Climate care เรื่องโลกร้อนที่ต้องรู้และแคร์ : ทำความรู้จัก Thailand Taxonomy

 

Climate care เรื่องโลกร้อนที่ต้องรู้และแคร์ : ทำความรู้จัก Thailand Taxonomy 
 

        ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจในการดำเนินธุรกิจตามหลักความยั่งยืน ที่คำนึงถึงประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม และยึดหลักธรรมาภิบาลในการดำเนินกิจการ ซึ่งจะมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และทำให้โลกบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระสุทธิเป็นศูนย์ได้ หลายประเทศงัดมาตรการต่าง ๆ มาใช้เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากขึ้น หนึ่งในมาตการเริ่มต้นที่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย คือ การจำแนกประเภท และจัดหมวดหมู่ธุรกิจสีเขียว หรือ ที่เรียกว่า Taxonomy ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญสำหรับนำไปต่อยอดการดำเนินงานในอีกหลายด้าน  ที่จะหนุนในเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจก

 

 

          สำหรับประเทศไทยก็ได้พัฒนา Thailand Taxonomy หรือ มาตรฐานกลางสำหรับการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของไทยตามความสมัครใจ โดยอ้างอิงจากมาตรฐานสากล แต่ปรับให้สอดคล้องเหมาะสมกับบริบททางเศรษฐกิจและสังคมของไทย โดยยังยึดเป้าหมายการปล่อย    ก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2050 และควบคุมอุณหภูมิไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

Thailand Taxonomy แบ่งกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจออกเป็น 3 ระดับ ตามระดับความเป็นมิตร   กับสิ่งแวดล้อม

สีเขียว คือ กิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ธุรกิจขนส่งสินค้าที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้า

สีเหลือง คือ กิจกรรมที่สามารถพัฒนา ปรับปรุงให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น เช่น ธุรกิจที่  อยู่ระหว่างปรับตัวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

สีแดง คือ กิจกรรมที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน

นอกจากนี้ต้องเป็นกิจกรรมที่ไม่สร้างผลกระทบเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ และคำนึงถึงผลกระทบด้านสังคมไปพร้อมกัน

ในระยะแรกของการจัดทำ Thailand Taxonomy จะเริ่มจากภาคพลังงานและขนส่ง ซึ่งเป็นภาคส่วนที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันมากที่สุด ในอนาคตจะขยายขอบเขตให้ครอบคลุมธุรกิจกลุ่มอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ก่อสร้างและการจัดการของเสีย อ่านมาถึงตรงนี้คงเริ่มสงสัยแล้วใช่ไหมว่า ทำไมต้องให้ความสำคัญกับ Thailand Taxonomy แล้วองค์กรธุรกิจ หน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนสถาบันการเงินจะได้ประโยชน์อะไรจากมาตรฐานนี้

 

#ความสำคัญของ Thailand Taxonomy#

  1. ช่วยให้ธุรกิจ หน่วยงานกำกับดูแล และผู้กำหนดนโยบายในภาคส่วนต่าง ๆ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการความเสี่ยงและส่งเสริมการลงทุนเพื่อบรรลุเป้าหมายความยั่งยืน
  2. ช่วยให้การดำเนินงานด้านความยั่งยืนขององค์กรธุรกิจมีความโปร่งใสมากขึ้น จากการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้นักลงทุนมีข้อมูลด้านนี้ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และสามารถเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างบริษัทต่าง ๆ ได้
  3. เป็นเครื่องมือของภาครัฐในการจัดสรรเงินทุนไปยังโครงการสีเขียวให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน เกิดประโยชน์ในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)  ที่วัดผลได้ รวมถึงสามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero emission)
  4. สำหรับภาคการเงิน Thailand Taxonomy ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทางการเงินเพื่อความยั่งยืน เช่น ตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม (green bonds) สินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม (green loans) หลักทรัพย์ที่ออกโดยมีสินทรัพย์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นหลักประกัน
  5. Thailand Taxonomy จะช่วยดึงดูดเงินลงทุนที่ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากต่างประเทศ ตลอดจนสร้างความชัดเจนและกฎเกณฑ์ที่โปร่งใส เรื่องการลงทุนสีเขียว (Green finance) เพื่อหลีกเลี่ยงการกล่าวอ้างเกินจริงของธุรกิจในด้านการดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือในการขอสินเชื่อของธุรกิจไทยในตลาดโลก
  6. ทำให้นักลงทุนและหน่วยงานภาครัฐสามารถวัดระดับการลดก๊าซเรือนกระจกของภาคเศรษฐกิจและประสิทธิภาพของการลงทุนด้านการลด CO2 ของ ภาคส่วนต่าง ๆ ได้ง่าย อีกทั้งยังสามารถระบุ ข้อควรปรับปรุงได้เช่นกัน

แม้ว่า Thailand Taxonomy จะเป็นมาตรการตามความสมัครใจ แต่นับว่ามีความสำคัญ เพราะ จะเป็นมาตรฐานให้ภาคส่วนต่าง ๆ นำไปอ้างอิงเป็นแนวปฏิบัติ ใช้เป็นกลไกสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นเครื่องมือในการลดก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะภาคธุรกิจ อุตสหกรรมซึ่งจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ในด้านสินเชื่อและการลงทุน หากธุรกิจมีการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตร   กับสิ่งแวดล้อม ถึงเวลาแล้วที่ธุรกิจจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากขึ้นเพื่อโอกาสทางธุรกิจและการเติบโตสู่ความยั่งยืน

#Climatecare #เรื่องโลกร้อนที่ต้องรู้และแคร์\

______________________

Reference

https://www.bot.or.th/content/dam/bot/financial-innovation/sustainable-finance/green/Thailand_Taxonomy_Phase1_Jun2023_TH.pdf

https://www.bot.or.th/content/dam/bot/financial-innovation/sustainable-finance/green/Thailand_Taxonomy_Seminar_5Jul23-CBI_Slide.pdf

https://www.bangkokbiznews.com/blogs/finance/investment/1072368

https://www.sec.or.th/TH/Documents/LawsandRegulations/ResourceCenter/Usability_guide_Thailand_Taxonomy_TH.pdf

 

 

 

ผู้เข้าชม  509