พลังแห่งความร่วมมือ จากพื้นที่แห้งแล้ง สร้างป่าสมบูรณ์ให้ชุมชนบ้านชัฏหนองยาว
จากงาน Climate Care Forum 2023 : Time to Reduce “ลด-เพื่อ-โลก” ในวันศุกร์ที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้เห็นถึงการสร้างผลกระทบเชิงบวกขององค์กรต่าง ๆ ที่เข้าร่วม Climate Care Platform ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนในองค์กรที่ร่วมกันลด และส่งเสริมจัดการทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า และภายในงานเองก็มีการมอบใบประกาศเกียรติคุณโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (โครงการ LESS) เพื่อยกย่ององค์กรที่ร่วมสร้างเปลี่ยนแปลง ให้เป็นต้นแบบต่อไป โดย Care the Wild เองเป็นโครงการหนึ่งที่สร้างผลกระทบเชิงบวกในวงกว้าง ทั้งสามารถปลูกต้นไม้ในป่าชุมชนได้หลายร้อยไร่ กระจายอยู่หลายจังหวัดในประเทศ แถมพื้นที่ป่าเหล่านี้ยังสามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจก เพื่อลดวิกฤตปัญหาโลกร้อนที่พวกเราเผชิญกันอยู่ในปัจจุบัน
หนึ่งในโครงการที่น่าสนใจ อย่าง “Care the Wild” ปลูกป้อง Plant & Protect ที่ปัจจุบันมีองค์กรพันธมิตรกว่า 81 องค์กร ดำเนินการปลูกต้นไม้ในพื้นที่ 12 ป่าชุมชน รวมทั้งสิ้น 377.5 ไร่ จำนวน 75,500 ต้น ในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย น่าน แพร่ มหาสารคาม นครราชสีมา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้ 679,500 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
โครงการนี้เป็นแพลตฟอร์มความร่วมมือการระดมทุนเพื่อสร้างผืนป่าแห่งใหม่ ผ่านภาคีองค์กรเครือข่ายทั้งภาครัฐ ได้แก่ สำนักจัดการป่าชุมชน กรมป่าไม้ และภาคเอกชนผู้สนับสนุนการปลูก โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในชุมชนในการปลูกและดูแลต้นไม้ที่ปลูกให้เติบโตตลอด 10 ปี กลายเป็นป่าชุมชนอย่างแท้จริง ซึ่งผู้ระดมทุนปลูกสามารถติดตามการเติบโตของต้นไม้และการทำงานของชุมชนอย่างต่อเนื่องใน Climate Care Platform
ป่าไม้เป็นหนึ่งในทรัพยากรธรรมชาติที่นับวันมีแต่จะยิ่งลดน้อยลง ทั้งถูกคุกคามจากภัยธรรมชาติอย่างไฟป่า และการบุกรุกจากมนุษย์เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ ถ้าหากขาดป่าไม้ไปแล้ว จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ สัตว์ป่า และวนกลับมาตัวเราเองในที่สุด
เพื่อยับยั้งมหันตภัยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จึงขับเคลื่อนโครงการ Care the Wild ปลูกป้อง Plant & Protect โดยมี "ป่าชุมชนบ้านชัฏหนองยาว" อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นพื้นที่ต้นแบบแห่งแรก ซึ่งทำงานกับภาคีเครือข่ายการปลูกป่า ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ คือ สำนักจัดการป่าชุมชน กรมป่าไม้ ภาคเอกชน (ผู้สนับสนุนการปลูก) และชุมชนที่ดูแลป่า เน้นการมีส่วนร่วมในการเพิ่มจำนวนต้นไม้เพื่อสร้างผืนป่าอย่างเป็นรูปธรรม และมุ่งสร้างระบบนิเวศให้สมดุลตั้งแต่ต้นทาง
ป่าชุมชนบ้านชัฏหนองยาว เป็นแปลงปลูกนำร่องของโครงการ ฯ เริ่มต้นปลูกในเดือนกันยายน ปี 2562 บนพื้นที่ 10 ไร่ ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรในภาคตลาดทุนบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด (TSD) บริษัท สำนักหักบัญชี (ประเทศไทย) จำกัด (TCH) ชมรมปฏิบัติการหลักทรัพย์ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) และชมรมคัสโตเดียน สนับสนุนงบประมาณ นำไปปลูกต้นไม้ได้กว่า 2,000 ต้น
ผืนป่าแห่งนี้ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 2 ตำบลห้วยขมิ้น อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี แต่เดิมเป็นพื้นที่ที่ถูกบุกรุก ก่อนที่ทวงคืนกลับมาเป็นป่าชุมชน อย่างไรก็ตามพื้นที่ตรงจุดนี้ถือว่าเป็นพื้นที่ที่แห้งแล้งมาก เพราะอยู่ในพื้นที่เงาฝน บวกกับการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นเวลานาน ส่งผลให้คุณภาพดินไม่ดีเท่าที่ควร ทางชุมชนจึงเลือกปลูกต้นไม้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มดังนี้
