SC Grand ธุรกิจสิ่งทอ ที่มุ่งแก้ปัญหาการสร้างมลภาวะของอุตสาหกรรมแฟชั่น
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดงาน “Social Business Matching Day: The Impact Opportunity#1” เมื่อวันที่ 24- 25 ก.พ. 2565 เชื่อมโยงภาคธุรกิจที่มีประสบการณ์กับผู้ประกอบการทางสังคม เพื่อนำไปสู่การหาแนวทางการสนับสนุนและพัฒนาธุรกิจร่วมกัน (Business Partner) โดยคัดเลือกผู้ประกอบการทางสังคมใน SET Social Impact Platform ที่อยู่ในขั้น Growth Stage สามารถสร้างผลลัพธ์ทางสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรมในด้านเกษตรกรรม สิ่งแวดล้อมและนวัตกรรมบริการแก่ผู้สูงอายุ
ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่ร่วมนำเสนอแผนยกระดับเกษตรกรไทยและธุรกิจ Circular Economy คือ จิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แสงเจริญแกรนด์ จำกัด ธุรกิจเพื่อสังคมที่มุ่งแก้ปัญหาการสร้างมลภาวะของอุตสาหกรรมแฟชั่น ด้วยการพัฒนาธุรกิจนำเศษด้าย เศษผ้าจากกระบวนการตัดเย็บ และเสื้อผ้าเก่า มาแปรสภาพให้เป็นเส้นใยเพื่อผลิตเสื้อผ้าใหม่ โดยไม่มีของเสียจากกระบวนการผลิต สร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมสิ่งทอ
“แฟชั่น” ตัวการสำคัญทำลายสภาพแวดล้อม: ในแต่ละปีอุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าสร้างขยะให้กับโลกถึง 92 ล้านตัน กว่าที่จะมาเป็นเสื้อ 1 ตัวต้องใช้น้ำในกระบวนการผลิตเท่ากับที่เราดื่มอย่างน้อย 2 ปี ยิ่งมีการออกแบบ ผลิตเสื้อผ้า หรือก้าวให้ทันแฟชั่นมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งเป็นการใช้ทรัพยากรและสร้างมลภาวะให้กับโลกตามไปด้วย
นำเศษผ้าเศษด้ายเหลือทิ้ง มาผลิตเป็นสินค้าใหม่: SC GRAND เป็นธุรกิจเพื่อสังคมของทายาทรุ่นที่ 3 ของครอบครัวที่อยู่ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่เดิมมีส่วนงานของการรับซื้อเศษด้ายจากการทอผ้า และเศษผ้าจากการตัดเย็บมาคัดแยกและขายต่ออยู่ก่อนแล้ว จากนั้นได้พัฒนามาสู่การนำมา Recycle ให้เป็นเส้นใยไฟเบอร์ใหม่ ที่อาจผสมวัสดุเพิ่มเติมบางส่วน แล้วผลิตเป็นผ้า เพื่อนำไปทำเป็นสินค้าใหม่ และยังมีการนำใช้ในงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งเป็นการร่วมมือทั้งกับแบรนด์แฟชั่นทั้งในและต่างประเทศในการพัฒนาร่วมกัน อันเกิดจากการมีแนวคิดและอุดมการณ์ตรงกันในเรื่องการใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยเนื้อผ้าและสีสันที่ได้แม้จะไม่สม่ำเสมอกัน แต่ก็ดูมีความสวยแบบธรรมชาติ เพราะไม่ผ่านการฟอกย้อม
Sustainable Textile อนาคตของธุรกิจสิ่งทอ: SC GRAND ยังขยายธุรกิจเพื่อสังคมในแบรนด์ CIRCULAR ที่จำหน่ายเสื้อผ้าที่ได้จากการ Recycle ซึ่งเป็นเสมือนโชว์รูมในการนำเสนอตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่อาจเป็นได้ทั้ง เสื้อ กางเกง ถุงเท้า กระเป๋าผ้า เชือกรองเท้า เพื่อให้คนทั่วไปที่สนใจได้เข้าใจแนวคิดเรื่อง Sustainable Textile ให้มากขึ้น โดยการผลิตสินค้าของ CIRCULAR จะอยู่ภายใต้แนวทางของ Zero Waste ที่จะไม่มีของเสียจากกระบวนการผลิต โดยทางบริษัทยังเปิดกว้าง และพร้อมที่จะเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในด้านนี้ พร้อม ๆ ไปกับการตั้งเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางทางด้านนี้ในภูมิภาคอาเซียน หรือ Recycle Hub แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ชวนเอาเสื้อเก่ามาผลิตเป็นเสื้อใหม่: CIRCULAR ยังมีบริการรับจ้างผลิตเสื้อพนักงานให้กับองค์กรต่าง ๆ โดยนำเสื้อเก่าของพนักงานที่ไม่ใช่แล้วจำนวนมาก มาเข้าสู่กระบวนการผลิตแปลงสภาพให้ได้ออกมาเป็นเสื้อใหม่ที่เกิดจากการ Recycle เป็นความร่วมมือที่มี story สามารถนำไปบอกต่อ สร้างผลกระทบและความเข้าใจให้กับสังคมได้รับรู้ถึงการบริโภคสินค้าแฟชั่นอย่างยั่งยืน ไม่สร้างขยะให้กับสิ่งแวดล้อม
จิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แสงเจริญแกรนด์ จำกัด มองว่า “สิ่งที่เรา SC GRAND หรือ CIRCURAR ทำ คือ เราต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแรงบันดาลใจ ให้ทุก ๆ คนหันมาช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เราเน้นในด้าน Recycle Textile สิ่งที่เราทำน่าจะสามารถตอบโจทย์บางอย่างในการลดผลกระทบที่ไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อมได้ เทคโนโลยีด้านนี้ในโลกนี้ยังมีอีกเยอะมาก เราไม่ได้ยิ่งใหญ่ เราเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น”
#SETSocialimpact
#SETSE
#SCGRAND