Climate care เรื่องโลกร้อนที่ต้องรู้และแคร์ : พ.ร.บ. โลกร้อนเกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจอย่างไร
ไทยเป็นประเทศที่เปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งปัจจุบันกำลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ทั้งอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ภัยแล้งและน้ำท่วม เกิดขึ้นบ่อยครั้งและทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ สร้างความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน สิ่งแวดล้อม สั่นคลอนความมั่นคงในการดำเนินชีวิต และฉุดให้เศรษฐกิจของประเทศได้รับความเสียหาย คาดว่าผลกระทบ จะรุนแรงมากขึ้นในอนาคต รัฐบาลมีความพยายามลดก๊าซเรือนกระจกต้นเหตุของภาวะโลกร้อนร่วมกับนานาประเทศ โดยเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงปารีส ตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งยังได้แสดงเจตจำนงที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางคาร์บอนในปี 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้ในปี 2065 เพื่อจำกัดไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียล หนึ่งในมาตรการที่ภาครัฐกำลังจะนำมาใช้ เพื่อให้ไทยพร้อมรับมือกับความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก คือ การยกร่าง “พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” หรือ “กฎหมายโลกร้อน” ผลักดันให้ภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรม ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากต้องมีส่วนรับผิดชอบกับมลพิษที่ก่อขึ้น ก่อนที่จะไปสำรวจว่า กฎหมายโลกร้อน ส่งผลอย่างไรกับภาคธุรกิจ มาทำความรู้จักกับกฎหมายฉบับนี้กันก่อน
#พ.ร.บ. โลกร้อน สำคัญอย่างไร
ภายใน พ.ร.บ. โลกร้อน ฉบับนี้ ประกอบไปด้วย 14 หมวด ที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจโดยตรง มีอยู่ด้วยกัน 5 หมวด ได้แก่
เมื่อ พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีผลบังคับใช้จะส่งผลดีต่อภาพรวมในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และสามารถทำให้ไทยบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าภาคอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ได้แก่ พลังงาน ขนส่ง ซีเมนต์ เหล็ก อะลูมิเนียม ปุ๋ย จะได้รับผลโดยตรงจากมาตรการตรวจวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ผลกระทบจากระบบซื้อขายสิทธิ์ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและระบบภาษีคาร์บอนที่จะบังคับใช้ในอนาคต ดังนั้นในช่วงเริ่มต้นภาคธุรกิจจึงต้องเตรียมพร้อมรับมือ และปรับตัวเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำให้ได้อย่างราบรื่น มาดูกันว่าธุรกิจต้องเตรียมการอย่างไร
ประการแรก ภาคธุรกิจต้องจัดทำรายงานข้อมูลก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะเป็นบรรทัดฐานใหม่ที่ต้องดำเนินการ ซึ่งต่างจากเดิมที่รัฐเปิดช่องให้รายงานตามความสมัครใจ ในส่วนนี้จะทำให้มีการค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่ในระยะยาวจะส่งผลเชิงบวกต่อภาคธุรกิจ
ประการที่สอง เมื่อรู้ว่าส่วนไหนของธุรกิจปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ต้องออกนโยบายและมาตรการ สีเขียว เพื่อลดและชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมกับบริษัท หากไม่ดำเนินการจะทำให้บริษัทมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากภาษีคาร์บอน ซึ่งในสหภาพยุโรปได้นำมาตรการเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) มาใช้แล้ว และอีกหลายประเทศก็กำลังนำมาตรการนี้มาใช้ ดังนั้นหากภาคธุรกิจสามารถปรับกระบวนการผลิตให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลง ก็จะลดต้นทุน และเพิ่มโอกาสในการแข่งขันได้มากขึ้น
ประการที่สาม หากสามารถลดและชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ดีในระดับหนึ่ง อาจขยับไปสู่การปรับตัวเพื่อสร้างธุรกิจให้ยั่งยืนมากขึ้น เช่น การลงทุนในเทคโนโลยีประหยัดพลังงาน เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนสีเขียว หรือขอรับการสนับสนุนจากกองทุนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่จะจัดตั้งขึ้นภายใต้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ การลงทุนในธุรกิจสีเขียวจะเป็นการต่อยอดและเปิดโอกาสใหม่ ๆ ให้กับธุรกิจ และสร้างรายได้เพิ่มให้กับองค์กรด้วย เช่น การนำก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้จากโครงการสีเขียวเข้าสู่ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต
หากมองอย่างผิวเผิน พ.ร.บ.โลกร้อน ดูเหมือนจะสร้างเงื่อนไขที่ยุ่งยากให้กับภาคธุรกิจ เพราะ เต็มไปด้วยมาตรการและเงื่อนไขที่กำหนดให้ต้องปฏิบัติตาม กระทบโดยตรงต่อต้นทุนในการดำเนินงาน แต่หากพิจารณาให้ถ่องแท้จะพบว่า แม้ในช่วงแรกของการปรับตัวเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจที่เป็นมิตร กับสิ่งแวดล้อมจะมีต้นทุนที่ต้องจ่าย แต่ในระยะยาวจะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายให้กับองค์กร ทั้งยังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้บริษัทได้เติบโตอย่างยั่งยืน ท่ามกลางมาตรการกีดกันทางการค้าที่จะเข้มข้นมากขึ้นในอนาคต
#Climatecare #เรื่องโลกร้อนที่ต้องรู้และแคร์