● กลุ่มไม้ป่า เป็นกลุ่มต้นไม้เดิมที่มีอยู่แล้ว เจริญเติบโตได้ในสภาพที่ดินดั้งเดิม เช่น พฤกษ์ กระถินณรงค์
● กลุ่มไม้เศรษฐกิจ เช่น ไม้พะยูง ไม้ประดู่ ไม้พะยอม
● กลุ่มต้นไม้ที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ได้ เช่น มะขามป้อม มะม่วง ขี้เหล็ก มะตูม มะขวิด มะขาม
นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นการปลูกต้นไม้บนผืนแปลงเมื่อ 7 กันยายน 2562 ชาวบ้านป่าชุมชนบ้านชัฏหนองยาวเอาใจใส่ดูแลต้นไม้ให้เติบโต สร้างกระบวนการดูแลติดตามอย่างเข้มแข็ง ด้วยการลำเลียงน้ำในหมู่บ้านมาเก็บไว้ในแทงค์น้ำและต่อท่อน้ำหยดรดไม้เกือบสัปดาห์ละ 2-3 ครั้งโดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้ง มีการจัดทำรั้วป้องกันไฟป่า และจัดเวรยามเฝ้าระวังไฟป่า ทีมงานโครงการ Care the Wild ทีมงานสำนักจัดการป่าชุมชน ลงพื้นที่ติดตามผลทุกปี และสนับสนุนช่วยเหลือชาวบ้านในการดูแลต้นไม้
นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ เป็นระยะเวลากว่า 3 ปี ต้นไม้กว่า 95% เจริญเติบโตได้ดี มีความสูงเฉลี่ยมากขึ้นกว่า 4-6 เมตร และต้นไม้บางประเภทก็สูงกว่า 6.5 เมตร วงรอบเติบโตประมาณ 15-16 เซนติเมตร เลยทีเดียว ซึ่งต้นไม้กว่า 2,000 ต้นช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้ 18,000 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่าในทุกปี
ความสำเร็จในครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากแรงสนับสนุนขององค์กรที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ผืนป่ายังได้รับการดูแลจากชาวบ้านในชุมชน ที่ร่วมใจช่วยกันดูแลรักษาป่าชุมชนบ้านชัฏหนองยาวอย่างเข้มแข็งอย่างไม่ย่อท้อมาโดยตลอด ที่สำคัญผืนป่าแห่งนี้ยังไม่เคยเกิดไฟป่าแม้อยู่ในช่วงหน้าแล้ง ผสมผสานกับการวางระบบท่อน้ำหยดที่ช่วยให้ต้นไม้เจริญเติบโตได้ดี จนกลายเป็นการดูแลที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จนนับได้ว่าเป็นต้นแบบป่าชุมชนที่ประสบความสำเร็จของโครงการ Care the Wild ที่จะเห็นผลในป่าชุมชนอื่น ๆ ที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานของโครงการฯ ในไม่ช้านี้อย่างแน่นอน
ทั้งนี้ ชุมชนเข้มแข็งแห่งนี้จะทำหน้าที่ดูแลและติดตามผลการปลูกป่าชุมชนบ้านชัฏหนองยาวต่อเนื่องไปจนครบ 6 ปี ตามเป้าหมายที่โครงการกำหนดไว้ ซึ่งจะช่วยพัฒนาเขตชุมชนเป็นพื้นที่สีเขียว และคืนความอุดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งอาหารธรรมชาติสร้างประโยชน์กลับสู่ชุมชนนั่นเอง
งาน Climate Care Forum 2023 : Time to Reduce “ลด-เพื่อ-โลก” ในครั้งนี้ถือเป็นเครื่องยืนยันว่าความพยายามดำเนินการโครงการ Care the Wild เป็นการสร้างผลกระทบในเชิงบวกอย่างเป็นรูปธรรมจริง ๆ
ป่าชุมชนบ้านชัฏหนองยาวนับเป็นพื้นที่ต้นแบบของโครงการ Care the Wild ที่มีภาคเอกชนเป็นผู้สนับสนุน ร่วมกับความร่วมมือของชุมชนในพื้นที่เป็นฟันเฟืองสำคัญ ในการสร้างความเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะต่อยอดไปสู่การเพิ่มป่าชุมชนในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ เป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน
องค์กรที่สนใจร่วมปลูกต้นไม้ให้ได้ป่ากับโครงการ Care the Wild : Plant & Protect
ติดต่อ SET contact center 0-2009-9999
อีเมล : carethewild@set.or.th
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม : https://climatecare.setsocialimpact.com/care-the-wild
____________________
#ClimateCarePlatform #CaretheWild