ซีอีโอกองทุนบัวหลวงระบุ “กองทุนรวม คนไทยใจดี” ยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้น ต้องรอเวลาพิสูจน์บทบาทการลงทุนเพื่อสังคม
8 มิ.ย. ในเวที AVPN Conference 2017 ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนตัล ซึ่งเป็นงานรวมตัวของนักลงทุนทางสังคมทั่วโลกจาก 30 ประเทศ เพื่อร่วมเสนอมุมมองอันหลากหลายของนักลงทุนเพื่อสังคม โดยเฉพาะความเผชิญหน้าท้าทายที่สำคัญต่างๆ ของสังคมในเอเชีย
คุณพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและการลงทุน กองทุนบัวหลวง กล่าวถึงบทบาทการลงทุนเพื่อสังคมผ่าน “กองทุนรวม คนไทยใจดี” ว่า ภาคการเงินเมื่อ 20 ปีก่อน ต้องเจอวิกฤติการเงิน “ต้มยำกุ้ง” เราจะเอาตัวรอดได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่เมื่อ 20 ปีผ่านไป เศรษฐกิจบ้านเราเติบโตเข้มแข็งขึ้น แต่มองไปยังภาคสังคม กลับถูกละเลย เกิดความเหลื่อมล้ำในด้านต่างๆ มากมาย
เราในฐานะผู้ทำธุรกิจลงทุน อยู่ในวิชาชีพที่ต้องแสวงหาผลตอบแทนแก่ผู้ลงทุน เคยมองแต่ ROE ดูแต่ PE พิจารณา Valuation เริ่มเข้าใจแล้วว่านี่คือความเสี่ยง เพราะไม่ได้สนใจมิติสิ่งแวดล้อม สังคม หรือชุมชนเลย หากธุรกิจไม่ได้สนใจปัจจัยเหล่านี้เสียแล้ว ธุรกิจก็ไม่อาจยั่งยืนได้
เมื่อสัก 8 ปีก่อน เราเริ่มสนใจด้านธรรมาภิบาลของบริษัท สนใจมิติลงทุน ESG พร้อมทั้งเกิดกระแสโลกในด้านการลงทุนเพื่อลงทุน พร้อมกับเราเจอภาคีอย่าง “มูลนิธิเพื่อคนไทย” การลงทุนเพื่อสังคมของเราจึงเริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจัง นั่นคือ “กองทุนรวม คนไทยใจดี” แม้จะก่อตั้งมาสามปีแล้ว แต่ต้องถือว่ายังอยู่ในขั้นเริ่มต้น
“กองทุนรวม คนไทยใจดี” มีเป้าหมายสองประการ อย่างแรก แสวงหาผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นหรือในตลาดหลักทรัพย์ ของกิจการที่มี ESG และอย่างที่สอง นำค่าบริหารจัดการกองทุนฯสนับสนุนหรือบริจาคให้โครงการทางสังคมต่างๆ ซึ่งเป็นการลงทุนเพื่อสังคม เพื่อให้เกิด social return
ตลอดสามปีที่ผ่านมา เราได้สนับสนุนโครงการเพื่อสังคมไปกว่า 36 โครงการ เป็นเงินกว่า 30 ล้านบาท อย่างเช่นโครงการคนลำสนธิไม่ทอดทิ้งกัน ซึ่งรับเงินสนับสนุนสองรอบแล้ว โดยรอบแรกใช้เพื่อสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง สามารถดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายหรือผู้ป่วยติดเตียงใน อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี นั่นคือช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตอนนั้น แต่ในปีที่สองจะช่วยสนับสนุนสร้างเนิร์สซิ่งโฮม รวมทั้งสร้างศูนย์การเรียนรู้ เพื่อต่อยอดงานจาก อ.ลำสนธิไปยังพื้นที่อื่นๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย
อย่างไรก็ตาม อุปสรรคที่เราจ้องเจอก็คือ ผู้ลงทุนในกองทุนรวมคนไทยใจดีก็หวังผลตอบแทนจากหน่วยลงทุน แต่จังหวะเวลาจัดตั้งกองทุนฯไม่ค่อยดีนัก ในปี 2015 ตลาดหุ้นร่วงหนักถึง 30% เมื่อผลตอบแทนมิได้เป็นไปตามคาดหวัง ทั้งที่เมื่อเทียบกับผลตอบแทนของตลาดหลักทรัพย์ฯแล้ว ก็ไม่ได้แย่กว่าเลย นักลงทุนจึงไถ่ถอนเงินลงทุน ทำให้เงินลงทุนเพื่อสังคมของเราลดน้อยลงด้วย
“นักลงทุนไทยยังมองผลตอบแทนในช่วงสั้นๆ เพียง 1-2 ปี แต่ทางกองทุนบัวหลวงมุ่งลงทุนในระยะยาว นั่นคือเป็น 10 ปี ดังนั้นการลงทุนในกิจการ ESG หรือการลงทุนเพื่อสังคมในเมืองไทย ยังคงต้องใช้เวลาที่จะพิสูจน์”