Climate care เรื่องโลกร้อนที่ต้องรู้และแคร์ : 3 เมืองต้นแบบลดก๊าซเรือนกระจก

Climate care เรื่องโลกร้อนที่ต้องรู้และแคร์ : 3 เมืองต้นแบบลดก๊าซเรือนกระจก

 

เนื่องจากประชากรโลกมากกว่าครึ่งอาศัยอยู่ในเขตเมือง มีการใช้พลังงานจำนวนมหาศาล จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเมืองทั่วโลกจึงปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในอนาคตยังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นกว่านี้อีกหลายเท่า เมืองยิ่งโต การบริโภคก็ยิ่งมาก การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ก็ยิ่งสูงขึ้นตามไปด้วย 

 

ท้ายที่สุดคนเมืองนั้นแหละที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เมืองใหญ่ทั่วโลกตระหนักดีถึงสิ่งที่กำลังจะตามมา จึงพยายาม  ทุกวิถีทางในการลด CO2 จากกิจกรรมต่าง ๆ ของเมือง มุ่งสู่การเป็น Net Zero City: เมืองแห่งอนาคตที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เช่นเดียวกับที่ นิวยอร์ก มาดริด และโคเปนเฮเกน มหานครต้นแบบในการลดก๊าซเรือนกระจกกำลังทำอยู่

นิวยอร์กกับแผนปฏิรูปสิ่งแวดล้อม Green New Deal : นิวยอร์กเป็นหนึ่งในมหานครขนาดใหญ่ของโลก มีคนอาศัยอยู่กว่า 20 ล้านคน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเมืองมากที่สุดมาจากการใช้พลังงานภายในอาคาร และแน่นอนถ้าจะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้จำนวนมาก ก็ต้องเริ่มต้นที่นี่ นิวยอร์ประกาศใช้แผนปฏิรูป Green New Deal ตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกของเมือง 30 เปอร์เซ็นต์ภายในปี พ.ศ. 2573    (ค.ศ 2030) มุ่งไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคารแต่ละประเภท เริ่มกันตั้งแต่อาคาร      ขนาดใหญ่ที่มีอยู่เดิมต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้ดีขึ้น เช่น ติดตั้งหน้าต่าง ฉนวนกัน     ความร้อน และอุปกรณ์ปรับปรุงอาคารอื่น ๆ ที่จำเป็น เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 40 เปอร์เซ็นต์        ในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ 2030) และเพิ่มเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ ในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) หากเจ้าของอาคารทำไม่ได้ตามเป้าจะต้องถูกปรับปีละ 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เฉพาะมาตรการนี้มาตรการเดียวจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในมหานครนิวยอร์กได้ถึง 10 เปอร์เซ็นต์

ส่วนตึกที่สร้างใหม่จะต้องวางระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดไว้ใช้เองภายในอาคาร เช่น ติดตั้งแผงโซลาเซลล์ ส่วนที่พักอาศัยขนาดเล็ก รัฐบาลท้องถิ่นก็จะออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ จูงใจให้เจ้าของนำเงินไปปรับปรุงระบบการใช้พลังงานภายในบ้านให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในระยะยาวจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับเจ้าของได้จำนวนมากจึงคุ้มค่ากับการลงทุน

มาดริด กำหนดพื้นที่ควบคุมก๊าซเรือนกระจก: กรุงมาดริด ประเทศสเปน ออกกฎหมายกำหนดให้พื้นที่ในเขตใจกลางเมือง 4.72 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นย่านการค้า ที่พักอาศัย และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเมือง เป็นพื้นที่ควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มาตรการหลัก ๆ ที่นำมาใช้ก็อย่างเช่น ห้ามนำรถยนต์ส่วนบุคคลที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเข้ามาในบริเวณนี้ อนุญาตเฉพาะรถโดยสารสาธารณะ รถขนส่งสินค้า รถยนต์ไฟฟ้า หรือรถยนต์ที่ติดป้าย EU ECO ที่แสดงว่าใช้เชื้อเพลิงไฮบริดหรือก๊าซธรรมชาติ และยานพาหนะของผู้ที่พักอาศัยในย่านนี้เท่านั้น มีการจำกัดความเร็วในการขับขี่ หากฝ่าฝืนมีโทษปรับ มาตรการนี้จะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจร ลดมลพิษในอากาศ เพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ที่สัญจรไปมา กระตุ้นให้คนอยากเดินและใช้จักรยานกันมากขึ้น ลดปัญหาที่จอดรถไม่เพียงพอ และที่สำคัญลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเมือง

