Climate care เรื่องโลกร้อนที่ต้องรู้และแคร์ :ในวันที่ทะเลเดือด เราได้รับผลกระทบอย่างไร

 


Climate care เรื่องโลกร้อนที่ต้องรู้และแคร์ :ในวันที่ทะเลเดือด เราได้รับผลกระทบอย่างไร 

     ปี 2024 นอกจากจะเป็นปีที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดใหม่ แต่นั้นยังไม่พอ !!! เพราะเมื่อภาวะโลกร้อนบวกกับปรากฏการณ์เอลนีโญ ยังทำให้น้ำทะเลและมหาสมุทรร้อนระอุ เข้าขั้นทะเลเดือด อุณหภูมิเฉลี่ยของน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นกว่าปีก่อนถึง 1 องศาสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัสของสหภาพยุโรป (the EU's Copernicus Climate Change Service) ออกมาให้ข้อมูลว่าเมื่อเดือนมีนาคม 2567 อุณหภูมิรายเดือนของน้ำทะเลพุ่งสูงแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 10 ที่ 21.07 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าสถิติ      ก่อนหน้าในเดือนสิงหาคม 2566 ที่วัดได้ 20.98 องศาเซลเซียส

     โดยมีสาเหตุมาจากการที่น้ำทะเลดูดซับความร้อนจากผิวโลก ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากักเก็บไว้จนมากเกินไป บวกกับการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญในช่วงที่ผ่านมา ยิ่งทำให้ น้ำทะเลร้อนขึ้นผิดปกติ และเกิดขึ้นต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน จนกลายเป็นคลื่นความร้อนในมหาสมุทร (Marine Heatwaves) ครอบคลุมพื้นที่เกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ของมหาสมุทรทั้งโลก ซ้ำเติมให้สถานการณ์  เลวร้ายลงแม้ดูเหมือนว่าการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิน้ำทะเลเพียงแค่เล็กน้อย ไม่น่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้ว กลับส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบนิเวศทางทะเล คลื่นความร้อน ในมหาสมุทรจะสร้างความเครียดให้กับสิ่งมีชีวิต อาจถึงขั้นทำให้สัตว์บางชนิดตายได้ เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว สภาพอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather) ฝนตกหนัก เกิดพายุรุนแรงมากกว่าปกติ กระทบกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั่วโลก

#มาดูกันว่าเมื่อทะเลเดือดจะเกิดอะไรขึ้น


 

- หญ้าทะเล จะได้รับความเสียหายจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความสามารถในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลง (ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง เช่น ป่าชายเลน หญ้าทะเล มีประสิทธิภาพในการกักเก็บคาร์บอนสูงกว่าป่าบกถึง 4 เท่า)

- เร่งให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายอย่างรวดเร็ว ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น และความเข้มข้นของน้ำทะเลลดลง กระทบต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในทะเล นอกจากนี้ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นอาจทำให้มีตะกอนเพิ่มมากขึ้นในแนวปะการังที่อยู่บริเวณชายฝั่ง  ซึ่งจะส่งผลให้ปะการังเสียหายถึงขั้นตายได้

- เกิดการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำในมหาสมุทร

- เกิดพายุไต้ฝุ่น เฮอร์ริเคน ระดับรุนแรงบ่อยครั้งขึ้น /สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ผลการศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications เมื่อปี 2023 ระบุว่าความเสียหายจากเหตุการณ์สภาพอากาศเลวร้ายสร้างความเสียหายราว 16 ล้านดอลลาร์ต่อชั่วโมง

- ความถี่ที่จะเกิดคลื่นความร้อนในทะเลมีมากขึ้น นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลอย่างรุนแรง

- ทะเลมีสภาพเป็นกรดทำให้สัตว์ทะเลหลายสายพันธุ์ เช่น กุ้ง หอย เม่นทะเล ปะการังไม่สามารถพัฒนาโครงสร้างเปลือกภายนอกให้สมบูรณ์แข็งแรงได้

- เกิดปะการังฟอกขาว ทำลายระบบนิเวศ ส่งผลต่อระบบห่วงโซอาหาร สัตว์น้ำชายฝั่งลดลง กระทบความมั่นคงทางอาหารและเศรษฐกิจการท่องเที่ยว / ปี 2024 เกิดปะการังฟองขาวครั้งใหญ่ ขยายวงกว้างไปใน 53 ประเทศทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก และกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ต่อสัปดาห์

- จะเกิดปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูมบ่อยครั้งขึ้น ซึ่งจะทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลง สิ่งที่ตามมาคือ สัตว์น้ำตายเพราะขาดออกซิเจน กระทบต่อการทำประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และหากมนุษย์รับประทานสัตว์น้ำที่ปนเปื้อนแพลงก์ตอนพิษบางชนิดเข้าไปก็จะเป็นอันตรายต่อร่างกาย

- สร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง สัตว์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น   ได้รับผลกระทบ นำมาสู่การอพยพย้ายถิ่นไปหากินในแหล่งอาหารอื่น นอกจากนี้อุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้นยังทำให้สิ่งมีชีวิตในทะเลที่อาศัยอยู่ในเขตเส้นศูนย์สูตรและอ่อนไหว ต่อสภาพแวดล้อมอพยพย้ายถิ่นไปยังเขตขั้วโลก ในขณะเดียวกันสัตว์ทะเลในเขตอบอุ่น ก็จะลดจำนวนลงด้วย

- กระทบกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั่วโลก




 


     ทะเลและมหาสมุทร เป็นตัวแปรที่สำคัญในการกำหนดสภาพภูมิอากาศของโลก และเป็นระบบนิเวศขนาดใหญ่ที่สุดของโลก การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อเนื่องมิใช่เพียงแค่สภาพอากาศ  ที่แปรปรวนสุดขั้ว หรือสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ยังกระทบ   กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และชีวิของคนทั่วโลก อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คงเป็นเรื่องยากที่จะลดอุณหภูมิ   ของน้ำทะเลให้กลับสู่ภาวะปกติ สิ่งที่ทำได้ตอนนี้ คือ ช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรง     และทางอ้อม เตรียมพร้อมรับมือและปรับตัวเพื่ออยู่กับภาวะโลกร้อนให้ได้ สิ่งเหล่านี้จะช่วยบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้น้อยลง 

 

#Climatecare #เรื่องโลกร้อนที่ต้องรู้และแคร์ 

___
Reference

National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) – https://www.noaa.gov/education/resource-collections/ocean-coasts-education-resources/ocean-acidification

https://marine.copernicus.eu/explainers/phenomena-threats/ocean-warming

https://bh-estore.com/blog/post/8-ways-to-stop-ocean-warming.html

https://phys.org/news/2023-11-global-marine-life-due-sea.html

 

 

ผู้เข้าชม  430