Green Economy : Next growth and survive ส่งเสริมการขับเคลื่อนภาคเอกชนสู่การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียว




Green Economy : Next growth and survive”
ส่งเสริมการขับเคลื่อนภาคเอกชนสู่การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียว

     ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยร่วมกับ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) และ The Gold Standard Foundation จัดงานเสวนาแลกเปลี่ยนข้อมูล แนวคิดและรับทราบถึง โมเดลและรูปแบบนวัตกรรมทางสังคมที่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมไปพร้อมกัน รวมถึงการนำกลไกคาร์บอนเครดิตมาร่วมพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นตัวอย่างหรือกรณีศึกษาให้ภาคเอกชนร่วมขับเคลื่อนการดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียว ตามนโยบายของภาครัฐที่มุ่งส่งเสริมให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความยั่งยืน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และ ธรรมาภิบาล และร่วมกันหาแนวทางให้ประเทศไทยมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อตอบเป้าประสงค์การพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals)
 

หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และ ผู้แทนการค้าไทย

 

      หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และ ผู้แทนการค้าไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ Green Economy : Next growth and survive”  ระบุว่า ตั้งแต่การประชุม COP26 ในปี 2021 ประเทศไทยได้ร่วมประกาศเป้าหมายที่จะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2065 ซึ่งนโยบายของภาครัฐในปัจจุบัน กำลังเดินไปในแนวทางนี้

ในปี 2030 ประเทศไทยตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 180 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2e) ซึ่งภาคส่วนต่าง ๆ จะต้องมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมพลังงานต้องเน้นเรื่องการใช้พลังงานทดแทน ภาคขนส่งสนับสนุนให้มีการเปลี่ยนผ่านไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า ส่วนภาคเกษตรกรรมก็ต้องพัฒนาเทคนิคให้ลดการปล่อยคาร์บอน และในปี 2040 พลังงานที่นำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าของประเทศมากกว่าครึ่งจะมาจากพลังงานหมุนเวียน โดยลดสัดส่วนการใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติ ตลอดจนถ่านหินและน้ำมันลง

นอกจากนี้ ในปัจจุบันหนึ่งในหลักเกณฑ์ที่นักลงทุนต่างชาติจะนำมาพิจารณาในการย้ายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศ ก็คือเรื่องของนโยบายด้านพลังงานสะอาด ซึ่งอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของไทย อาทิ การผลิตรถยนต์หากต้องการรักษาตำแหน่งผู้ผลิตอันดับ 10 ของโลก หรืออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่หากต้องการเป็นผู้ผลิตต้นน้ำ และกลางน้ำ ก็จะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องพลังงานสีเขียว

 

ศาตราจารย์พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ กรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ปรึกษา สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ)

 

     ศาตราจารย์พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ กรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ปรึกษา สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กล่าวว่า ในขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) หน่วยงานต่าง ๆ ในภาคการเงินการธนาคารก็ต่างปรับตัวด้วยเช่นกัน  อาทิ การออก Thailand Taxonomy มาตรฐานกลางที่ใช้อ้างอิงในการจำแนกและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของไทย

ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์ก็กำลังเร่งปรับปรุงเรื่องการบริการต่าง ๆ ไปสู่ Green Finance ส่วนตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ช่วยให้บริษัทจดทะเบียนมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องนี้ ช่วยสร้างธรรมาภิบาลและความน่าเชื่อถือมากขึ้น

Linda McElroy Deputy Mission Director, United States Agency for International Development, Regional Development Mission for Asia

 

     Linda McElroy Deputy Mission Director, United States Agency for International Development, Regional Development Mission for Asia กล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐฯเป็นพันธมิตรและร่วมมือกับ 5 ประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ในด้านต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการเผชิญหน้ากับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น ผ่านทางโครงการขององค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID)

พร้อมกันนี้ยังแสวงหาความร่วมมือ ผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนของไทยเข้ามาร่วมลงทุน เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศไทย ในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ แนวทางต่าง ๆ ในการพัฒนาความยั่งยืน สามารถช่วยพัฒนาให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้มหาศาล ด้วยการสร้างโอกาสสำหรับการสร้างงานใหม่และการแข่งขันในเชิงเศรษฐกิจ

 

Carbon Credit : Mechanism for Green Economy? 


