Care the Whale ขยะล่องหน : เศษอาหารมีค่า ส่งมา สถานีขยะล่องหน @ ชุมชนคุ้งบางกะเจ้า วัดจากแดง



Care the Whale  ขยะล่องหน : เศษอาหารมีค่า ส่งมา สถานีขยะล่องหน @ ชุมชนคุ้งบางกะเจ้า วัดจากแดง

     รู้หรือไม่ว่าปัญหา ‘ขยะเศษอาหาร’ ส่งผลกระทบกับอะไรบ้าง ที่เห็นได้ชัดก็น่าจะเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะ การสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติเนื่องจากถูกทิ้งโดยไม่เกิดประโยชน์ และยังทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน เนื่องจากสารอินทรีย์ที่มีอยู่ในขยะเศษอาหาร จะถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์แบบไม่ใช้อากาศ ก่อให้เกิดก๊าซมีเทนเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้เกิดภาวะโลกร้อนได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ และด้วยชื่อเสียงของคุ้งบางกะเจ้าในฐานะปอดของคนกรุงเทพฯ ทำให้ผู้คนเริ่มสนใจและอยากไปสัมผัสพื้นที่แห่งนี้มากขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการรับมือและบรรเทาปัญหาที่เกิดจากขยะเศษอาหาร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ SET จึงร่วมกับ วัดจากแดง และพันธมิตรภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) และ บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน)  ขับเคลื่อนสถานีขยะล่องหน รวมพลังมหาชุมชน คุ้งบางกะเจ้าภายใต้การดำเนินโครงการ ‘Care the Whale : ขยะล่องหน’ ด้วยการกำจัดคำว่า ‘ขยะ’ ให้หายไป ร่วมหาทางใช้ให้ถึงที่สุด รณรงค์และส่งเสริมให้ประชาชน ชุมชน โรงเรียน ร้านอาหาร และสถานประกอบการต่างๆ ให้มีการคัดแยกขยะ 6 ประเภท โดยขยะประเภทล่าสุดที่นำเข้ามาร่วมโครงการ คือขยะเศษอาหาร

     โดยวัดจากแดง จ.สมุทรปราการ ได้เปิดพื้นที่ให้คนในชุมชนคุ้งบางกะเจ้า รวมถึงประชาชนที่สนใจสามารถนำขยะเศษอาหารมาส่งที่‘สถานีขยะล่องหน รวมพลังมหาชุมชน คุ้งบางกะเจ้า’ เพื่อนำขยะเศษอาหารเข้าสู่กระบวนการที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไป เช่น การทำน้ำหมักชีวภาพ, ปุ๋ยหมักอินทรีย์, ให้เกษตรกรและชาวบ้านนำไปปลูกพืชผักผลไม้ เป็นต้น

สถานีขยะล่องหน รวมพลังมหาชุมชน คุ้งบางกะเจ้าเป็นโมเดลต้นแบบของความร่วมมือหน่วยงานภาคเอกชนต่างๆและภาคสังคมของการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมในระดับชุมชนที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งสถานีขยะล่องหนฯ ณ วัดจากแดง มุ่งมั่นตั้งใจบริหารจัดการขยะและของเสียจากขยะเศษอาหาร ผ่านแพลตฟอร์มความร่วมมือด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมที่สามารถวัดผลลัพธ์ทางสังคมได้ หรือ Climate Care Platform ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก ตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยนำไปใช้ในการคำนวณปริมาณน้ำหนักขยะเศษอาหาร ว่ามีส่วนช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้มากน้อยเพียงใด

    โดยตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงกลางปี 2566 พบว่ามีปริมาณขยะเศษอาหารที่ประชาชนส่งมาวัดจากแดง รวมกว่า 48,557 กิโลกรัม ซึ่งได้ร่วมกันลดก๊าซเรือนกระจกจากการบริหารจัดการขยะได้แล้วกว่า 117,556.50 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2e) หรือเทียบเท่ากับการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปีของต้นไม้จำนวน  13,062 ต้น

     จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของ สถานีขยะล่องหน รวมพลังมหาชุมชน คุ้งบางกะเจ้า ที่เกิดจากความร่วมมือและความกระตือรือร้นจากการคัดแยกขยะของคนในชุมชนคุ้งบางกะเจ้า ที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง

