Climate care เรื่องโลกร้อนที่ต้องรู้และแคร์ : แนวทางรับมือภาวะโลกร้อน



 

Climate care เรื่องโลกร้อนที่ต้องรู้และแคร์ : แนวทางรับมือภาวะโลกร้อน 

เวลาที่เอ่ยถึงประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีคำอยู่สองคำที่ถูกพูดถึงอยู่เสมอ นั้นคือ คำว่า Mitigation กับ Adaptation ทั้งสองแม้จะเป็นวิธีการต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่มีรูปแบบและวิธีการปฏิบัติแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

 

 

     Mitigation คือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อรักษาระดับความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศให้อยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบบรรยากาศโลก ซึ่งจะช่วยกำจัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกิน จนนำไปสู่ภาวะโลกรวน การลดก๊าซเรือนกระจกมีอยู่ด้วยกัน 2 แนวทาง    หลัก ๆ อย่างแรกคือ การลดจากแหล่งกำเนิดทั้งทางตรงและทางอ้อม แนวทางที่สอง คือ การดูดซับก๊า:คาร์บอนไดออกไซด์ไว้ในแหล่งกักเก็บ (carbon sink) ตามธรรมชาติ ได้แก่ มหาสมุทร ป่าไม้ และในชั้นบรรยากาศ ปัจจุบันปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ถูกกักเก็บมากเกินไปในชั้นบรรยากาศและมหาสมุทรกำลังทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น และทำลายสมดุลระบบนิเวศใต้ท้องทะเล ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดในตอนนี้ก็คือการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในการดูดซับการลดก๊าซเรือนกระจกสามารถทำได้โดย 

ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล : เพราะเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่าง น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ เป็นแหล่งปล่อย CO2 มากที่สุด เปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนอย่าง พลังแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวมวลแทน รวมถึงพัฒนารูปแบบการคมนาคม ขนส่งที่ยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ระบบขนส่งสาธารณะที่ใช้พลังงานสะอาด และหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน : ใช้ไฟฟ้าอย่างคุ้มค่า เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากประหยัดพลังงานปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าและถอดปลั๊กเมื่อไม่ใช้งาน

ปรับรูปแบบการทำเกษตร : เกษตรบางประเภทปล่อยก๊าซมีเทนและไนตรัสออกไซด์ในปริมาณมาก เช่น การปลูกข้าว ปรับเปลี่ยนจากการทำนาแบบเดิม ๆ ที่ขังน้ำในแปลงนาเป็นเวลานาน มาเป็นการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดการเผาต่อซัง หันมาใช้การไถ่กลบแทน

ฟื้นฟูระบบนิเวศและเพิ่มพื้นที่สีเขียว : ลดการตัดไม้ทำลายป่า ปลูกป่าทดแทน เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น รวมถึงอนุรักษ์ระบบนิเวศที่เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่สำคัญอย่าง พื้นที่ชุมน้ำ ป่าพรุ ป่าชายเลน

ใช้ชีวิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม : ไม่กินทิ้งกินขว้าง ใช้สินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณขยะ นำขยะกลับมารีไซเคิล เป็นต้น

ใช้มาตรการทางกฎหมายและภาษี : อาทิ นโยบายซื้อขายคาร์บอนเครดิต การกำหนดภาษีคาร์บอน และให้เงินอุดหนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก  

สรุปง่าย ๆ ก็คือ Mitigation จะเกี่ยวข้องกับพฤติกรรม หรือ กิจกรรมที่เป็นต้นเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เมื่อก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศมีมากเกินไป จึงนำมาสู่ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้กิจกรรมและการดำเนินงานต่าง ๆ ที่นำไปสู่การลดก๊าซเรือนกระจกนั้นก็คือ ความหมาย  ของ Mitigation นั้นเอง

     ส่วน Adaptation หรือ การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นการตั้งรับ ปรับตัวเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด วิธีการที่นำมาใช้ มีตั้งแต่การปรับเปลี่ยนเชิงนโนบาย การปรับตัวโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ไปจนถึงการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต

# ตัวอย่างการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

ระบบแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า : ช่วยลดความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สิน เช่น ระบบตรวจวัดระดับน้ำแบบ real-time ช่วยให้ทราบสถานการณ์น้ำที่เป็นปัจจุบัน คาดการณ์ปริมาณน้ำล่วงหน้าได้ จึงทำให้ แจ้งเตือนภัยได้ทันท่วงที

การปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้พร้อมรับภัยพิบัติ: เช่น การปรับปรุงอาคารและสิ่งก่อสร้างให้ทนต่อพายุลมแรง การสำรองระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็นกรณีฉุกเฉิน  ขุดลองคูคลองป้องกันปัญหาน้ำท่วมและสำรองน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง

ปรับปรุงพันธุ์พืชและวิธีการเพาะปลูกให้เหมาะกับสภาพอากาศที่แปรปรวน อาทิ เลือกปลูกข้าวชนิดที่ทนแล้ง/ ทนน้ำท่วมขังได้ดี หันไปทำเกษตรผสมผสานเพื่อลดโอกาสเสี่ยงจากภาวะโลกร้อน

นอกจากนี้ต้องไม่ลืมที่จะสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน และภาคธุรกิจ เกี่ยวกับการปรับตัวต่ออันตราย และความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

การจัดการกับปัญหาโลกร้อนและผลทระทบที่เกิดขึ้นนั้น ต้องทำทั้งการลดก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวไปพร้อมกัน อาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนเป็นแรงขับเคลื่อน โดยเฉพาะภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่มีความพร้อม เพื่อให้ความพยายามในการลดก๊าซเรือนกระจกทำได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็ลดความเสี่ยง ลดผลกระทบ และสร้างภูมิคุ้มกันให้กลุ่มเปาะบาง และภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมไปพร้อมกัน

 

________
#Climatecare #เรื่องโลกร้อนที่ต้องรู้และแคร์ 

 

Reference

 

UNFCCC. 2014. Adaptation. http://unfccc.int/adaptation/items/4159.php

https://climatepromise.undp.org/news-and-stories/what-climate-change-mitigation-and-why-it-urgent

https://climatepromise.undp.org/news-and-stories/what-climate-change-adaptation-and-why-it-crucial

ผู้เข้าชม  583