าในพื้นที่ภาคเหนือ ได้มีการจัดทำโครงการอย่าง “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” ที่ได้ประสานกับโรงเรียน หน่วยงานรัฐ และชุมชนให้ความรู้พร้อม วางมาตรการการป้องกันฝุ่น และจัดทำ application ในการเช็คพื้นที่ที่มีการเผาป่าเพื่อจะได้ดับไฟได้ทันท่วงที  เจ้าของบริษัท เทิร์นทูอาร์ต จำกัด ที่เป็น GEN Y หรือคนรุ่นใหม่ เล็งเห็นถึงปัญหาขยะล้นโลก และต้องการสะท้อนปัญหาให้สังคมรับรู้ ด้วยการนำขยะมารีไซเคิลและทำงานร่วมกับชุมชน นำขยะหรือวัสดุเหลือใช้มาสร้างงานศิลปะ ประดิษฐ์เป็นกระเป๋า ของใช้ ในสไตล์อาร์ตแบบคนรุ่นใหม่ หรือการออกแบบงานปฏิมากรรมติดตั้งตามอาคารรอบกรุงเทพฯ 

 

บริษัท แสงเจริญแกรนด์ จำกัด หรือ SC Grand ที่ดำเนินธุรกิจเสื้อผ้าที่ทำมาจากสิ่งทอรีไซเคิล 100% มีกระบวนการผลิตที่ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อันเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อนให้น้อยที่สุด รวมถึง Manglove teen เครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่ลุกขึ้นสร้างผืนป่าเพื่อต่อสู้กับปัญหาโลกร้อน

 

นี่เป็นเพียงแค่บางตัวอย่างของผู้ประกอบการเพื่อสังคมคนรุ่นใหม่ ยังมีผู้ประกอบการเพื่อสังคมอีกจำนวนมากใน SET Social Impact Platform ที่มุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาทั้งสังคมและสิ่งแวดล้อม

 

จะเห็นได้ว่าคนรุ่นใหม่ได้กลายมาเป็นอีกหนึ่งหมุดขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ การที่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่มีแนวทางที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมนั้นย่อมส่งผลดีต่อโลก และอาจเป็นจุดเปลี่ยนของประเทศไทยที่ทุกภาคส่วนต้องคำนึงถึงการดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกับการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 

 


________________________

ที่มา : https://time.com/6111851/greta-thunberg-vanessa-nakate-open-letter-media/?utm_source=twitter&utm_medium=social&utm_campaign=editorial&utm_term=ideas_&linkId=137945320

https://thestandard.co/social-enterprise-2/

https://www.salika.co/2020/11/01/smart-school-fight-pm2-5/

https://knowledge.tijthailand.org/th/article/detail/2

 

ผู้เข้าชม  2615