‘Care the Whale: ขยะล่องหน’ เดินหน้าต่อยอด ‘ขยะแตกได้’ สู่โมเดลจัดการขยะอย่างยั่งยืน

รู้หรือไม่ว่าขยะในชีวิตประจำวันของเรา มีขยะประเภท ‘ขยะแตกได้’ ปะปนอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งขยะประเภทนี้ถือเป็นหนึ่งในขยะมูลฝอยที่ปะปนอยู่ในวงจรชีวิตประจำวัน และหลายคนยังไม่ทราบถึงแนวทางจัดการขยะว่าจะทำอย่างไรให้ถูกต้องและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  

ปัจจุบันปริมาณขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายจากชุมชน อุตสาหกรรม และพื้นที่การให้บริการต่างๆ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก มีเพียงบางส่วนที่ถูกเก็บขนไปกำจัดอย่างถูกต้อง ทำให้เกิดปัญหาขยะตกค้างเป็นจำนวนมาก รวมทั้งของเสียอันตรายและขยะมูลฝอยติดเชื้อบางส่วน ถูกลักลอบนำไปทิ้งตามพื้นที่รกร้าง รวมถึงสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยชุมชน ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาด้านสุขภาพ

 

จากข้อมูลล่าสุดของ กรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า สถานการณ์ขยะมูลฝอยในปี 2565 มีปริมาณมากถึง 25.70 ล้านตัน ซึ่งเป็นขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัดไปอย่างไม่ถูกต้องและเป็นขยะมูลฝอยตกค้าง มีปริมาณรวมกันถึง 17.01 ล้านตัน ขณะเดียวกันหากเปรียบเทียบปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ เมื่อปี 2564 ที่มีปริมาณขยะรวม 24.98 ล้านตัน ก็แสดงให้เห็นว่าปริมาณขยะนับวันจะยิ่งทวีคูณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากเราไม่ร่วมกันหาแนวทางจัดการดูแลปัญหาขยะมูลฝอยเหล่านั้น    

ด้วยเหตุนี้ หลายภาคส่วนจึงพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว ผ่านการริเริ่มโครงการต่างๆ เพื่อร่วมกันหาแนวทางปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หนึ่งในองค์กรชั้นนำด้านความยั่งยืนอย่าง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ SET ในฐานะเป็นพลเมืองโลก ร่วมด้วยพันธมิตรภาคธุรกิจและธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ได้ตระหนักถึงปัญหาและมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาจากจุดเริ่มต้น สู่การแปรรูปและจัดการขยะอย่างเหมาะสม 

จนเกิดเป็นโครงการ Care the Whale ‘ขยะล่องหน’ ขึ้นในปี 2562 ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม ที่เกิดจากการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมของภาคธุรกิจบนพื้นที่ถนนรัชดาภิเษก โดยร่วมผนึกกำลังออกแบบและขับเคลื่อนโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาและลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้น ทั้งยังมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม (UN SDGs 13 Climate Action) และบริหารจัดการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล

 
 

จากข้อมูลดังกล่าว แสดงให้เห็นผลลัพธ์ของการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่งกับองค์กรภาคธุรกิจ ดังนั้น โครงการ Care the Whale จึงขยายผลไปสู่ชุมชน โดย SET ได้จับมือกับ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) และวัดจากแดง จ.สมุทรปราการ จัดตั้ง ‘สถานีขยะล่องหน @ชุมชนคุ้งบางกระเจ้า’ ที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ผ่านการออกแบบให้มีการบริหารจัดการขยะอย่างเป็นระบบ เพื่อหาแนวทางกำจัดคำว่า ‘ขยะ’ ให้หายไป โดยหาทางใช้ให้ถึงที่สุด  

โดยมีวัดจากแดงเป็นศูนย์กลาง ให้คนในชุมชนสามารถเก็บรวบรวม คัดแยก และนำขยะมาสะสมแต้ม แลกเป็นของใช้สำหรับอุปโภคบริโภค เพื่อนำขยะเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล และ Up Cycling นำกลับมาใช้ใหม่ เป็นผลิตภัณฑ์กลับคืนสู่ชุมชน ซึ่งเป็นการคัดแยกขยะ 6 ประเภท ภายใต้การปฏิบัติการขยะล่องหน ได้แก่ ขวดขุ่น ขวดใส ถุงใส เศษผ้า ขวดแก้ว และเศษอาหาร 

 
 
 

เมื่อขยะทั้ง 6 ประเภท ถูกคัดแยกและจัดการอย่างเป็นระบบแล้ว ตลาดหลักทรัพย์ฯ เล็งเห็นว่า ยังมีขยะอีกหลายประเภทที่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการ หนึ่งในนั้นคือ ‘ขยะแตกได้’ ซึ่งขยะประเภทนี้ยังไม่ได้รับการจำแนกอย่างเป็นกิจจะลักษณะ แต่ถือเป็นขยะที่มีความอันตรายหากมีการคัดแยกและจัดการอย่างไม่ถูกวิธี ทั้งยังสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล 

