การปรับตัวจากผลกระทบด้านวิกฤติสภาพอากาศ

 

 


การปรับตัวจากผลกระทบด้านวิกฤติสภาพอากาศ

 

การปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบและความเสียหายจากวิกฤติสภาพอากาศนั้นถูกพูดถึงอย่างมากในเวทีประชุม COP26 ครั้งนี้ โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มประเทศเปราะบาง หรือ "แนวหน้า" ที่จะได้รับผลเสียอย่างประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทร และกลุ่มชนเผ่าที่อาศัยอยู่ร่วมกับป่า ผู้นำจากหลายประเทศได้ใช้พื้นที่ในการกล่าวสุนทรพจน์เปิดงานเพื่อเรียกร้องให้ผู้คนทั่วโลกหันมาตระหนักถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับพวกเขา 

 

มีอา มอตต์ลีย์ นายกรัฐมนตรีบาร์เบโดส ประเทศเกาะในทะเลแคริบเบียน ได้กล่าวว่า การระดมเงินทุนด้านสิ่งแวดล้อมนั้นเต็มไปด้วยความล้มเหลวจนทำให้เกิดความสูญเสียต่อเพื่อนและสหายของพวกเรามากมาย ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรมเลย 

 

ในปี พ.ศ. 2553 พบว่ากว่า 11% ของประชากรทั่วโลกอาศัยอยู่ริมชายฝั่งทะเลซึ่งสูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางไม่ถึง 10 เมตร ดังนั้น หากระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ พื้นที่ชายฝั่งและลุ่มต่ำก็มีความเสี่ยงที่จะจมใต้บาดาล รวมถึงภัยพิบัติที่อันตรายต่อชีวิตอย่างพายุหมุนเขตร้อนและคลื่นพายุซัดฝั่ง

 

 

 

ความเสียหายที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

ปัญหาการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลส่งผลให้กรุงเทพฯ เสี่ยงจมน้ำกลายเป็นเมืองบาดาลได้ในอนาคต เนื่องจากพื้นที่กรุงเทพฯ มีลักษณะเป็นแอ่งและตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมลุ่มน้ำเจ้าพระยา (Chao Phraya River delta) ที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเฉลี่ยเพียง 1.5 เมตร

 

โดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) คาดการณ์ว่า ภายในปี 2070 จะมีผู้คนกว่า 5 ล้านรายในกรุงเทพฯ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมสูง ทั้งนี้ ระดับน้ำทะเลมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นปีละ 3.2 มิลลิเมตรจนทำให้อาจเพิ่มขึ้นถึง 2 เมตร ในทศวรรษนี้

 

 

ความร่วมมือบนเวทีโลกเพื่อปรับตัวกับภัยพิบัติ

ความร่วมมือด้านงบประมาณในการรับมือล่าสุดบนเวที COP26 ได้มีการจัดตั้งกองทุนสีเขียวภายใต้กองทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอาเซียน (ASEAN Catalytic Green Finance Facility) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) โดยกองทุนนี้ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนของโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น พลังงานหมุนเวียน การคมนาคมสะอาด และโครงสร้างพื้นฐานของเมืองในประเทศกำลังพัฒนาทั่วทั้งภูมิภาค โดยรัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ประกาศเตรียมมอบเงินช่วยเหลือจำนวน 110 ล้านปอนด์ ซึ่งคิดเป็นเงินไทยราว 5 พันล้านบาท

 

 

นวัตกรรมการปรับตัว

การบริหารจัดการมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการรับมือสถานการณ์น้ำท่วมในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดมาตรการหรือข้อกำหนดทางผังเมือง การสร้างสิ่งก่อสร้าง เช่น คันล้อมเมือง เขื่อนหรือพนังกั้นน้ำ คลองผันน้ำเลี่ยงเมือง และการออกแบบระบบแก้มดินใต้ดินที่จะเป็นอ่างเก็บน้ำช่วยระบายปริมาณน้ำฝน รวมถึงมาตรการสำคัญอย่างการทำคันกั้นน้ำทะเล สร้างบริเวณนอกชายฝั่งเพื่อให้ป่าชายเลนช่วยทำหน้าที่เป็นแนวป้องกันตามธรรมชาติต่อการกัดเซาะชายฝั่ง ตั้งแต่ จ.สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และทำนบกั้นน้ำหรือเขื่อนหิน ไปถึง จ.ชลบุรี เพื่อไม่ให้น้ำทะเลหนุนเข้ามา

 

____

 

ที่มา https://www.businessinsider.com/powerful-speech-barbados-prime-minister-climate-change-cop26-2021-11

https://www.greenpeace.org/thailand/story/20241/climate-are-the-seas-really-rising/

https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1/158081

https://www.salika.co/2020/10/17/stop-bangkok-from-drowning-city/


 
ผู้เข้าชม  2248