Climate care เรื่องโลกร้อนที่ต้องรู้และแคร์ : เส้นทางสู่ Net Zero Emission ของไทย
ทั่วโลกตระหนักดีว่า เหลือเวลาอีกไม่มากแล้วที่จะควบคุมอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส จะไปถึงจุดนั้นได้ต้องเพิ่มความท้าทายในการลดก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) ให้มากขึ้นกว่าเดิม อีกหลายเท่า ในการประชุมล่าสุดสมัชชาประเทศภาคีสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 28 ตกลงกันว่าโลกต้องเร่งรัดการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 43 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) เมื่อเทียบกับการปล่อยในปี พ.ศ. 2562 (ค.ศ. 2019) และต้องเพิ่มเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ ในอีก 5 ปีถัดมา รวมถึงตั้งเป้าเข้าสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ให้เร็วขึ้น โดยเปลี่ยนผ่านจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไปเป็นพลังงานสะอาด ปัจจุบันมีมากกว่า 145 ประเทศที่ให้คำมั่นจะบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emission ซึ่งรวมถึงประเทศที่ปล่อย ก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ของโลก อย่าง จีน สหรัฐอเมริก สหภาพยุโรป อินเดีย
แม้ไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียงแค่ 0.8 เปอร์เซ็นต์ของทั้งโลก ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อกับประเทศอื่น แต่กลายเป็นประเทศที่เปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศติดอันดับต้น ๆ ของโลกตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ทั้งอุณหภูมิที่เพิ่มสูง น้ำท่วม น้ำแล้ง การกัดเซาะชายฝั่ง ปะการังฟอกขาว ฯลฯ ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้น สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม กระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดูเหมือนว่าในอนาคตผลกระทบจะหนักข้อขึ้นเรื่อย ๆ ตามอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น สำหรับประเทศไทยเอง ในฐานะที่ได้รับผลกระทบเต็ม ๆ ในเรื่องนี้ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ออกมาแสดงจุดยืนและร่วมกับประชาคมโลกลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ในช่วงเริ่มต้น ตามแผนการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ (Nationally Appropriate Mitigation Action: NAMA) ไทยตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานลงให้ได้ 7 - 20 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2563 (เทียบกับการปล่อย GHG ปี พ.ศ. 2548) เมื่อลงมือทำจริงด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน สามารถลดได้ 56.54 ล้านตัน หรือ 15.40 เปอร์เซ็นต์ถือว่าเกินจากเป้าขั้นต่ำที่วางไว้ถึง 2 เท่า เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นจาก 10.9 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2554 เป็น 15.99 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2564
ขณะนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงของการลดก๊าซเรือนกระจกในระยะต่อไป ที่ตั้งเป้าจะลด GHG ในทุกภาคส่วนลงให้ได้ 30-40 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ 2030) หรือเท่ากับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่จะต้องลด 222.6 ล้านตัน เป็นการกำหนดเป้าหมายที่สูงขึ้นกว่าเดิม ซึ่งจะสำเร็จได้ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ว่า ต้องได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งด้านการเงิน การพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการเสริมสร้างศักยภาพนอกจากนี้ในระยะยาวไทยยังมุ่งหวังจะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2593(ค.ศ. 2050) และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้ตามมาในปี พ.ศ. 2608 (ค.ศ 2065)
จะไปถึงจุดนั้นได้ ประเทศไทยต้องทำอะไรบ้าง?
ไทยวางแผนที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกภาคส่วน ส่วนไหนปล่อยเยอะก็ลดเยอะ ครอบคลุมตั้งแต่ ภาคพลังงาน ขนส่ง เกษตรกรรม อุตสาหกรรม ขยะและของเสีย แนวทางหลักที่นำมาใช้มีตั้งแต่การเพิ่มสัดส่วนพื้นที่สีเขียวทุกประเภทให้มากขึ้น ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล เร่งพลักดันการใช้พลังสะอาด โดยเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ปรับการใช้พลังงานในภาคขนส่งจากเชื้อเพลิงฟอสซิสมาเป็นการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแทน ตลอดจนส่งเสริมการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการจัดการพลังานสมัยใหม่เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการลดปริมาณขยะนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ การปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดการน้ำเสียในภาคอุตสาหกรรมและเมือง ส่งเสริมการทำเกษตรลดโลกร้อน เช่น การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ลดการเผาในที่โล่ง เป็นต้น
พร้อมทั้งยังได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางสำคัญในการปรับตัวต่อ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน นอกจากนี้ยังเน้นการส่งเสริมเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ BCG Economy Model ที่เป็นการผสมผสานการพัฒนาด้านเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เข้าด้วยกัน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ที่คำนึงถึงเศรษฐกิจ สังคม ควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อมคงจะเร็วเกินไปที่จะประเมินว่าประเทศไทยเข้าใกล้ความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน หากแต่สิ่งที่ภาครัฐวางแผนจะทำ หรือที่กำลังทำอยู่ บวกกับความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคธุรกิจซึ่งมีศักยภาพและความพร้อมสูง ช่วยกันขับเคลื่อนเรื่องนี่อย่างจริงจัง “เป้าหมาย Net Zero Emission ของไทย ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้”
________
#Climatecare #เรื่องโลกร้อนที่ต้องรู้และแคร์
Reference
https://unfccc.int/sites/default/files/resource/Thailand%20NC4_22122022.pdf
https://www.climatecenterthailand.co/climate/451
https://www.mnre.go.th/krabi/th/news/detail/168752/