     นอกจากจะช่วยสร้างจิตสำนึกที่ดีและให้ประชาชนตระหนักรู้ถึงปัญหาของสิ่งแวดล้อม เพื่อร่วมกันหาแนวทางกำจัดขยะให้หายไปแล้ว  ชาวชุมชนคุ้งบางกะเจ้ายังสามารถนำขยะเศษอาหารไปแลกเป็นของกินของใช้ หรือสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ยารักษาโรค ฯลฯ ซึ่งเป็นโครงการภายใต้แคมเปญ ‘เก็บ แยก แลก เร๊วววว’ ที่ได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรชั้นนำอย่าง บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ในขณะที่บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) สนับสนุนเครื่องดื่มบริษัทในเครือให้กับวัดจากแดง และ บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) ได้ดูแลสุขภาพ โดยออกตรวจสุขภาพคนในชุมชน 6 ตำบล ทำให้คนในชุมชนเล็งเห็นถึงคุณค่าของขยะว่าไม่ใช่เพียงแค่ขยะ แต่เป็นสิ่งที่มีมูลค่า สามารถช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพได้ ซึ่งจะกลายเป็นต้นแบบให้หน่วยงานและชุมชนอื่นๆ เข้ามาศึกษาต่อไป

 


พระราชวัชรบัณฑิต (ประนอม ธัมมาลังกาโร) เจ้าอาวาสวัดจากแดง

เศษอาหารมีค่า ส่งมา ‘วัดจากแดง’

               ‘วัดจากแดง’ ถือเป็นวัดต้นแบบของการจัดการขยะแห่งหนึ่งของไทย ซึ่งตั้งอยู่ในชุมชนคุ้งบางกะเจ้า จ.สมุทรปราการ โดยมีแนวทางการดำเนินงานด้านการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ เพื่อนำขยะทุกอย่างมาใช้ให้เป็นประโยชน์และแก้ปัญหาขยะในชุมชน ทั้งยังเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้อบรมการจัดการขยะที่สอดแทรกหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา เพื่อปลูกจิตสำนึกที่ดีเรื่องสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

หนึ่งในผู้มีส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนปฏิบัติการจัดการขยะในชุมชนอย่าง พระราชวัชรบัณฑิต (ประนอม ธัมมาลังกาโร) เจ้าอาวาสวัดจากแดง ก็ได้มาเล่าถึงปัญหาขยะเศษอาหารภายในวัดและชุมชนโดยรอบวัด ที่มีปริมาณมากเกินความสามารถที่วัดจะจัดการได้ในแต่ละวัน จึงได้หาแนวทางจัดการขยะให้เกิดประโยชน์สูงสุด


ถังจำแนกขยะเศษอาหารแต่ละประเภท

 

      “ในทุกวันหลังจากพระฉัน หรือโยมทานเสร็จ ก็จะมีเศษอาหารเหลือทิ้ง รวมถึงการทำอาหารก็จะมีเศษผักเศษผลไม้เช่นกัน ในอดีตเราก็จะทิ้งเศษอาหารลงถังไปเลย ทำให้เศษอาหารเกิดการบูดเน่า แต่ในขณะที่ยังไม่บูดไม่เน่าก็จะมีสุนัขจรจัดเข้ามาคุ้ยถัง ทำให้เศษขยะกระจุยกระจายเต็มไปหมด

     “ช่วงแรกทางวัดแก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนที่วางถังขยะก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะสุนัขจรจัดก็ยังมาคุ้ยขยะเหมือนเดิม พอคิดใหม่ว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ต้นเหตุหายไป ทางวัดจึงคิดจะทำปุ๋ยจากขยะเศษอาหารอย่างจริงจัง เพื่อทำให้ขยะจากเศษอาหารหายไป”

      จากปัญหาที่เกิดขึ้นชี้ให้เห็นว่า ขยะเศษอาหารมักไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม จนกลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค ส่งกลิ่นเหม็น และสร้างก๊าซมีเทนที่ก่อให้เกิดปัญหาสภาพแวดล้อมตามมาอีกมากมาย          ดังนั้น วัดจากแดง ตั้งจุดรับขยะทั้งที่มาจากภายในชุมชนและภายนอกชุมชน เพื่อนำขยะมาบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ

ปุ๋ยอินทรีย์จากขยะเศษอาหาร

 

     How to ‘ล่องหนขยะเศษอาหาร’ แก้ปัญหาขยะล้นเมือง

     หลังจากรวบรวมขยะเศษอาหารจากชุมชนและภายในวัดมาเรียบร้อยแล้ว พระประนอม ธัมมาลังกาโร ก็อธิบายถึงกระบวนการและวิธีการในการจัดการขยะเศษอาหารที่เกิดขึ้นว่า เศษอาหารที่มาจากภายในวัดและมาจากชุมชนโดยรอบวัดจะถูกนำมาขึ้นตาชั่ง โดยมีการเก็บข้อมูลไว้ทุกวัน อย่างวันธรรมดาก็จะมีปริมาณขยะเศษอาหารประมาณ 40-50 กก. แต่หากเป็นวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หรือวันพระ เศษอาหารก็จะมีปริมาณสูงขึ้นกว่า 100 กก.