ซึ่งขยะประเภทนี้อาจแบ่งเป็นชนิดขยะได้หลากหลายรูปแบบ อาทิ เศษกระเบื้อง เซรามิก หลอดไฟ กระจก แก้วแตก พลาสติกประเภทแตกได้ ฯลฯ ขณะที่หลายคนอาจจะจำแนกขยะเหล่านี้ว่าเป็นขยะอันตรายและไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่แท้จริงแล้วขยะแตกได้บางชนิดหากเข้าสู่กระบวนการจัดการอย่างเป็นระบบ ก็จะสามารถนำมารีไซเคิลแล้วกลับมาใช้ใหม่ได้ ฉะนั้นจึงต้องช่วยกันรณรงค์และสร้างห่วงโซ่ของการจัดการระบบให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

 

ร่วมกันเปลี่ยน ‘ขยะแตกได้’ สู่การหาทางใช้ให้ถึงที่สุด

การนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์และหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการช่วยลดปริมาณขยะที่ต้องกำจัด ขณะเดียวกันยังเป็นการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติโดยการใช้ซ้ำหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น 

อย่างในสหภาพยุโรปก็มีการจัดการขยะอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการของเสีย นั่นคือ การมุ่งสร้างสังคมที่เน้นฐานการรีไซเคิล เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้วัตถุดิบ หรือการรีไซเคิลวัสดุให้ได้มากที่สุด เพื่อไม่ให้มีของเสียอีกต่อไป

ปัญหาการเพิ่มขึ้นของขยะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากเราทุกคน ดังนั้น การช่วยลดปัญหานี้ให้เบาลงได้ คือ การเริ่มสร้างจิตสำนึกของตนเองก่อนทิ้งขยะทุกครั้ง ด้วยการแยกถังขยะออกตามประเภทของขยะ ทั้งขยะทั่วไป ขยะเปียก ขยะอันตราย และขยะรีไซเคิล รวมทั้งควรเพิ่มขยะอีกประเภท คือ การคัดแยกขยะแตกได้ ซึ่งเป็นขยะที่มีความอันตราย แต่หากมีการคัดแยกอย่างเป็นระบบ ก็จะสามารถนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยควรมีการคัดแยกดังต่อไปนี้

 

ขยะประเภทแก้ว เป็นวัสดุที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ แต่หลอมทำใหม่ได้ ขวดแก้วทุกประเภทนำมารีไซเคิลได้ แต่หากมี เศษแก้วแตก หรือ เศษกระจกแตก ก็ควรมีวิธีจัดการที่เหมาะสมในการเก็บทิ้ง เพราะอาจเป็นอันตรายทั้งต่อตนเองและผู้อื่นได้ โดยเฉพาะพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการเก็บขยะโดยตรง ดังนั้น ก่อนทิ้งควรจะห่อกระดาษหนังสือพิมพ์หลายๆ ชั้น แล้วตามด้วยห่อถุงดำหนาๆ ใส่ในกล่องให้มิดชิด ไม่ให้ความคมของแก้วที่แตก บาดมือของคนเก็บขยะ ทั้งยังต้องเขียนป้ายแปะติดด้วยว่า ‘ระวังเศษแก้ว’ ให้เห็นเด่นชัด เพื่อเพิ่มความปลอดภัย 

    เมื่อปิดมิดชิดแล้วควรนำไปทิ้งในถังขยะรีไซเคิล หรือนำไปส่งยังสถานที่ที่รับขยะประเภทนี้ อย่าง สถานีขยะล่องหน รวมพลังมหาชุมชน คุ้งบางกะเจ้า ณ วัดจากแดง จ.สมุทรปราการ เพื่อจะได้นำเศษแก้วแตกเหล่านั้นไปหลอม นำกลับมาใช้ใหม่ได้ 

 

 

ขณะที่ ขยะหลอดไฟ ถือเป็นขยะที่นำกลับมารีไซเคิลได้ หากมีการจัดการอย่างถูกวิธี โดยหลอดไฟที่เสื่อมสภาพและไม่สามารถใช้งานได้ เมื่อผ่านการจัดการจนได้ปรอทบริสุทธ์แล้ว จะถูกนำเข้าเครื่องบดย่อยและได้ออกมาเป็นเศษแก้วละเอียด ส่วนขั้วหลอดที่ตัดทิ้ง ก็จะถูกคัดแยกระหว่างอะลูมิเนียม พลาสติก และโลหะอื่นๆ นำเข้าโรงหลอมต่อไป

