SE Gym Showcase : Relationflip

SET Social Impact มุ่งพัฒนา SE เข้มแข็ง สร้างพลังเปลี่ยนแปลงสังคม


เราไม่ใช่ธุรกิจที่มุ่งแสวงหาแต่กำไรอย่างเดียว แต่ต้องการช่วยเหลือคนจริง ๆ ไม่ว่าจะเงินเดือนเยอะ เงินเดือนน้อย องค์กรรัฐหรือเอกชน สาขาอาชีพใดก็ตาม เรื่องความเครียดและการรับมือเป็นสิ่งสำคัญ เป็น Solution ที่จะช่วยพนักงานในเรื่องนี้จริง ๆ เรื่องความเครียดสำคัญไม่แพ้การเจ็บป่วยทางร่างกาย” 


Relationflip” ดูแลสุขภาพจิต ให้คำปรึกษาโดยมืออาชีพ  สวัสดิการเพื่อวัยทำงาน ช่วยลดความเครียด เพิ่มความสุขและประสิทธิภาพในการทำงาน

SET Social Impact Platform  แนะนำ ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) SE เข้มแข็งผ่านข้อมูลเชิงลึกอัพเดทการทำงานและบอกเล่าผ่าน founder ซึ่งถูกคัดเลือกเข้าร่วมรับการพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจโดย “โค้ช” ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ และบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ  6 รุ่น ในโครงการ SET Social Impact GYM วันนี้ผู้ประกอบการได้มีการทำงานสร้างธุรกิจให้เติบโตควบคู่เติมเต็มพลังให้กับสังคมไทยในหลากหลายมิติ

Relationflip ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่สร้างช่องทางให้พนักงานในองค์กรต่าง ๆ สามารถเข้ารับคำปรึกษาจากนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ แบบรายบุคคล ผ่านทางโทรศัพท์ นับเป็นอีกหนึ่งสวัสดิการที่องค์กรสามารถจัดให้พนักงานเช่นเดียวกับสวัสดิการด้านสุขภาพร่างกายอื่น ๆ เพื่อให้พนักงานมีความสุขในการใช้ชีวิตส่วนตัวและมีความสุขในการทำงาน

โอกาสป่วยทางใจเกิดขึ้นได้ไม่ต่างจากเจ็บป่วยทางกาย: วินัดดา จ่าพา ผู้ก่อตั้ง Relationflip เดิมเคยเป็นพนักงานประจำที่มองเห็นว่า คนในวัยทำงานนอกจากจะไม่สบาย เจ็บป่วยทางร่างกายแล้ว ยังมีความเครียดในการทำงาน ไม่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา จึงรวบรวมนักจิตวิทยา และจิตแพทย์ ขึ้นมาเป็นเครือข่ายในการให้คำปรึกษา โดยมองว่า เป็นสิ่งที่องค์กรต่าง ๆ ควรต้องให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องในระยะยาว เพราะไม่ว่าใครก็ล้วนมีความเครียดได้ทั้งนั้น จากนั้นจึงค่อยพัฒนามาสู่การทำธุรกิจ โดยเน้นไปที่ลูกค้าองค์กร เป็นกลุ่มคนวัยทำงาน ซึ่งเป็นเสาหลัก หารายได้ให้กับครอบครัว

เมื่อ Relationship กลายเป็น Relationflip:  ผู้ก่อตั้ง Relationflip มองว่า ปัญหาส่วนใหญ่ที่เข้ามาปรึกษามักเกิดจากความไม่เข้าใจในเรื่องความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งกับตนเอง คนรอบข้าง เพื่อนร่วมงาน หรือคนในครอบครัว จึงเป็นที่มาของชื่อธุรกิจ Relationflip หรือความสัมพันธ์ที่พลิกผันเปลี่ยนแปลง ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่า Relationship ที่หมายถึงความสัมพันธ์นั่นเอง