     “จากการเก็บข้อมูลต่างๆ จะช่วยให้ทางวัดทราบได้ว่า วันหนึ่งมีปริมาณขยะเท่าไหร่ ในแต่ละเดือนจะมีเท่าไหร่ แล้วนำข้อมูลเหล่านี้มาประเมินถึงการจัดการขยะเพื่อจะได้วางแผนการดำเนินงานและจัดกิจกรรมเพื่อรับมือปริมาณขยะ
ในแต่ละวันได้อย่างเหมาะสม

     “ขณะเดียวกันก็ได้แนะนำญาติโยมให้รู้จักการคัดแยกขยะ ผ่านการเทศนาภายในวัดและออกเดินทางไปบรรยายตามสถานที่ต่างๆ ให้ญาติโยมได้คัดแยกขยะอย่างเป็นระบบ และชี้ให้เห็นถึงข้อดีของการคัดแยกขยะอย่างเป็นรูปธรรม เช่น สุนัขจะไม่มาคุ้ยที่ถังขยะ หรือขยะหน้าบ้านที่เน่าเหม็นก็จะไม่เน่าเหม็น ซึ่งหากบ้านไหนเข้าร่วมโครงการกับทางวัด ก็จะมีการมารับเอาเศษอาหารเหล่านี้ไปทำปุ๋ย แล้วนำมาแจกให้คนในชุมชน” เจ้าอาวาสวัดจากแดง กล่าว

เมื่อวัดจากแดงได้ขยะประเภทเศษอาหารมาแล้ว ก็จะนำเข้าสู่กระบวนการแปรรูปเป็นปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพและปุ๋ยอินทรีย์ ที่ผลิตจากเศษอาหาร เศษผัก เปลือกผลไม้ กิ่งไม้ และใบไม้ ที่วัดจากแดง ซึ่งเป็นกระบวนการที่ปลอดสารพิษและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
 

เครื่องผลิตปุ๋ยหมักและก๊าซชีวภาพ  

ล่องหน ‘ขยะเศษอาหาร’ สู่ ‘ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพและปุ๋ยอินทรีย์’ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

            “ขยะเศษอาหาร หรือขยะอินทรีย์ ที่เหมาะสมกับการนำมาแปรรูปเป็นปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพและปุ๋ยอินทรีย์นั้น ควรเป็นขยะประเภทที่สามารถย่อยสลายได้ง่าย อาทิ ปลา เนื้อสัตว์ กระดูก เปลือก กระดองของสัตว์ ผัก ผลไม้ เมล็ดผลไม้ เศษอาหารสด เศษเปลือกไข่ กากกาแฟ และมูลสัตว์ เป็นต้น

“หากเป็นเศษอาหารที่มีแกนแข็ง เนื้อหยาบ และมีเปลือกหุ้มหนา ก็ต้องสับเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วใส่ลงไปในถังเก็บ จากนั้นจะผ่านกระบวนการย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ ก่อนผลลัพธ์จะออกมาเป็นปุ๋ยที่มีคุณภาพและมีประโยชน์ในการใส่พืชผัก” เจ้าอาวาสวัดจากแดงแนะวิธีการคัดแยกขยะเศษอาหาร ก่อนจะนำเข้าเครื่องกำจัดเศษอาหารให้เป็นปุ๋ยภายใน 24 ชั่วโมง

เครื่องดังกล่าวจะช่วยลดปริมาณขยะได้ถึง 80-90% ภายในวันเดียว แต่ทั้งนี้ก่อนจะนำเศษอาหารไปเข้าเครื่อง ต้องมีกระบวนการคัดแยกขยะเศษอาหารให้เรียบร้อยเสียก่อน อย่างการแยกเศษอาหารออกจากถุงพลาสติก หรือการคัดแยกขยะประเภทอื่นๆ ออกจากเศษอาหาร เป็นต้น

หลังจากดำเนินการคัดแยกเรียบร้อยแล้วก็นำเศษอาหารที่ได้ไปเข้าเครื่องบด และเมื่อบดเสร็จก็ต้องมีการจำแนกขยะเศษอาหาร เพื่อนำไปผลิตเป็นปุ๋ยแบบเปียกและปุ๋ยแบบแห้ง ซึ่งปุ๋ยแบบเปียก หรือปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพจะมีเครื่องมือสำหรับใช้ในการผลิตโดยเฉพาะ และสามารถใส่ปริมาณเศษอาหารจำนวนมากเข้าไปได้ รวมทั้งสามารถผลิตปุ๋ยออกมาได้แบบวันต่อวัน                                                             

 