 


 

      ดร. ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร และหัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า มุมมองที่บริษัทจดทะเบียนมีต่อเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่เคยมองเป็นเรื่องของการทำให้ต้นทุนสูงขึ้น มาสู่การตื่นตัวและเข้าใจว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องใส่ใจสิ่งแวดล้อมและสังคมมากขึ้น

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำงานในเรื่องการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เอื้อต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน การวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจก (Carbon Footprint) และคาร์บอนเครดิต มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การทำคู่มือเพื่อให้บริษัทจดทะเบียนนำไปใช้อ้างอิงเปรียบเทียบ นำไปปรับใช้กับพนักงานหรือชุมชน ตลอดจนจัดอบรมให้ความรู้ ให้คำแนะนำ ทั้งบริษัทที่เพิ่งจะเริ่มสนใจ อยากรู้ว่ากิจการหรือสินค้าปล่อยคาร์บอนมากแค่ไหน ไปจนถึงบริษัทขนาดใหญ่ที่ต้องการพัฒนามาตรฐาน เพื่อเข้าสู่การประเมินดัชนีชี้วัดความยั่งยืนในระดับสากล


 

     วีรวิชญ์ เธียรชัยนันท์ ผู้อำนวยการ โครงการแม่โขงเพื่ออนาคต องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) มองว่า กฎเกณฑ์ในการทำงานของโลกเปลี่ยนไป มีมาตรฐานใหม่ขึ้นมาที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เรื่องคาร์บอนเครดิต ที่ต้องวัดได้ตรวจสอบได้ ซึ่งถ้าเราสามารถเรียนรู้ได้ก่อน เริ่มได้เร็วก็จะได้เปรียบ เข้าไปเสริมในการทำธุรกิจ ประเทศไทยเราสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในเรื่องนี้ได้ เพราะเรามีพื้นฐานด้านเกษตรกรรม สามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ และถ้ามีความเชี่ยวชาญก็จะทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมช่วยกันพัฒนาได้

 

     Ingo Puhl Co- Founder and Managing Director Southeast Asia, South Pole Group (Thailand) Co., Ltd.  กล่าวว่า South Pole เป็นภาคเอกชนที่ให้คำปรึกษากับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ในการดำเนินกิจกรรม ตลอดจนการใช้เทคโนโลยี เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ จัดการกับสภาวะภูมิอากาศโลก เพื่อพัฒนาโครงการชดเชยคาร์บอน (Carbon Neutral Program) ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการทำงานด้านคาร์บอนเครดิต กฎระเบียบต่าง ๆ ของภาครัฐล้วนมีส่วนช่วยสนับสนุน โดยโครงการที่ South Pole ได้ร่วมมือกับหน่วยงานในประเทศไทยที่นับเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ การลงทุนในการดักจับก๊าซชีวภาพในอุตสาหกรรมการเกษตร และรถเมล์ไฟฟ้า

สำหรับในอนาคต สิ่งที่ควรผลักดันให้เกิดขึ้นในประเทศไทยคือ การเสริมสร้างและพัฒนาตลาดคาร์บอนในประเทศไทย สร้างมูลค่าให้กับการลดปริมาณคาร์บอน และคาร์บอนเครดิต ให้กลายเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลทางการเงิน สามารถซื้อขาย ใช้เป็นหลักประกันทางการเงิน และเป็นแนวทางที่ตอบโจทย์ ที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (NDC: Nationally Determined Contributions) ได้

 

     Kavya Bajaj Government Relations Manager, Market Development and Partnerships The Gold Standard Foundation กล่าวว่า มูลนิธิ Gold Standard เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกําไรที่ทํางานด้านคาร์บอนเครดิตและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกแบบมีส่วนร่วม โดยเฉพาะในประเทศกําลังพัฒนา เพื่อให้ได้มาตรฐาน Gold Standard ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และทำให้การซื้อขายคาร์บอนเครดิตมึความโปร่งใสและยั่งยืน

โครงการลดก๊าซเรือนกระจกที่ได้มาตรฐาน Gold Standard มีความน่าเชื่อถือ สามารถบรรลุผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) สร้างผลลัพธ์ทางสังคม (Social Impact) ในวงกว้าง เกิดประโยชน์ให้แก่ชุมชนได้อย่างแท้จริง และยังเพิ่มมูลค่าให้กับคาร์บอนเครดิตที่ผ่านการรับรองจาก Gold Standard
 

     ปองทิพย์ เที่ยงบูรณธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินทางคาร์บอน (ที่ปรึกษา) ธนาคารโลก หุ้นส่วนผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เฮซ ฟรี กล่าวว่า เฮซ ฟรี เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมที่เริ่มต้นมาจากการวิจัยโครงการ “ประเทศไทยไร้หมอกควัน” ส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยปรับแปลี่ยนการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ลดการเผาที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ลดการใช้สารเคมี มาสู่การปลูกป่าวนเกษตร ปลูกไม้ผล ไม้โตเร็ว และไม้มีค่าแบบผสมผสาน สร้างรายได้ที่มั่นคงให้เกษตรกร พร้อมกับเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมลงทุนโดยจะได้รับคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากลเป็นการตอบแทน

เฮซ ฟรี ตั้งเป้าที่จะเปลี่ยนพื้นที่เผาไหม้ให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว 10,000 ไร่ ภายในปี 2027 ซึ่งจะช่วยเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนได้อย่างน้อย 10,000 ตันต่อปี และลดฝุ่น PM 2.5 ได้ 21 ตันต่อปี

_____

รับชมเสวนาย้อนหลังได้ที่ : 
https://fb.watch/qw1HI1L0sH/

 

ผู้เข้าชม  947