โคเปนเฮเกน เมืองพลังงานสะอาด : กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ตั้งเป้าเป็นเมืองหลวงแห่งแรกของโลกที่บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี พ.ศ. 2568 (ปี 2025) และด้วยเป้าหมายที่ท้าท้ายขนาดนี้ โคเปนเฮเกนต้องวางระบบการใช้พลังงานของคนทั้งเมืองให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยการพัฒนา “ระบบกระจายความร้อน” (District Heating System) ที่นำไฟฟ้าเหลือใช้และความร้อนจากโรงไฟฟ้า     (ของเสียและชีวมวล) มาผลิตกระแสน้ำร้อน ส่งผ่านเครือข่ายท่อไปยังอาคารบ้านเรือนทั่วกรุงโคเปนเฮเกน เพื่อสร้างความอบอุ่นให้แก่ประชาชน ระบบนี้ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 40 – 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะเป็นการนำของเสียมาใช้ใหม่ และมีต้นทุนต่ำกว่าการใช้น้ำมันมาผลิตความร้อนถึง         49 เปอร์เซ็นต์

อีกระบบที่ถูกออกแบบมาโดยใช้หลักการเดียวกันนั้นก็คือ ระบบกระจายความเย็น (District Cooling System) ส่งผ่านกระแสน้ำเย็นที่ผลิตจากน้ำทะเล ผ่านระบบท่อไปให้ประชาชนใช้คลายร้อน ช่วยลดการใช้เครื่องปรับอากาศ ระบบ Cooling System นี้ ลด CO2 ได้ 70 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับการใช้เครื่องปรับอากาศทั่วไป และลดการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ทีเดียว

ภายในปี 2025 กรุงโคเปนเฮเกนจะเปลี่ยนไปใช้พลังานสะอาดทั้งหมด และจะมีการติดตั้งกังหันลมอีกนับร้อยเครื่องสำหรับผลิตไฟฟ้าให้ครอบคลุมความต้องการการใช้ไฟส่วนใหญ่ นอกจากนี้รัฐบาลท้องถิ่นยังใช้มาตรการทางการเงิน กระตุ้นให้ชาวเมืองร่วมลงทุนกับบริษัทผลิตพลังงานสะอาด

ในด้านการคมนาคมขนส่ง โคเปนเฮเกนยังส่งเสริมให้ประชาชนใช้จักรยาน พร้อมทั้งปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทุกรูปแบบรองรับการปั่นจักรยานที่สะดวกและปลอดภัยสำหรับชาวเมือง จนการปั่นจักรยานได้รับความนิยม กลายเป็นการสัญจรที่คนทั้งเมืองเลือกใช้ การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ทำให้นครหลวงของชาวเดนมาร์กได้รับการยกย่องว่า เมืองที่เป็นมิตรกับจักรยานมากที่สุดในโลก

นี่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งจากอีกหลายร้อยเมือง ที่พยายามใช้ทุกวิธีทางไม่ว่าจะเป็น การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี การกำหนดนโยบายที่จำเป็น มาตรการทางการเงิน และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการพัฒนาเมืองแห่งอนาคตที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก๊าซเรือนกระจกที่ลดลง ก็เท่ากับความสุข และคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในเมืองนั้นเอง

________
#Climatecare #เรื่องโลกร้อนที่ต้องรู้และแคร์ 

 

Reference

https://www.igdp.cn/wp-content/uploads/2021/02/2020-10-30-iGDP-Report-EN-Beyond-2%C2%B0C.pdf

https://www.icf.com/insights/environment/net-zero-carbon-cities-2050

https://carbonneutralcities.org/cities/copenhagen/

https://initiatives.weforum.org/net-zero-carbon-cities/home

ผู้เข้าชม  447