ปุ๋ยอินทรีย์ที่ถูกบรรจุใส่ถุงพร้อมจำหน่ายและแจกจ่าย

 

     ส่วนปุ๋ยแห้งนั้น หลังจากนำเศษอาหารเข้าเครื่องบดเรียบร้อยแล้ว ก็นำไปผสมกับใบไม้แห้งที่บดเอาไว้ เติมหัวเชื้อเข้าไปและผสมเข้าด้วยกัน เมื่อทุกอย่างผสมลงตัวแล้วก็บรรจุใส่กระสอบพร้อมจำหน่าย ถือเป็นการนำเงินเข้าวัด ขณะเดียวกันก็นำปุ๋ยที่ได้มาบรรจุแจกจ่ายให้คนในชุมชนต่อไป

“สำหรับคุณสมบัติของปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตจากขยะเศษอาหารของชุมชนโดยรอบวัดจากแดง เหมาะสำหรับพืชประเภทไม้ใบและไม้ผล ช่วยปรับปรุงโครงสร้างและคุณภาพของดินให้ดีขึ้น ทำให้ดินโปร่งและร่วนซุย เพิ่มช่องว่างระหว่างเม็ดดิน เพิ่มปริมาณก๊าซออกซิเจนในดิน ซึ่งจะช่วยให้ระบบรากของพืชเจริญเติบโตได้ดี มีความสามารถในการอุ้มน้ำและธาตุอาหาร พืชจึงสามารถดูดน้ำและธาตุอาหารได้มากขึ้น นอกจากนั้นยังช่วยเพิ่มจุลินทรีย์ในดินได้ดีอีกด้วย”

     สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า วัดจากแดงมีศักยภาพและมีความสามารถในการจัดการขยะเปียก โดยต่อยอดนำไปทำเป็นปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพและปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง ที่ใช้ให้เกิดประโยชน์กับวัดและในชุมชน รวมถึงเป็นการส่งเสริมการจัดการขยะที่ถูกต้องอีกด้วย

      ขณะเดียวกันการเปลี่ยนขยะเศษอาหาร หรือขยะอินทรีย์ให้เป็นปุ๋ย ของชุมชนรอบวัดจากแดง ก็นับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่างวัดและชุมชน ในการจัดการขยะอินทรีย์อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม ซึ่งสามารถสร้างประโยชน์ สร้างความสุข รวมถึงสร้างสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับสมาชิกในชุมชนและโลกของเราต่อไป
 

‘สถานีขยะล่องหนทันที’ อำนวยความสะดวกรับขยะเศษอาหารถึงหน้าบ้าน

รับผิดชอบต่อสังคม เริ่มต้นจากการ ‘คัดแยกขยะ’

                แม้วัดจากแดงจะมีการขับเคลื่อนและปลูกฝังให้คนเห็นคุณค่าเรื่องการบริหารจัดการและคัดแยกขยะในพื้นที่มา
อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังมีคนที่วางเฉย ไม่เห็นความสำคัญในการจัดการคัดแยกขยะ ดังนั้น จึงต้องสร้างความตระหนักให้ทุกคนรับรู้ผลกระทบที่เกิดจากการสร้างสิ่งปฏิกูล เพื่อให้ทุกคนตระหนักรู้ และระมัดระวังในการทิ้งมากขึ้น

โครงการ ‘Care the Whale ขยะล่องหน’ ของ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ SET จึงขอเป็นคานงัดที่สำคัญในการร่วมแปรเปลี่ยนขยะเศษอาหารให้กลายเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า ไม่เหลือเป็นสิ่งตกค้างทำลายสิ่งแวดล้อม ณ สถานีขยะล่องหน รวมพลังมหาชุมชน คุ้งบางกะเจ้า โดยเปิดให้คนในชุมชนคุ้งบางกะเจ้านำขยะเศษอาหารมาส่งที่สถานีขยะล่องหนได้ ที่วัดจากแดง จ.สมุทรปราการ

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังสนับสนุนรถสามล้อไฟฟ้าปลอดมลพิษ เพื่อเป็น ‘สถานีขยะล่องหนทันที’ อำนวยความสะดวกให้กับชุมชน ไปรับขยะเศษอาหารถึงหน้าบ้านอีกด้วย

สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในชุมชนคุ้งบางกะเจ้า ก็มีส่วนร่วมแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมได้ โดยเริ่มต้นจากการลงมือ ‘คัดแยกขยะ’ ก่อนทิ้ง เพื่อหาทางไปต่อให้ขยะ ได้กลับมาเป็นประโยชน์แก่ทุกคนและโลกใบนี้ได้อย่างไม่ไร้ค่าอีกต่อไป
___
#CaretheWhale 

ผู้เข้าชม  3696