เมืองสีเขียวสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน


 

เมืองสีเขียวสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ในเวทีการประชุม COP26 ครั้งนี้ มีการหารือถึงแนวทางการสร้างเมืองที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย Net Zero ของเมืองขนาดใหญ่และขนาดเล็กทั่วโลก โดยในปีนี้ มีการอนุมัติงบประมาณถึง 27.5 ล้านปอนด์จากอย่างน้อย 15 ประเทศพัฒนาแล้วทั่วโลกที่จะมอบให้แก่เมืองในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อใช้รับมือและปรับภูมิทัศน์ของเมืองในการบรรลุเป้าหมาย Net Zero อันรวมไปถึงการจัดระเบียบงบประมาณในท้องถิ่น ทรัพยากรบุคคล และการจัดเตรียมโครงการต่าง ๆ ซึ่งงบประมาณในส่วนนี้เป็นการสนับสนุนจาก C40 หรือ Cities Climate Leadership Group กลุ่มเมืองใหญ่ผู้นำด้านสภาพภูมิอากาศ ที่จะเข้ามาช่วยผลักดันให้เมืองทั่วโลกบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้

เนื่องจากพื้นที่เมืองในปัจจุบันนั้นมีการขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ และเมื่อมีปัญหาภัยพิบัติเกิดขึ้นก็อาจส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ทำให้เมืองหยุดชะงักลงได้ อาทิ ปัญหาน้ำท่วมที่ประเทศไทยพบเจอบ่อยครั้งจนทำให้การจราจรเป็นอัมพาต ผู้คนไม่สามารถสัญจรไปมาได้ หรือการติดอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังจนนำไปสู่ความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สิน

 

ปัญหาสำคัญที่เควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนที่เห็นได้ชัดในประเทศ ได้แก่ การเปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทนอย่างเหมาะสมและลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง ระบบการจัดการและคัดแยกขยะในแต่ละเมืองที่มีประสิทธิภาพ ระบบการขนส่งที่จะต้องควบคุมการปล่อยมลพิษให้ได้มากที่สุด รวมถึงพฤติกรรมการบริโภคของผู้คนที่ต้องคำนึงถึงกระบวนการการผลิตมากขึ้น  

 

การพัฒนาพื้นที่เมืองในประเทศไทยอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

หนึ่งในแนวทางการพัฒนาโครงสร้างที่เป็นมิตรกับสภาพแวดล้อมคือการก่อสร้างแบบพื้นฐานสีฟ้า-เขียว (Blue-Green Infrastructure : BGI) ซึ่งเป็นการออกแบบทางกายภาพของเมืองที่ผสมผสานสิ่งปลูกสร้างเข้ากับธรรมชาติ เช่น บนสิ่งปลูกสร้าง หลังคา ทางเดิน หรือแหล่งเก็บน้ำ 

 

ตัวอย่างพื้นที่การสร้างเมืองสีเขียวของกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน อาทิ “Regenerative Bangkok ฟื้นเมือง เชื่อมย่าน สานอนาคต” ที่เป็นโครงการพัฒนาปรับปรุงภูมิทัศน์ในเมืองให้กลายเป็นต้นแบบเมืองน่าอยู่ หนึ่งในพื้นที่ที่น่าจับตามอง ได้แก่ “โครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี” ในกรุงเทพมหานครที่จะเป็นพื้นที่ช่วยรับมือปัญหาน้ำท่วมในอนาคตจากการสร้างพื้นที่กักเก็บน้ำใต้สวนสาธารณะ “แก้มลิง” (Waterbank) ที่จะช่วยกักเก็บ ชะลอ และระบายมวลน้ำที่ไหลมารวมตัวกันจาก 3 แหล่งได้แก่ น้ำฝน น้ำเหนือ และน้ำหนุนจากทะเล 

 

นอกจากนี้ พื้นที่จังหวัดขอนแก่นที่เป็นเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจที่สำคัญยังเป็นต้นแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ของประเทศไทย เมื่อเมืองมีการขยายตัวและเกิดการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ทำให้จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่รอบคอบต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม แต่ขอนแก่นก็ได้ผลักดันตนเองสู่การเป็น "Smart City" ในหลายด้าน อาทิ การพัฒนาเครือข่ายระบบขนส่งสาธารณะที่ทำให้ผู้คนลดใช้รถยนต์ส่วนตัวได้มากขึ้น การออกแบบโครงการรถไฟฟ้ารางเบาและการสร้างอาคารที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โดยโครงการเหล่านี้จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ร้อยละ 50 ด้วยการพึ่งพาพลังงานแสงอาทิตย์ที่ผลิตไฟฟ้ากว่าร้อยละ 50 และไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนหนึ่งจะนำไปใช้กับรถยนต์ไฟฟ้า (Electric vehicles) ที่ใช้งานในเมือง

ทั้งนี้ ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างประเทศสิงคโปร์มักถูกพูดถึงในด้านการพัฒนาเมืองไปควบคู่กับการเพิ่มพื้นที่สีเขียว แต่ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ทำให้มีการออกแบบการใช้พื้นที่สีเขียวร่วมกับสิ่งปลูกสร้าง เช่น การสร้างสวนบนดาดฟ้า (Roof Garden) พื้นที่สีเขียวแนวตั้ง (Vertical Greenery) ไปจนถึงพื้นที่สีเขียวในอาคาร (Indoor Greenery) รวมถึงการปลูกต้นไม้ริมถนนด้วยสายพันธุ์ที่หลากหลายโดยเชื่อว่าจะทำให้สัตว์สามารถพึ่งพากันได้มากกว่า

 

จะเห็นได้ว่าการออกแบบภูมิทัศน์ในปัจจุบันนั้นย่อมต้องพัฒนาไปควบคู่กับวิถีชีวิตของผู้คนและธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไป การคำนึงถึงสภาพแวดล้อมรอบตัว ทั้งคน สัตว์ และต้นไม้กลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ไม่แพ้ด้านความสวยงาม จึงเป็นโจทย์สำคัญด้านสิ่งปลูกสร้างที่จะทำให้การพัฒนาของเมืองเป็นไปอย่างยั่งยืนมากขึ้น



___

#Cop26
#SETSocialImpact
#ClimateCrisisActNow
 

ที่มา

https://unfccc.int/blog/the-greening-of-bangkok

https://voicetv.co.th/watch/Fkr5H7q5E

https://readthecloud.co/?p=144229

https://thaipublica.org/2019/06/atthaseth-petmeesri-bangkok-flood-problem/

https://www.nia.or.th/KHONKAEN

https://www.c40.org/about-c40/


 

ผู้เข้าชม  4417