ดังนั้น จึงควรคัดแยกหลอดไฟเสียและหลอดไฟที่แตกออกจากกัน หลอดไฟที่แตกให้ใส่ถุงที่มีกระดาษหนังสือพิมพ์ หรือเศษกระดาษห่อหุ้มอย่างแน่นหนา เขียนกำกับข้างถุงให้ชัดเจนว่าเป็นหลอดไฟแตก ส่วนหลอดไฟที่หมดอายุการใช้งาน ให้ใส่ในปลอกหลอดไฟที่ติดมากับหลอดไฟใหม่ และทิ้งใน ‘ถังขยะอันตราย’ หรือกล่องที่รองรับขยะอันตรายโดยเฉพาะ

นอกจากนี้ ยังมี ขยะประเภทวัสดุเซรามิก อาทิ กระเบื้องปูพื้นและผนัง ถ้วยชาม ตลอดจนเครื่องสุขภัณฑ์ต่างๆ ที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่น้อยมาก ทั้งที่วัสดุเหล่านี้มีปริมาณการผลิตและการใช้งาน ตลอดจนผลิตภัณฑ์ที่เป็นของเสียทั้งในระหว่างการผลิตและการใช้งาน ที่ต้องกลายเป็นขยะในแต่ละครั้งเป็นจำนวนมาก

ทำให้การนำวัสดุเซรามิกมารีไซเคิลจำเป็นต้องบดวัสดุเซรามิก ซึ่งเป็นวัสดุที่มีความแข็งแรงสูง ให้มีสภาพเป็นผงละเอียดมากเสียก่อน เนื่องจากการผลิตวัสดุเซรามิก เริ่มต้นด้วยการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ให้ได้รูปทรงตามต้องการ แล้วนำไปเผาผนึกในภายหลัง ซึ่งต่างจากการหลอมแก้วหรือโลหะ ดังนั้น หากมีเม็ดผงขนาดใหญ่เกินไปปะปนอยู่ในเนื้อ จะทำให้เกิดตำหนิในเนื้อวัสดุและส่งผลต่อคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นไปตามความต้องการ

 

 

 

ส่วนวัสดุเซรามิกที่ผ่านการเผามาแล้วครั้งหนึ่ง จะมีโครงสร้างและคุณสมบัติแตกต่างจากวัตถุดิบตั้งต้นมาก อาทิ ความเหนียว การกระจายลอยตัวในน้ำ และถ้าจะนำวัสดุเซรามิกมารีไซเคิล ต้องมีการศึกษาค้นคว้าและปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตใหม่อีกด้วย 

ทั้งหมดนี้เองทำให้การรีไซเคิลวัสดุเซรามิกมีต้นทุนสูงกว่าการผลิตโดยใช้วัตถุดิบแบบดั้งเดิมอย่างมาก และนั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ในอุตสาหกรรมไม่นิยมนำวัสดุเซรามิกมารีไซเคิลใช้ใหม่เหมือนกับวัสดุอื่นๆ ซึ่งมีต้นทุนในการรีไซเคิลต่ำเมื่อเทียบกับการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ

แต่ใช่ว่าจะไม่มีอุตสาหกรรมที่นำวัสดุเซรามิกกลับมาใช้ใหม่ อย่างอุตสาหกรรมผลิตกระเบื้องบุผนัง ก็ได้มีการนำกลับมาใช้ใหม่ โดยนำของเสียที่เกิดขึ้นไปปรับใช้กับสูตรการผลิตในกระบวนการผลิตเดิม ด้วยการแยกของเสียและพัฒนาปรับสูตรการผลิต ทำให้ได้ของเสียและวัสดุเหลือใช้ที่สามารถนำไปรีไซเคิลต่อไป รวมถึงนำไปใช้ในกระบวนการผลิตใหม่ เช่น ใช้ในการเติมวัตถุดิบของปูนซีเมนต์ เป็นต้น

    จากทั้งหมดที่กล่าวมาทำให้เห็นว่า ทุกภาคส่วนล้วนมีความตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมและพยายามลงมือจัดการขยะในชีวิตประจำวันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการใช้ทรัพยากร ดังนั้น ทุกคนจึงมีความสำคัญต่อการสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในสังคม เพื่อให้เกิดความสมดุลในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม ในการมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

ซึ่งหนึ่งในองค์กรที่พยายามผลักดันเรื่องนี้มาตลอดก็คือ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ตั้งความหวังว่า ความสำเร็จจากโครงการ Care the Whale ‘ขยะล่องหน’ ที่ต่อยอดมาจนถึง ‘สถานีขยะล่องหน รวมพลังมหาชุมชน คุ้งบางกะเจ้า’ จะเป็นหนึ่งในโมเดลต้นแบบที่ช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมผ่านการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ รวมถึงช่วยให้คนในสังคมได้ตระหนักรู้และเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้ทุกคนได้เข้ามามีบทบาท และมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหากันอย่างเข้มแข็งและเกิดความยั่งยืนต่อไป

 

 

 

 

ผู้เข้าชม  1093