Climate care เรื่องโลกร้อนที่ต้องรู้และแคร์ : โลกร้อนกับมิติด้านเศรษฐกิจ
เมื่อก่อนอาจคิดว่าภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องไกลตัวมาก ๆ แต่ตอนนี้คงไม่ใช่แบบนั้นอีกแล้ว การที่ต้องเผชิญกับคลื่นความร้อน อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ทุกปี และยังมีภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก แถมยังรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ ที่ไม่อาจมองข้าม ได้อีกต่อไป
ปัจจุบันอุณหภูมิโลกที่ขยับเพิ่มขึ้นเพียงแค่ 1 องศาเซลเซียส ได้ทำให้เกิดผลกระทบต่าง ๆ มากมายไปทั่วโลก ในอนาคตหากว่าอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นเข้าขั้นวิกฤตที่ 1.5 องศาเซลเซียส ชีวิตความเป็นอยู่จะยิ่งยากลำบากมากขึ้นกว่านี้อีกหลายเท่า ประชากรโลกหลายพันล้านคนจะได้รับผลกระทบ บางพื้นที่ต้องเจอกับภาวะขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นรุนแรง และหลายแห่งจะประสบปัญหาผลผลิตทางการเกษตรและประมงลดลง ส่งผลไปถึง ความมั่นคงทางอาหาร และสร้างความเสียหายทางศรษฐกิจจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะทวีปเอเชีย ซึ่งมีอุณหภูมิร้อนขึ้นกว่าภูมิภาคอื่นจะได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติมากที่สุดในโลก ไทยซึ่งเป็นประเทศ ที่มีความเสี่ยงสูงติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ก็จะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน
#ผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ
ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีหลายด้านหนึ่งในนั้นคือ มิติด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจะเกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม ผลกระทบโดยตรงที่ต้องเผชิญ มาจากความเสียหาย ทางกายภาพที่จะเกิดขึ้นจากสภาพอากาศแปรปรวน เช่น พายุฝนรุนแรง น้ำท่วม ภัยแล้ง ปี 2023 ความเสียหายจากภัยธรรมชาติทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 380,000 ล้านเหรียญสหรัฐเฉพาะประเทศไทย ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ต้องเจอกับภัยธรรมชาติหนัก ๆ มากกว่า 140 ครั้ง มีประชาชนเสียชีวิต บ้านเรือนเสียหาย กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก สร้างความเสียต่อเศรษฐกิจ ไปแล้วเกือบแปดพันล้านดอลลาร์สหรัฐ ผลกระทบทางอ้อม คือ ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงักเนื่องจากสภาพอากาศเลวร้าย กระทบการผลิต การส่งออก ทำให้รายได้ลดลง
สำหรับไทย ซึ่งเป็นประเทศที่เปราะบาง ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูง จะได้รับผลกระทบเต็ม ๆ เพราะไมใช่แค่อากาศที่ร้อนขึ้นเท่านั้น แต่แนวโน้มที่ฝนจะตกน้อยลงก็มีมากขึ้น ในทางกลับกันแม้ฝนจะตกน้อยแต่ปริมาณน้ำฝนที่ตกในแต่ละครั้งจะเพิ่มขึ้น นั้นหมายความว่า ไทยต้องเผชิญกับภาวะภัยแล้งสลับกับปัญหาอุทกภัยมากขึ้นเช่นกัน ตัวอย่างภาคส่วนที่จะได้รับผลกระทบมาก คือ ภาคการเกษตร ที่อ่อนไหวกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง เพราะต้องพึ่งพาธรรมชาติและสภาพอากาศที่เหมาะสม ในการเพาะปลูก
อากาศที่แปรปรวนจะทำให้ผลผลิต ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง และยางพาราลดลง ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงการบริโภคภายในประเทศ ปริมาณการส่งออกที่ลดลง และอาจจะส่งผลให้ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมกลางน้ำและปลายน้ำที่ใช้สินค้าเกษตรเหล่านี้เป็นวัตถุดิบต้องเผชิญกับผลประกอบการที่ ผันผวนจากต้นทุนการผลิตและปริมาณวัตถุดิบที่มีความไม่แน่นอน คาดว่าจะสร้างความเสียหายปีละหลายหมื่นล้านบาท และฉุดให้เศรษฐกิจภาพรวมของประเทศถดถอย มีการประเมินว่า ถ้ายังไม่รีบลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเสียตั้งแต่ตอนนี้ ไม่ช้าเศรษฐกิจไทยอาจหดตัวรุนแรงถึง 43 เปอร์เซ็นต์ ตามอุณหภูมิ ที่เพิ่มขึ้น
#ผลกระทบต่อภาคธุรกิจ
ธุรกิจไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ต่างได้รับผลกระทบจาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงทางกายภาพ ที่สร้างความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นต้นทุนการผลิตที่สำคัญ จนนำไปสู่ผลผลิตที่ลดลง รวมถึงผลิตภาพของแรงงานอาจลดลงด้วยจากอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ภาคธุรกิจยังมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นจากนโยบาย กฎหมาย และข้อบังคับใหม่ๆ ที่ออกแบบมาเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ภาษีคาร์บอน ภาคธุรกิจจึงต้องปรับเปลี่ยนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับปัจจัยภายนอกที่เข้ามากระทบ ทั้งนี้หากบริษัทธุรกิจไม่ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบเหล่านี้ เสี่ยงถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในฐานะผู้ก่อมลพิษ ต้องเสียเงินเป็นค่าชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น และลดทอนความน่าเชื่อถือ
แต่อย่างไรก็ตามหากสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ ธุรกิจที่ปล่อย ก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ จะทำให้ต้นทุนในการดำเนินงานลดลง เช่น การเปลี่ยนจากพลังงานฟอสซิลมาเป็นพลังงานหมุนเวียน นอกจากนี้ยังช่วยสร้างโอกาสการเติบโตใหม่ ๆ ให้กับธุรกิจด้วย
#Climatecare #เรื่องโลกร้อนที่ต้องรู้และแคร์
___
Reference
https://www.pier.or.th/dp/188/
file:///C:/Users/ADMIN/Downloads/PIER.pdf
https://wmo.int/news/media-centre/climate-change-impacts-increase-asia
file:///C:/Users/ADMIN/Downloads/Global%20Climate%20Risk%20Index%202021_1.pdf
https://www.aon.com/en/insights/reports/climate-and-catastrophe-report
https://www.pier.or.th/pierspectives/002/