ปรึกษาได้ทั้งปัญหาเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว: ปัญหาที่สร้างให้เกิดความเครียดอาจเป็นได้ทั้งเรื่องในที่ทำงาน หมดไฟในการทำงาน ช่องว่างระหว่างวัย หรือเรื่องส่วนตัว อกหัก ผิดหวัง ท้อแท้ จากคนใกล้ตัว ผู้รับคำปรึกษาส่วนใหญ่มักมีความคาดหวังและเกิดความกดดันต่อความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไปจากเดิม ขาดความยืดหยุ่นทางจิตใจ และอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า ซึ่งที่จริงแล้วคนที่รู้และเข้าใจปัญหาได้ดีที่สุดก็คือตัวผู้ที่เข้ามาปรึกษา เพียงแค่ขาดกำลังใจ ต้องการให้ใครสักคนรับฟัง หรือไม่แน่ใจว่า ควรจะรับมือหรือแสดงออกกับสิ่งที่เกิดขึ้นตามที่คิดหรือตั้งใจไว้ได้หรือไม่

Buddy คู่ใจให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง: ผู้ที่จะมาใช้บริการรับคำปรึกษาจะต้องทำแบบสอบถามคัดกรอง จำแนกประเภทของปัญหาและระดับของความเครียดก่อน จากนั้น Relationflip ก็จะจัดให้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทั้งนักจิตวิทยา ที่จะคอยให้คำแนะนำช่วยแก้ไขปัญหาที่กำลังเผชิญ  หรือจิตแพทย์ ซึ่งสามารถวินิจฉัย และสั่งจ่ายยา ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของปัญหา โดยลูกค้าสามารถเลือกเวลาที่สะดวก แล้วนัดเวลาล่วงหน้า เพื่อรับคำปรึกษาทางโทรศัพท์ ครั้งละ 50 นาที  ซึ่งช่วยประหยัดเวลาไม่ต้องเดินทางมาด้วยตนเอง อาจมีการนัดพูดคุยอย่างต่อเนื่องเพิ่มเติม เพื่อติดตามแก้ไขปัญหา และแน่นอนว่าเรื่องที่นำมาปรึกษาจะเก็บเป็นความลับตามจรรยาบรรณทางวิชาชีพ

Passion อย่างเดียวไม่พอที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ: Relationflip  มองว่า การเข้าร่วมโครงการเสริมศักยภาพผู้ประกอบการเพื่อสังคมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย SET Social Impact เพิ่มมุมมองทางการเงินมากขึ้น นอกเหนือไปจากความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือสังคม เข้าใจเรื่องรายรับรายจ่าย ต้นทุนกำไร ต้นทุนแฝงที่มองไม่เห็น ซึ่งอาจทำให้ขาดทุนได้ รวมไปถึงการขยายเครือข่ายลูกค้าเพิ่มเติมจากบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ  ที่เห็นความสำคัญกับสวัสดิการด้านสุขภาพจิตใจของพนักงานทำให้กิจการค่อย ๆ เติบโตได้อย่างยั่งยืน

ตั้งเป้าลูกค้า 100 องค์กรในอีก 1-2 ปีข้างหน้า: หลังทำธุรกิจมานาน 6 ปี ลูกค้าของ Relationflip ส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 30 องค์กร มีพนักงานที่มีปัญหาและเข้ามาใช้บริการในสัดส่วนประมาณ 5-10% ของพนักงานทั้งหมด โดยเฉลี่ย Relationflip จึงให้คำปรึกษาแก่พนักงานในองค์กรที่เป็นลูกค้ารวมวันละ 30 – 50 ราย ในขณะที่นักจิตวิทยาและจิตแพทย์ในเครือข่ายมีอยู่ประมาณ 80 คน มีศักยภาพเพียงพอที่จะรองรับการให้คำปรึกษากับพนักงานได้ถึง 100 รายต่อวัน จึงตั้งเป้าที่จะขยายกลุ่มลูกค้าองค์กรให้เพิ่มเป็น 100 บริษัทในอีก 1-2 ปีข้างหน้า และยังมีโครงการที่จะให้บริการนวัตกรรมเพื่อสังคมในด้านการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาเพิ่มเติมอีกในอนาคต


ภาคธุรกิจ และผู้ที่สนใจสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน และธุรกิจเพื่อสังคมอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ www.setsocialimpact.com
หรือศึกษาข้อมูลที่น่าสนใจของ Relationflip  ได้ที่ https://happy.relationflip.com/

 

ผู้เข้าชม  421